แจกเงินดิจิทัล ใช้งบ5หมื่นล. ธปท.ปรับจีดีพี

สำนักงบฯ ชงนายกฯ ไฟเขียวเงินใช้ไปพลางก่อน 1.5 ล้านล้านบาท รับมืองบปี 67 ล่าช้า 8 เดือน แนะทำงบขาดดุลเพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน ทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น “แบงก์ชาติ” เคาะ ก.ย. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23  สิงหาคม นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงบประมาณได้ขออนุมัติระเบียบใช้งบประมาณไปพลางก่อน วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติแล้วโดยไม่ต้องเข้า ครม.   เพราะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี คาดว่าภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า  ระเบียบดังกล่าวจะประกาศออกมา  และส่งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการต่างๆ ซึ่งส่วนราชการก็จะทำแผนกลับมายังสำนักงบประมาณภายใน 15 ก.ย. 2566 และสำนักงบประมาณจะอนุมัติก่อนวันที่ 1 ต.ค.2566 เพื่อให้ใช้ทันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่จะล่าช้าออกไป 8 เดือน หรือจนถึงเดือน พ.ค. 67 จากเดิมที่คาดว่างบประมาณ 67 จะล่าช้า อย่างไรก็ตาม หากการจัดทำงบประมาณเสร็จเร็ว สามารถยกเลิกการใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้ทันที

ส่วนปฏิทินร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม.ชุดใหม่นัดแรกหรือนัดที่สอง

เมื่อถามว่า ห่วงเรื่องอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า คงต้องทำตามนโยบายที่กำหนดมาให้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการชี้แจงให้รัฐบาลใหม่ได้ทราบว่างบประมาณมีจำนวนเท่าใด

เมื่อถามถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท 5.6 แสนล้านบาท จะจัดสรรเงินมาจากไหนได้บ้าง นายเฉลิมพลกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่ที่สามารถตอบได้คือข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปรับลดงบประมาณบางเรื่องลงเพื่อมาทำตามนโยบายเงินดิจิทัลฯ ให้ได้ส่วนหนึ่ง และอาจจะต้องเสนอว่าต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณได้บ้างหรือไม่ โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การกู้ ส่วนจะกู้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้ ถ้าจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็กู้น้อยลง หรือเครื่องมืออื่น ทางสำนักงบประมาณต้องหารือกับกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท สามารถเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า ต้องประเมินจากการจัดเก็บรายได้จริงว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งอยากจะขอเพิ่มไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถ้าได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง

"หากปี 67 จัดงบประมาณขาดดุลเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท จากเดิม 5.93 แสนล้านบาท เป็นขาดดุลงบประมาณ 6.43 แสนล้านบาท แต่ก็ยังขาดดุลน้อยกว่าในปีงบประมาณ 2566 ที่ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท" ผอ.สำนักงบประมาณระบุ

วันเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Laying the Foundations for a Sustainable Recovery” ในงาน Thailand Focus 2023 : The New Horizon ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ถือว่าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้ในบางช่วงข้อมูลเศรษฐกิจบางด้านจะออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด แต่การฟื้นตัวหลักๆ มาจากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ซึ่ง ธปท.จะควบคุมให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ส่งผลให้โจทย์ของนโยบายการเงินต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับบริบทเศรษฐกิจในปี 2566 ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โจทย์ของนโยบายการเงินจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย  จากที่ก่อนหน้านี้ต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบ สมูธเทกออฟ ที่ถือว่าทำได้ดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกลับมาลง ทั้งนี้ การทำให้โจทย์ของนโยบายการเงินในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปเป็นกู๊ดแลนดิ้ง ให้เหมาะสมกับภาพระยะปานกลางและระยะยาว

ขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจของ ธปท. จะมีการปรับประมาณการต่างๆ  อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย.2566 โดยที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบ ประกอบกับประเด็นสำคัญจากปัจจัยภายในประเทศ คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงระดับ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเป็นผลกระทบที่มาต่อเนื่องจากโควิด-19 ซึ่ง  ธปท.จะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้เรื้อรัง     เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง