ผวา!แจกหมื่นล่อใจโจร ตร.ยํ้าเทคนิคจับเพจเก๊

ซูเปอร์โพลเผย ปชช.ร้อยละ 76 เคยถูกหลอกในออนไลน์ หวั่นนโยบายแจกดิจิทัล 1 หมื่นเป็นบ่อน้ำมันให้โจรไซเบอร์ลงทุนต้มชาวบ้าน ขณะที่ ตร.แนะ 3 เทคนิคดูเพจปลอม

วันที่ 12 พ.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา  ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super  Poll) ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์   กล่าวในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ภัยอยู่กับมือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจและแหล่งอื่นๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 76.0 เคยถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์จากการใช้โซเชียล และแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เกินครึ่ง หรือร้อยละ  51.2 เคยตกเป็นเหยื่อขบวนการมิจฉาชีพในโลกออนไลน์หลายรูปแบบ เช่น ลิงก์ล่อเหยื่อ เข้าใช้บริการระบบออนไลน์ไม่ได้  การถูกดูดเงินออกไปจากบัญชี และอื่นๆ   ปัญหาอันตรายเหล่านี้คือภัยอยู่กับมือ ของประชาชนทุกคน

การที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท  จึงกลายเป็นบ่อน้ำมันทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลล่อตาล่อใจให้ขบวนการ “โจรไซเบอร์” กล้าลงทุนเข้ามาโจมตีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล และที่โจมตีง่ายที่สุดคือโทรศัพท์มือถือของประชาชน จึงกลายเป็นภัยอยู่กับมือ ที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงของชาติจะนิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้ เพราะการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังมือถือของประชาชนกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ทั่วโลกในเวลานี้

โดยขบวนการโจรไซเบอร์พร้อมจะลงทุนใช้เทคโนโลยีมาโจมตีเอาเงินที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาทจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เพราะโจรไซเบอร์เคยโจมตีระบบความปลอดภัยสูงทางไซเบอร์กับระบบบล็อกเชนมาแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน นั่นขบวนการโจรไซเบอร์ทำให้เกิดความเสียหายเพียงหลักหมื่นล้านบาท แต่สำหรับประเทศไทย มูลค่า 5 แสนล้านบาท จึงเป็นที่ล่อตาล่อใจให้ขบวนการโจรไซเบอร์ลงทุนโจมตีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน

ผศ.ดร.นพดล ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)  ด้านผู้แทนภาคประชาชน กล่าวต่อว่า   จากการสำรวจของซูเปอร์โพลล่าสุด พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ยังมีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ISO 27000 และ ISO 31000 เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งในส่วนความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการความเสี่ยง อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เท่านั้น

 จึงควรเร่งปรับปรุงยกระดับมาตรฐานคุณภาพของเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยรัฐบาลนำเงินบางส่วนจากแสนล้านบาทมาลงทุนยกเครื่องความรู้ความสามารถ ความตระหนักในความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ น่าจะทำให้ภัยอยู่กับมือกลายเป็นความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนอยู่ในมือทุกคนได้

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนกว่า 140,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งบัญชีเฟซบุ๊กปลอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนร้ายมักจะใช้ในการกระทำความผิด

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำเทคนิคในการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกขายของออนไลน์ ที่คนร้ายจะสร้างความน่าเชื่อถือโดยการเลียนแบบเพจที่มีอยู่จริง นำภาพหรือข้อความของเพจต่างๆ มาใช้ และมีการสร้างเลขจำนวนผู้ติดตามปลอมเพื่อหลอกผู้เสียหาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแนะนำเทคนิคในการตรวจสอบว่าเพจใดเป็นเพจที่แท้จริง ดังนี้

1.การตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามที่แท้จริง : หากเป็นเพจจริง มักจะมียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ส่วนเพจปลอมมักจะมีการเขียนจำนวนผู้ติดตามขึ้นเองให้เท่ากับเพจจริง โดยหากใช้เฟซบุ๊กผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จะสามารถตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามได้บนหน้าเพจ จำนวนผู้ติดตามที่แท้จริงจะต้องเป็นตัวหน้าสีดำเข้มเท่านั้น และอยู่ติดกับชื่อเพจ, หากใช้เฟซบุ๊กผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) บนคอมพิวเตอร์ จะสามารถตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามได้บนหน้าเพจ โดยจำนวนผู้ติดตามที่แท้จริงจะอยู่ติดกับชื่อเพจเท่านั้น อย่าเชื่อจำนวนผู้ติดตามที่ปรากฏในหน้าการค้นหา เพราะจะตรวจสอบได้ยากว่าเป็นจำนวนผู้ติดตามจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำอธิบายที่คนร้ายเขียนขึ้นเอง

2.การตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานของเพจ : ดูจากชื่อของเพจ วันที่สร้างเพจ และ URL ของเพจ โดยหากใช้เฟซบุ๊กผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จะสามารถตรวจสอบได้โดยการเข้าไปที่หน้าเพจ จากนั้นกดที่สัญลักษณ์ จุดสามจุด “...” ใต้ชื่อเพจ และเมนูดูข้อมูล "เกี่ยวกับ",  หากใช้เฟซบุ๊กผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) บนคอมพิวเตอร์ จะสามารถตรวจสอบ URL ได้ที่ Address Bar ด้านบน ส่วนข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ จะต้องเข้าไปที่ “เกี่ยวกับ>ความโปร่งใสของเพจ>ดูทั้งหมด”

3.การตรวจสอบจาก Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน ที่อยู่ติดกับชื่อของเพจ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระบุว่าเพจดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากเฟซบุ๊กแล้วว่าเป็นเพจจริง

หากพี่น้องประชาชนทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กตามวิธีดังกล่าว ก็จะสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าเพจที่ท่านติดต่อซื้อสินค้านั้นน่าจะเป็นเพจจริง และจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของไม่ได้ของ ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าออนไลน์  และคดีอาญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ    สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง