สีชมพูปลอดภัย บิ๊กBTSCกุมขมับ มีอะไหล่100ชิ้น

"สุริยะ" ยืนยันรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัย แต่ยังต้องปิด 7 สถานีขัดข้องจนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อย พร้อมเจรจาผู้รับสัมปทานขยายระยะเวลาทดลองเดินรถฟรีให้ประชาชน ด้าน "สุรพงษ์" แจงถือเป็นเหตุสุดวิสัย ส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา งานเข้า! "บิ๊ก BTSC" เผยอะไหล่สำรองมีเพียง 100 ชิ้น ไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมที่คาดใช้อะไหล่ประมาณ 1,700 ชิ้นส่วน

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร  เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้แจงกรณีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแครายถึงสถานีแยกปากเกร็ด โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล  จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว

โดยนายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมขอยืนยันว่า ระบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัย สำหรับอุบัติเหตุในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 มีการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสถานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวิศวกรได้เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้ช่วงเช้าของวันนี้ (25 ธันวาคม 2566) สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08)-สถานีมีนบุรี  (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.

ส่วนสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานี ยังคงปิดให้บริการอยู่ จนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จ และตรวจสอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง สำหรับระยะเวลาที่เปิดทดลองใช้บริการฟรีที่เสียไปจากการปิดให้บริการ 7 สถานีดังกล่าว จะมีการเจรจากับผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาการเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งเส้นทางอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า  เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นผลจากการดึงเข็มพืดเหล็ก  (Sheet Pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู  ออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ ซึ่งอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง (รถไฟฟ้าหมายเลข PM40) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไปกระแทก ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้าออกจากจุดยึด แล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วนประมาณ 300 เมตร และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแครายถึงสถานีแยกปากเกร็ด ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร 1 จุด  บริเวณคานทางวิ่ง เหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)

 “ยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นผู้รับเหมาพร้อมชดเชย เนื่องจากมีการทำประกันที่ครอบคลุมอุบัติเหตุเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนกรณีที่จะมีการติดแบล็กลิสต์ผู้รับเหมาโครงการในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเบื้องต้นได้มีการสั่งให้หยุดการให้บริการใน 7 สถานี หรือตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเป็นเวลา 7  วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว” นายสุรพงษ์กล่าว

สำหรับแนวทางการป้องกันจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ พร้อมตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก รวมถึงได้กำชับให้มีการเดินขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทาง โดยวิ่งสำรวจตอนตี 4 ก่อนเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดการเดินทาง และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้มงวดการเข้าทำงานของผู้รับจ้างในเขตระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการเดินรถไฟฟ้าอีกด้วย

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น  ได้แก่ 1.การเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน ผู้คุมงานต้องมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง 2.กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาต้องอยู่ครบถ้วนทุกราย ในกรณีที่จะมีการเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง โดยจะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของหน่วยงานคมนาคม และ  3.การส่งมอบงานและพื้นที่ต้องมีการตรวจสอบและเซ็นรับทราบทุกครั้ง หากทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ไม่ครบก็ห้ามดำเนินการในพื้นที่ก่อสร้างเด็ดขาด 

 “จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย และส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา ซึ่งในประเด็นนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็น บริษัท ซิโน-ไทย  เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้เคลื่อนย้าย หรือเป็นผู้รับเหมาที่บริษัทจ้างมาต่อไป โดยได้เน้นย้ำว่าเหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รฟม., ขร.และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (เอ็นบีเอ็ม)  จะมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการชดเชยผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ โดยเบื้องต้นอาจมีการพิจารณายืดเวลาการให้บริการสายสีชมพูฟรีต่อไปก่อน หลังจากที่เดิมมีกำหนดเตรียมเปิดให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 มกราคม 2567” นายสุรพงษ์กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และกรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กล่าวว่า เบื้องต้นรับทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ หรือ STEC บริษัทผู้รับเหมาอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อคืนพื้นผิวจราจร

 “เมื่อวาน (24 ธ.ค.) เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดในช่วงวันหยุด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่บริษัทได้ติดต่อประสานงานไปยังต่างประเทศเพื่อจัดหาอะไหล่มาติดตั้งซ่อมแซม เนื่องจากอะไหล่สำรองในปัจจุบันมีเพียง 100 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมในช่วงบริเวณที่เกิดเหตุ คาดว่าจะใช้อะไหล่ประมาณ 1,700 ชิ้นส่วน หากได้ชิ้นส่วนอะไหล่ครบแล้วใช้ระยะเวลาไม่นานในการติดตั้งซ่อมแซม นอกจากนี้บริษัทพยายามเร่งรัดหาผู้รับเหมาติดตั้งให้แล้วเสร็จ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก STEC อย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัจจุบันยังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตามปกติ โดยจะเปิดให้บริการเพียง 23 สถานี จากสถานีมีนบุรี-สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งแต่   06.00-00.00 น. และปิดให้บริการจำนวน 7 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยผู้โดยสารที่ใช้บริการจะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ เนื่องจากเป็นจุดสับเปลี่ยนรางรถไฟฟ้าโมโนเรล ทำให้ขบวนรถวิ่ง 2 เส้นทาง คือสถานีมีนบุรี-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ-สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28

 “ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์หรือการเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ม.ค. 2567 นั้น หากทางบริษัทสามารถจัดหาอะไหล่มาดำเนินการซ่อมแซมได้ทัน จะยืดกำหนดการเปิดให้บริการตามเดิม แต่ถ้ากรณีที่จัดหาอะไหล่ไม่ทันอาจต้องหารือร่วมกับ รฟม.เพื่อขยายเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนอีกครั้ง” นายสุรพงษ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง