สายสีเขียว20บาททำไม่ได้

“ชัชชาติ” เข้าพบ “อนุทิน” ชื่นมื่น บอกเป็นเพื่อนรู้จักกันตั้งแต่เด็กๆ ส่วน “สายสีเขียว” ยังวนในอ่าง “มท.1” ท่องคาถาให้ยึดกฎหมาย หวังจบที่ กทม. ส่วน “ผู้ว่าฯ กทม.”  บอกรอตั้งคณะกรรมการชุดเล็กมาคุยรายละเอียดสัปดาห์หน้า ชี้มาตรา 44 เทียบเท่าพระราชบัญญัติ จะเอาอย่างไรขึ้นกับมหาดไทย

เมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะผู้บริหาร กทม. เดินทางเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสรับตำแหน่ง พร้อมรายงานการทำงานของ กทม.และรับมอบนโยบาย

ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่นเป็นกันเอง โดยนายอนุทินได้ทักทายนายชัชชาติ พร้อมกล่าวหยอกล้อและหัวเราะอย่างอารมณ์ดีว่า เมื่อวานเข้าพบกับนายกฯ เป็นแบบพี่น้องกัน แต่วันนี้มาพบแบบเป็นเพื่อนกัน เพราะเป็นเพื่อนเรียนกันมา จากนั้นทั้งคู่จะชนหมัด ก่อนที่นายชัชชาติบอกว่าจับมือดีกว่า เดี๋ยวไปเหมือนกับนายกฯ จึงได้เปลี่ยนมาจับมือแสดงความยินดีแทน ก่อนที่จะมีการหารือร่วมกันกว่า 1.30 ชั่วโมง

นายอนุทินกล่าวภายหลังการหารือถึงวิธีแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เราต้องให้ความเป็นธรรม ทำตามกฎหมายทุกอย่าง ถ้าสองเรื่องนี้มาบรรจบกันได้ยินดีแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นด้วยดี ทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย มีความชอบธรรม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนเรื่องมาตรา 44 นั้น ปัญหาไม่ได้มาจากมาตรา 44 เพราะเป็นคำสั่งให้ทำอย่างไร้รอยต่อ ต้องดูปัญหาทั้งระบบถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ต้องหารือกับผู้ว่าฯ กทม.ในสัปดาห์หน้า เร่งสะสางปัญหาโดยเร็ว ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าตรงไหนผิดก็ต้องว่าไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาต้องหาทางออกด้วย

“ถ้ามีปัญหามากผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชาวกรุงเทพฯ จะปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้ ยืนยันทุกอย่างต้องมีทางออก ต้องใช้ข้อมูลทุกอย่างที่มี โดยเราจะร่วมแก้ปัญหา ไม่ใช่ร่วมกันเพิ่มปัญหา”

เมื่อถามว่า ยืนยันจุดยืนจะต่อสัมปทานออกไปหรือไม่ หรือใช้วิธีการประมูล นายอนุทินกล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือทำตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ภายใน 5 ปีถึงจะคุยเรื่องนี้ได้ แต่เรื่องนี้เกิดก่อนที่จะมาเป็น รมว.มหาดไทย และก่อนนายชัชชาติจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งต้องกลับไปดูย้อนหลัง

ถามย้ำว่า เวลานี้ให้ยึดสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 ก่อน โดยยังไม่พูดถึงการขยายเวลาใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนั้นยังมีช่องทาง ส่วนเรื่องความเสียหายการเดินรถส่วนต่อขยาย ถ้าถูกต้องและเขาให้บริการประชาชนเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ต้องมาดูจะไปเอาเปรียบไม่ได้ โดยงบประมาณที่จะดำเนินการต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้อยากให้เรื่องจบที่ กทม.

ด้านนายชัชชาติกล่าวเรื่องนี้ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดเล็กเพื่อมาคุยรายละเอียดกัน ซึ่งสัปดาห์หน้าคงมีการพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่า คิดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะมีทางออกร่วมกันได้หรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ทุกอย่างต้องมีทางออก ถ้ามาคุยกันด้วยหลักการและเหตุผลก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และนายอนุทินก็มีข้อมูลละเอียด อาจมีมากกว่าที่ กทม.มีเสียด้วยซ้ำ สัปดาห์หน้าคงหารือรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง

 “เป็นการคุยที่ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ากระทรวงมหาดไทยในยุคนี้ จะขับเคลื่อนงานได้ง่ายกว่าในยุคที่แล้วหรือไม่ นายชัชชาติหัวเราะพร้อมกล่าวว่า คิดว่าก็ดีทุกยุค แต่เผอิญเราเป็นเพื่อนกัน รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก และทำงานร่วมกันได้ คิดว่าก็เป็นแนวเดียวกัน และยังเป็นแนวเดียวกับนายกฯ ด้วย ที่ท่านไวและตัดสินใจรวดเร็ว มาเจอกันแป๊บเดียวก็ได้เจอทั้งนายกฯ และนายอนุทิน ก็คิดว่าจะเป็นการร่วมมือที่ดี

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบนายอนุทินถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะกระทบกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลหรือไม่ว่า ต้องไปดูความหมายก่อนว่า 20 บาทคืออะไร เหมือนว่าเส้นใดเส้นหนึ่ง 20 บาท แต่ถ้าเป็นสายสีเขียวก็ต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่ม เพราะจนถึงปี 2572 เรายังมีสัมปทานอยู่ ซึ่งเอกชนมีสิทธิ์จัดเก็บค่าโดยสารตามที่เขาต้องการ แต่หลังจากนั้น กทม.ก็จัดเก็บเองตามที่เรากําหนด แต่ตอนนี้มีสัญญาเรื่องการจ้างเดินรถกับเอกชนอยู่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแบบตายตัว ซึ่งถ้าจัดเก็บ 20 บาทตอนนี้ไม่น่าจะคุ้ม เพราะต้องเก็บ 33 บาทเฉพาะช่วงไข่แดง ฉะนั้นถ้าเป็นนโยบาย 20 บาทของรัฐบาล ก็ต้องจ่ายค่าส่วนต่างให้ กทม. เพราะ กทม.ต้องเอาไปจ่ายค่าเดินรถ

เมื่อถามว่า จะมีการยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ เพราะเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเรื่องดังกล่าว นายชัชชาติกล่าวว่า ขึ้นกับรัฐบาล เพราะเรื่องค้างอยู่ เป็นเรื่องที่ให้อำนาจรัฐบาลต่อสัญญาให้ โดยให้ มท.เป็นผู้เสนอ และหากทำไม่สำเร็จก็ให้ มท.เสนอทางออก ซึ่งขณะนี้เรื่องยังค้างอยู่ใน ครม. แต่ในส่วน ครม.ถามว่ามีปัญหาอะไรนั้น คือมาตรา 44 กำหนดให้เอาหนี้ทั้งหมดไปรวบ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่อสัญญาชำระหนี้ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ชำระหนี้ ก็รออยู่ว่า ครม.จะเอาอย่างไร จะเดินต่อหรือไม่ ซึ่งคงจะหารือกับนายอนุทินอีกทีหนึ่ง

“อำนาจของมาตรา 44 ยังไม่หมดนะ เพราะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ส่วนจะแก้ไขด้วยการยกเลิกผ่านการออกกฎหมายในสภาหรือไม่ คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะขึ้นอยู่กับ มท.เสนอให้ ครม.อย่างไร ผลก็เป็นเช่นนั้น” นายชัชชาติระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง