จ่อเรียกเซเลบ-ยูทูบเบอร์ โพสต์ชวนพนันออนไลน์!

บช.สอท.ประเดิมเรียก 4 อินฟลูเอนเซอร์แจ้งข้อหาโพสต์ชักชวนเล่นการพนันออนไลน์ “ออย รอยจูบ” บอกไม่รู้แค่เป็นการทำมาหากิน จ่อเรียกคนดัง-เซเลบอีก 30 รายที่เข้าข่าย เตรียมหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องขยับโทษไปถึงยึดทรัพย์ ปอท.ชี้โจรออนไลน์หลอกขายสินค้าหรือบริการมากสุด แต่หลอกลงทุนทำเสียหายหนักสุด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.2566 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ออกหมายเรียกอินฟลูเอนเซอร์มาแจ้งข้อกล่าวหา 4 ราย ประกอบด้วย นายนิพนธ์ หรือปอน ศิลปินเจ้าของเพลงดังที่มียอดวิวในยูทูบกว่า 129 ล้านวิว, น.ส.จิรนันท์ หรือปู แฟนปอน นิพนธ์ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กกว่า 4 แสนคน และยังมียอดวิวติดตามการคัฟเวอร์เพลงหลายล้านวิว, น.ส.ปภาวี หรือออย รอยจูบ และ น.ส.ลฎาภา หรือเชอรี่ สามโคก สองเซ็กซี่สตาร์สาวชื่อดัง   มาแจ้งข้อกล่าวหาใช้ช่องทางส่วนตัวโพสต์ LINE @ ไปยังเว็บการพนันต่างๆ  เพื่อแลกกับรายได้ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478

พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า บช.สอท.ได้เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่พบว่าเริ่มมีการใช้ช่องทางของตนเองในการโฆษณาเว็บไซต์การพนัน โดยจะมีการชักชวนให้มีการเล่นด้วยกัน ทิ้งไลน์ไอดีแอดเอาไว้ตามโพสต์ต่างๆ ซึ่งไลน์แอดดังกล่าวนำไปสู่การสมัครเข้าร่วมเว็บไซต์การพนัน สร้างความเสียหายให้กลุ่มบุคคลที่เข้าไปเล่นการพนันจำนวนมาก วันนี้ถือเป็นกลุ่มแรกที่เรียกมาแจ้งข้อหา ซึ่งพฤติกรรมจะมีการใช้ช่องทางส่วนตัวในการโพสต์ไลน์แอดไปยังเว็บการพนันต่างๆ เพื่อแลกกับรายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000-150,000 บาท ต่อการโพสต์รวมทั้งสิ้น 30 โพสต์ จากการสอบถามเบื้องต้น ทั้งหมดให้การว่าทำไปด้วยความไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยทำไปเพราะเห็นว่าได้เงินจำนวนมาก และต้องการนำเงินไปหาเลี้ยงชีพ

“นอกจากกลุ่มนี้ตำรวจไซเบอร์ยังจับตามองกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงอีก 20-30 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการทำความผิดในลักษณะเดียวกัน โดยจะทยอยเรียกเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจสร้างปัญหาให้กับกลุ่มเยาวชนที่ติดตามกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน และอาจถลำลึกจนถึงขั้นเปิดกิจการเว็บพนัน เพราะต้องการนำเงินมาใช้หนี้พนัน ตามข้อเท็จจริงที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้” พล.ต.ต.อำนาจกล่าว

พล.ต.ต.อำนาจกล่าวอีกว่า ในส่วนของโทษของการกระทำความผิดในลักษณะนี้ อยู่ในระดับศาลแขวง มีโทษอยู่ที่จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเรื่องของการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดลักษณะการสนับสนุนให้มีการเล่นการพนัน ซึ่งต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะสามารถดำเนินการเพิ่มโทษหรือยึดทรัพย์ที่เป็นรายได้จากการกระทำความผิดในลักษณะการรับจ้างได้หรือไม่ ส่วนของเว็บพนันต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างการขยายผลในการเอาผิดกับเว็บไซต์ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดยจะนำคำให้การของกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 ในวันนี้ประกอบกับหลักฐานการรับโอนเงินต่าง ๆ มาใช้ในการขยายผล

ด้าน น.ส.ปภาวีกล่าวว่า ไม่รู้ว่าการกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นความผิด ที่ทำไปเพราะต้องการหาเงินเลี้ยงชีพตามปกติ โดยได้ค่าจ้างในการโพสต์อยู่ที่ 4,500 บาทต่อ 10 โพสต์ มีคนติดต่อมาทางไลน์ให้มาทำการแปะลิงก์โฆษณาจากการโพสต์ต่างๆ ของตนเอง โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินจะต้องโพสต์ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีการตกลงกันก่อน แล้วผู้จ้างจะทำการโอนเงินทั้งหมดมาให้ จึงอยากขอเตือนเยาวชนและประชาชนทั่วไปอย่าได้เข้ามาทำการแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งก็เพิ่งรู้

นายนิพนธ์ระบุว่า ส่วนตัวรับโพสต์โฆษณากับแฟนสาวโดยได้รายได้คนละ 50,000 บาทต่อเดือน เพื่อโพสต์จำนวนรวมทั้งสองคนที่ 30 โพสต์ โดยทำมาแล้วทั้งสิ้นประมาณ 3-4 เดือน ที่ทำเพราะต้องการหาเงินมาเลี้ยงชีพตามปกติ และไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนการติดต่อมาของผู้จ้างงาน ก็มาในลักษณะเดียวกันกับของออย คือจะทักผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ส่งลิงก์ที่ต้องการให้โฆษณามาให้ และตกลงกันตามเงื่อนไขจำนวนโพสต์ และให้ทำการโพสต์ก่อนจ่ายเงิน

ทั้งนี้ เบื้องต้นตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา และทำการปล่อยตัวทั้ง 4 คนกลับไป และมีการนัดหมายกันที่ศาลแขวงจังหวัดนนทบุรีอีกครั้ง ในวันที่ 17 ก.ค.66  เวลา 10.00 น. เพื่อทำการส่งฟ้องตามขั้นตอนต่อไป

วันเดียวกัน พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปดูดเงินเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงวิธีการของโจรออนไลน์ ที่จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ เพื่อหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์และทำการดูดเงินในบัญชี โดยใช้อุบายดังต่อไปนี้ 1.หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน และการไฟฟ้า/การประปา โดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเอกสารราชการปลอม และพูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คล้ายกับของจริง 2.หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สายการบิน และ บริษัทขายอุปกรณ์ไอทีชื่อดัง โดยอ้างอุบายที่ดึงดูดความสนใจ อาทิ ได้รับตั๋วเครื่องบินฟรี เป็นผู้โชคดีได้ของขวัญ/ของรางวัล และ 3.หลอกให้เกิดความสงสัย โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความในเชิงหาเรื่องทำให้เกิดความสงสัย กระวนกระวายใจ เช่น เธอทำแบบนี้กับเราได้อย่างไร และไม่รู้ตัวเหรอว่ามีคลิปหลุด

“ขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างมีสติ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ โดยสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และเพจเฟซบุ๊กเตือนภัยออนไลน์ ปรึกษา-ขอคำแนะนำได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 08-1866-3000 หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com” พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณระบุ

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 28 มิ.ย.2566 พบว่าสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่  1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 108,383 ครั้ง 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 38,669 ครั้ง 3.หลอกให้กู้เงิน 35,121 ครั้ง 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 23,545 ครั้ง และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) 21,482 ครั้ง โดยรูปแบบคดีออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดคือหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 11,500 ล้านบาท

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า วิธีการเบื้องต้นในการป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ คือ 1.วิธีการที่อาจสุดโต่ง แต่ได้ผลมากที่สุด 3.เงินที่อยู่ในบัญชีของเรา ตราบใดก็ยังคงเป็นเงินของเรา จนกว่าเราจะโอนให้บุคคลอื่น 4.ลิงก์บนเว็บไซต์ หรือลิงก์ที่ส่งข้อความมาให้ต้องระมัดระวัง และตรวจสอบก่อนที่จะกดลิงก์หรือติดตั้งแอปพลิเคชันทุกครั้ง 5.การชักชวนลงทุน หรือการชักชวนไปสัมมนาออนไลน์ ในลักษณะอ้างเป็นไลฟ์โค้ช อาจารย์ กูรู ให้พึงระมัดระวังและตรวจสอบ และ 6.อย่าเชื่อข่าวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง