กกต.ย้ำหุ้นพิธารอดู‘เจตนา’

เลขาฯ กกต.ตอบคำถาม “พิธา” ถูกสอบ ม.151 ปมถือหุ้นสื่อ ระบุ ยังพิจารณาไม่เสร็จ ต้องรอคำวินิจฉัยศาล รธน.เพื่อดูเจตนา “ปกรณ์” ยินดีรับกระสุน-รถทัวร์ “ทนายอั๋น” จี้ยุติสอบหัวหน้าก้าวไกลทุกคดี

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) โดยนักศึกษา พตส. รุ่นที่ 13 (พตส.13) จัดอภิปรายหัวข้อ กกต.มีไว้ทำไม โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ   กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า คำถามว่า กกต.มีไว้ทำไมนั้นได้ฟังมาตั้งแต่ปี 62 เข้าใจว่าเป็นคำถามที่ไม่ใช่ต้องการคำตอบว่า  กกต.ทำอะไรบ้าง แต่เป็นคำถามที่แสดงความรู้สึกผิดหวัง ไม่ชอบใจ กกต. ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีเวทีอธิบาย อย่างไรก็ตาม เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าส่วนตัวรู้สึกพอใจระดับหนึ่ง แม้จะมีปัญหาระหว่างทางเกิดขึ้นบ้าง ดูจากการมาใช้สิทธิของประชาชนที่ถือว่ามีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 75 ถือว่ามากกว่าบางประเทศด้วยซ้ำ

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ตนเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนแรกที่จะมีหน้าที่พิจารณาเสนอให้ยุบพรรค ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ คนร้องยุบพรรคมา 135 เรื่อง ยกคำร้องไป 111 เรื่อง พรรคที่ 1 ยกไป 40 เรื่อง พรรคที่ 2 ยกมา 19 เรื่อง นี่คือความยุติธรรม เราทำตามหลักกฎหมาย แต่ฝ่ายการเมืองเอาไปพูดว่า จะมีการยุบพรรคเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะเราพิจารณาตามกฎหมายและข้อเท็จจริง

ขณะที่ในช่วงท้าย นักศึกษา พตส.ได้ถามนายแสวงในประเด็นการทำงานของ กกต. ว่ามีการรังแกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทั้งที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยนายแสวงกล่าวว่า อันดับแรก ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่างที่สองคือ การเลือกตั้งคือความชอบธรรมที่จะมาบริหารประเทศ แต่ไม่ได้บอกว่าคนเลือกตั้งจะไม่มีความผิด หรือทำอะไรก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ได้บอกว่าคนชนะเลือกตั้งจะทำอะไรก็ได้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

เขายังกล่าวว่า กรณีการถือหุ้นสื่อที่เป็นลักษณะต้องห้ามมี 2 องค์ประกอบคือการเป็นเจ้าของ หรือการเป็นผู้ถือหุ้น แล้วเป็นสื่อมวลชนประเภทใด คนตัดสินก่อนเลือกตั้งคือศาลฎีกา หลังการเลือกตั้งคือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน กกต.ไม่ใช่คนตัดสินเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เป็นเรื่องประจำตัว ที่มีเอกสารยืนยันอยู่แล้ว

เลขาธิการ กกต.อธิบายว่า สำหรับแนวทางการปรับข้อเท็จจริงที่ใช้วินิจฉัยเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ว่า 1.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น 2.เป็นกิจการหนังสือหรือสื่อมวลชนใด 3.คือประกอบกิจการหรือไม่ และ 4.คือเลิกกิจการไปแล้วหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูข้อเท็จจริงที่ผ่านมาเราจะเห็นข้อเท็จจริง 3 ประการคือ ลักษณะแรกตรงตามตัวหนังสือ คือเป็นผู้ถือหุ้นสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 เรื่อง

นายแสวงกล่าวอีกว่า แต่พอมาเรื่องลักษณะข้อเท็จจริงที่ 2 คือไม่ได้เป็นสื่อ แต่ในหนังสือบริคณห์สนธิเขียนว่ามีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะฟังและวินิจฉัยว่าเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 เรื่องหรือไม่ ซึ่งศาลให้ไปดูที่การประกอบกิจการว่า บริษัทนี้ถึงวางเสาไฟฟ้า ขายของ แต่มีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ ก็จะดูเพื่อให้รู้ว่ามีรายได้จากสื่อ แล้วศาลไม่ได้ระบุว่าหรือไม่เป็นช่วงของการรับสมัครหรือไม่ แต่จะดูแค่ว่าประกอบกิจการหรือไม่ มีรายได้จากสื่อหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่มีลักษณะข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ ถ้าไม่เคยประกอบกิจการสื่อเลย ศาลก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อ ลักษณะอย่างนี้เป็นเกือบ 100 เรื่อง ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งศาลยกคำร้อง

“กกต.จึงนำแนววินิจฉัยนี้มาใช้ว่า ไม่ประกอบกิจการสื่อเลยนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ไม่เคยมีรายได้จากตรงนี้เลย คือบริษัทไม่ได้ตั้งใจคำเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แต่หนังสือบริคณห์สนธิมีวัตถุประสงค์ว่าทำสื่อ มาลักษณะข้อเท็จจริงประการที่ 3 เป็นสื่อ ประกอบกิจการหรือไม่ ก็พบว่าตั้งแต่ต้น แต่ว่าหยุด ไม่ดำเนินการเพราะมีข้อพิพาทให้หยุด แต่ยังไม่เลิกกิจการ ดังนั้นข้อเท็จจริงจะต่างกันอยู่ 3 อย่างจากเคยก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่เคยมีแนววินิจฉัยมาก่อน แต่เมื่อมีปัญหา กกต.ใช่ไม่ใช่คนวินิจฉัย กกต.เป็นคนส่งเรื่อง” นายแสวงระบุ

 นายแสวงกล่าวด้วยว่า ถ้าถามว่าทำไม กกต.ตรวจไม่เจอ ต้องขอชี้แจงว่า กกต.จะมีการขอข้อมูลด้านต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 26 หน่วยงาน เมื่อส่งมาว่าไม่พบข้อมูล กกต.จะไม่ทราบ กฎหมายจึงมีการเขียนไว้ด้วยว่า รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีสิทธิก็ยังไปสมัคร บางครั้งกฎหมายเขียนให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับรองตัวเองด้วย ดังนั้น เมื่อหน่วยงานที่ตรวจสอบแจ้งมาว่าไม่มีรายการตามนี้ ไม่ว่าจะปี 62 และ 66 แต่มีคนมาร้อง กกต.ก็ดำเนินการตามกระบวนการ พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ต่างกันอยู่ 3 ข้อดังกล่าว แล้วยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีใครมาแทรกแซงได้ เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้ว            

เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงกรณีนายพิธาฝากคำถามมายัง กกต. กรณีตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีอาญา มาตรา 151 ว่า สำนวนคำร้องดังกล่าวมีกระบวนการพิจารณาเรื่องมาตรา 151 ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ และเรื่องนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ต้องรอพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร โดยเฉพาะจะต้องดูที่เจตนา หากไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด จะต้องพิสูจน์เจตนา เนื่องจากเป็นคดีอาญา คำร้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนอยู่ หากเข้าข่ายการให้คุณให้โทษ จะต้องมีการเชิญมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แตกต่างจากเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล และปรากฏในเอกสารราชการอยู่แล้ว โดยกระบวนการทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณา

นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. ที่มาร่วมฟังการอภิปราย ได้ร่วมชี้แจงเสริมว่า  ต้องยืนยันหลักฐานแน่ชัดว่าในปี 62 ไม่มีการแจ้งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าถือหุ้น อันนี้คือประเด็นที่ต้องพิจารณาว่านายพิธาถือหุ้นในฐานะอะไร เช่นเดียวกับอดีต สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ได้ตรวจหลักฐานจากศาลจังหวัดชลบุรีไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด เหตุเกิดเมื่อปี 42 ทะเบียนประวัติมีปี 43 เป็นปีที่ตั้งศาลพัทยา จึงได้สอบถามไปศาลพัทยาเพื่อความถูกต้อง ซึ่งตอบกลับมาว่าไม่มี กกต.มีหลักฐานทุกอย่าง ทำตามกฎหมายทุกอย่าง เมื่อไม่มี กกต.ต้องประกาศรับรองไป แต่ภายหลังปรากฏ กกต.ก็ดำเนินการตามกฎหมายทันที

    นายปกรณ์ระบุว่า นี่คืออยากจะชี้ให้เห็นว่าเรายินดีรับกระสุน เรายินดีเตรียมน้ำไว้สำหรับรถทัวร์ และอีกอย่างที่อยากจะชี้แจงคือ กรณีที่จังหวัดนครนายก แม้ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าไม่มีอำนาจครอบงำสื่อ จากการที่ถือหุ้นเพียง 400 หุ้น เป็นดุลยพินิจ ถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญไม่กำหนดเรื่องครอบงำไว้ จะไปกำหนดภายหลังในเรื่องการมีส่วนได้เสีย ถ้ากฎหมายกำหนดเรื่องครอบงำไว้ เราจะวินิจฉัยง่าย แต่ความที่ กกต.ให้ความเคารพและยอมรับศาลฎีกา เมื่อท่านถือว่าต้องครอบงำ เราก็เคารพ แต่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กร เคยวินิจฉัยว่าถือหุ้นเพียง 1 หุ้นก็ผิด นี่คือสิ่งที่เป็นความขัดกันของ 2 ศาล

วันเดียวกัน นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้มีมติยุติการดำเนินการสอบสวนกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการไต่สวนกรณีนายพิธารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงมติรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ที่ กกต.เป็นผู้ตั้งขึ้นเอง ได้มีการสรุปผลการสอบสวนแล้วว่าเห็นควรยกคำร้อง กกต.ก็ไม่ควรแถบอกว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง ยิ่งต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่ควรที่จะปัดตกเรื่องดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง