7วันอันตรายปีใหม่ลด ดับ284เจ็บ2.3พันราย

สรุปยอดอุบัติเหตุปีใหม่ "อุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย" ลดลงจากปีที่แล้ว  7 วันอันตราย 67 ดับรวม 284 ราย บาดเจ็บ 2,307 คน “กทม.” ครองแชมป์เสียชีวิตสูงสุด เมาแล้วขับสาเหตุหลัก

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567  โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 200 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 205 คน ผู้เสียชีวิต 17 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 48.5, ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 22 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 88.72 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.5, ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.5 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 07.01-08.00 น. ร้อยละ 8 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 15.77 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,785 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,433 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (15 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ดและสุพรรณบุรี (จังหวัดละ 3 ราย)

 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.66-4 ม.ค.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,288 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 2,307 คน ผู้เสียชีวิต รวม 284 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (89 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (19 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก นครนายก ปัตตานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน สตูล สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ

 นายโชตินรินทร์กล่าวว่า ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.65-4 ม.ค.66 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,437 คน และผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย โดยอุบัติเหตุลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 6.23 มีผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 5.33 และผู้เสียชีวิต ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 10.41 สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุคือการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กว่าร้อยละ 48.5 จากปกติในทุกปีจะเป็นสาเหตุอันดับ 1 จะมาจากการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และการได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนและนักท่องเที่ยว

นายโชตินรินทร์กล่าวต่อว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีจำนวนครั้งการเกิดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการช่วยป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความร่วมมือของประชาชนในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า  ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ.2570

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจวัดสารเสพติดจากปัสสาวะ ตามจุดเสี่ยงและบริเวณโดยรอบท่ารถโดยสาร เห็นได้ว่าในปีนี้ไม่เกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะเลย ซึ่งถือว่าการกวดขันตามมาตรการต่างๆ สำเร็จเป็นรูปธรรม หลังจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะประชุมในลักษณะเช่นเดียวกันทุกวันจันทร์ เพื่อติดตามปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในแต่ละพื้นที่ และหาแนวทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า การลดลงของสถิติข้างต้นถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงเกือบร้อยละ 20

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง   รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนมาปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อหนึ่งแสนประชากรภายในปี 2570

ที่ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปปิดยอดสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในวันสุดท้ายของ 7 วันควบคุมเข้มข้นปีใหม่ 2567 (4 ม.ค.) สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวนทั้งสิ้น 1,150 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.65, คดีขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 และคดีขับเสพ 49 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.26

นางธารินีกล่าวว่า โดยยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.66-4 ม.ค.67) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,102 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.06, คดีขับรถประมาท 5 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 และคดีขับเสพ 233 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.88 ส่วนจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุรา สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 469 คดี, นครพนม จำนวน 351 คดี และหนองคาย จำนวน 328 คดี ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 8,567 คดี กับปี พ.ศ. 2567 จำนวน 7,864 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 703 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.2 คาดว่าอาจเป็นเพราะการรณรงค์ของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงพี่น้องประชาชนดูแลตัวเองและครอบครัวเป็นอย่างดีด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง