คลัสเตอร์โอมิครอน ผวาเคสกาฬสินธุ์จุดชนวน/บิ๊กตู่สั่งยกระดับรับมือ

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย เสียชีวิต 27 ราย “ศบค.” ห่วงคลัสเตอร์โอมิครอนสามีภรรยากาฬสินธุ์ แพร่เชื้อแล้ว 21 ราย จากภาพรวมโอมิครอนทั่ว ปท. 205 ราย แย้ม 5 จว. "ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-ระยอง-อยุธยา" จัดงานปีใหม่ได้ บอกมีมาตรการเข้มงวด แนะฉลองในครอบครัวก็ควรตรวจ ATK "บิ๊กตู่" สั่งยกระดับระบบสาธารณสุขรับมือหลังปีใหม่ "สธ." เผยผลวิจัยชี้โอมิครอนติดเร็วแต่หายไว อันตรายน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา เล็งปรับสูตรฉีดวัคซีนป้องกัน

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 2,558 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 2,502 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 56 ราย เรือนจำ 58 ราย จากต่างประเทศ 55 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 2,766 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 38,192 ราย อาการหนัก 836 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 218 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 14 ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป 21 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย เสียชีวิตมากที่สุด ที่ จ.นครศรีธรรมราช 5 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,204,672 ราย หายป่วยสะสม 2,144,952 ราย เสียชีวิตสะสม 21,528 ราย ยอดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. จำนวน 530,244 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 101,609,859 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 411 ราย, ชลบุรี 175 ราย, นครศรีธรรมราช 144 ราย, สมุทรปราการ 87 ราย, สงขลา 85 ราย, ขอนแก่น 71 ราย, ราชบุรี 60 ราย, พัทลุง 29 ราย, พิษณุโลก 59 ราย และเชียงใหม่ 56 ราย โดยมีคลัสเตอร์ที่น่าสนใจคือคลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนา ที่ผู้ร่วมงานมีการสวมหน้ากากอนามัยระหว่างร่วมพิธี แต่มีจุดอ่อนหลังจบงานจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงมีรายงานว่ามีการตั้งวงไพ่ วงพนัน จึงขอให้ทางจังหวัดช่วยป้องกันในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีบางจังหวัดมีการลักลอบเปิดสถานบันเทิง เช่น จังหวัดสงขลา ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม จึงขอให้ทางจังหวัดเข้มข้นควบคุมเรื่องเหล่านี้ด้วย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโอมิครอน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังคงจับตาดูอย่างใกล้ชิด ตอนนี้มีการยืนยันประเทศที่มีการแพร่ระบาดเชื้อดังกล่าวไปแล้ว 98 ประเทศ ส่วนที่บางสำนักข่าวรายงานว่าแพร่ระบาดไปเป็นร้อยประเทศแล้วนั้น ขอให้ยึดตัวเลขจาก สธ.เป็นหลัก ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนไปแล้ว 205 ราย ส่วนใหญ่มาจากผู้เดินทางในระบบเทสต์แอนด์โก โดยรายล่าสุดเป็นคู่สามีภรรยา อายุ 47 ปี พบที่ จ.กาฬสินธุ์ เดินทางมาจากประเทศเบลเยียม ทั้งคู่ตรวจ RT-PCR เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ผลออกมาเป็นลบ เข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. เมื่อมาถึงก็ตรวจ RT-PCR ผลเป็นลบ จึงเดินทางไปกาฬสินธุ์บ้านเกิดในวันที่ 11 และ 12 ธ.ค. มีการรับประทานอาหารกับครอบครัว พบว่าร้านอาหารที่ใช้บริการมีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด ทั้งสองคนเริ่มมีอาการเมื่อวันที่ 13 และ 15 ธ.ค. ระหว่างนั้นทั้งสองคนมีการเดินทางไปธนาคาร และสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยสารรถตู้ประจำทาง รวมถึงมีการข้ามพื้นที่ไปยังจังหวัดขอนแก่น มีการพบปะผู้คน จนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากนั้นวันที่ 15 ธ.ค. ตรวจ ATK ซ้ำ และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวันที่ 17 ธ.ค. ผลยืนยันจากการตรวจ RT-PCR ทั้ง 2 คนติดโควิด-19 แล้วยืนยันสายพันธุ์ในวันที่ 21 ธ.ค.ว่าเป็นโอมิครอนทั้ง 2 คน

คลัสเตอร์กาฬสินธุ์โอมิครอนพุ่ง

“จากคลัสเตอร์นี้ทำให้มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว 21 คน รวมทั้งยังมีบางจังหวัดที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามสอบสวนทุกราย และจะนำรายละเอียดมานำเสนอต่อไป” พญ.อภิสมัยกล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานการตรวจสายพันธุ์โควิดระหว่างวันที่ 20-23 ธ.ค. จาก 874 ตัวอย่าง พบทั่วประเทศเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 83.8%, โอมิครอน 16.2% เฉพาะใน กทม. 207 ตัวอย่าง เป็นเดลตา 25.5%, โอมิครอน 43.5% ขณะที่ภูมิภาค 667 ตัวอย่าง เป็นเดลตา 92.2%, โอมิครอน 7.8% และถ้าดูเฉพาะกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 221 ตัวอย่าง พบเป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอน 52.9%, เดลตา 47.1% กลุ่มอื่นๆ ในประเทศ 653 ตัวอย่าง เป็นเดลตา 96.2%, โอมิครอน 3.8% แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ที่ติดโควิดกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

จากรายงานประเทศอังกฤษพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 50% นอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ขณะที่สายพันธุ์โอมิครอน เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 20-25 เปอร์เซ็นต์ นอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-45% สอดคล้องกับการศึกษาของประเทศแอฟริกาใต้ ที่ศึกษาระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. พบอัตราการนอนโรงพยาบาลของโอมิครอน อยู่ที่ 2.5% น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ผู้ป่วยอาการหนักมีถึง 21% หมายความว่าความรุนแรงไม่ต่างกันกับสายพันธุ์อื่น

“ดังนั้นแม้ว่าผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลจากสายพันธุ์โอมิครอน จะน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่จะสรุปว่าโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าแล้วเราจะสบายใจไม่ต้องระมัดระวังมาก จะถือเป็นการด่วนสรุปที่ประมาทเกินไป จากข่าวที่หลายประเทศในยุโรปมีผู้ติดเชื้อเป็นหลักแสน บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ทำให้ระบบสาธารณสุขตึงตัว ดังนั้นในเทศกาลปีใหม่ สธ.ให้โรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขทั้งหมดเตรียมความพร้อม ศูนย์กักตัวในชุมชน หรือการจัดทีมรองรับการแพร่ระบาดในชุมชนก็ต้องเตรียมพร้อมไว้” ผู้ช่วย ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวถึงการจัดเทศกาลปีใหม่ว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.วันที่ 24 ธ.ค.นี้ มี 5 จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่จัดเทศกาลปีใหม่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง และพระนครศรีอยุธยา ที่ประชุมต้องชื่นชม เนื่องจากทั้งหมดทำการบ้านอย่างหนักและออกแบบความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เหลือภาคประชาชนที่จะต้องให้ความร่วมมือและใส่ใจในมาตรการ และปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ผู้ที่เข้าร่วมงานต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจเอทีเคล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมงาน

นอกจากนี้ ศปก.ศบค.ยังประชุมถึงการจัดงานปีใหม่กลุ่มเล็กๆ เช่น คนที่ไม่ได้วางแผนการเดินทางออกต่างจังหวัด จัดงานปีใหม่เล็กๆ เฉพาะคนในครอบครัว คนรู้จัก โดยมีความเป็นห่วง เพราะจากรายงานการติดเชื้อบางครั้งก็เกิดจากกลุ่มเล็กๆ คนใกล้ชิดนี้เอง จึงขอแนะนำว่าการตรวจ ATK จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและการเฉลิมฉลองปีใหม่มีความสุข

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 205 คน ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศถึง 52.9% จากจำนวน 211 ตัวอย่าง ทำให้ภาพรวมสายพันธุ์โอมิครอนในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ 205 คน แบ่งเป็น 180 คน มาจากต่างประเทศ อีก 25 คนยังรับเชื้อจากผู้มาจากต่างประเทศทั้งหมด โดยคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดคือคลัสเตอร์สามีภรรยา จ.กาฬสินธุ์

อย่างไรก็ตาม ยังพบคลัสเตอร์อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ได้แก่ ในจังหวัดภาคใต้พบติดเชื้อ 3 คน ซึ่งติดเชื้อจากผู้เดินทางแสวงบุญ ส่วนอีก 1 คนเป็นแม่บ้านโรงแรมแห่งหนึ่ง และสุดท้ายคือภรรยาของนักบิน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอนคนแรกในไทยที่เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดคลัสเตอร์โอมิครอน เพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ได้เร็ว แต่ขอความร่วมมือให้ช่วยกันป้องกันและฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ

“มีการรายงานผลศึกษาจาก University of Hongkong โดยการนำเซลล์ของหลอดลมใส่เชื้อโอมิครอนเข้าไป พบว่าโอมิครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตา (อินเดีย) 70 เท่า แต่เมื่อไปถึงเนื้อปอดที่อันตรายถึงชีวิตกลับพบว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อย ทำอันตรายกับปอดได้ไม่มากเท่าเดลตา ซึ่งสะท้อนว่าโอมิครอนแพร่เร็วเพราะอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน แต่ไม่มีอันตรายมาก”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ

บิ๊กตู่สั่ง สธ.รับมือหลังปีใหม่

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดงานเคาต์ดาวน์ช่วงปีใหม่ว่า เขาชี้แจงแล้วไม่ใช่หรือเป็นการเอาข้อมูลที่ถูกต้องมาชี้แจง ซึ่งทั้งหมดการจัดกิจกรรมจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโควิดมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร Covid Free Setting ซึ่งจะต้องมีการฉีดวัคซีน และการขอจัดงานไว้ที่จำนวนคนเท่าไหร่ก็ต้องเท่านั้น จะไปขายบัตรหน้างานเพิ่มเติมอีกไม่ได้ ถือเป็นมาตรการที่เข้มงวด ที่นายกฯ สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องช่วยกันทำเข้าใจหรือไม่ รัฐบาลมีหน้าที่ออกกรอบนโยบายแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันจะทำอะไรไม่ได้ทุกเรื่อง

“สถานการณ์โอมิครอนในวันนี้ก็ชี้แจงแล้วว่าไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ หากตรวจพบเข้าสู่การรักษาพยาบาล แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ต้องแยกกันให้ออกไม่เช่นนั้นก็จะตื่นตระหนกกันไปหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถามถึงกรณีการปลอมใบยืนยันการฉีดวัคซีน นายกฯ กล่าวว่า ทราบนานแล้ว และได้สั่งการไปแล้ว ซึ่งมีการดำเนินคดีไปหลายราย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สั่งยกระดับการป้องกันและการรักษา เตรียมบุคลากร อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องมือต่างๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังปีใหม่

“นายกฯ ได้รับสนองผลงานพระราชทานทางวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีการสังเคราะห์ตัวยาโมลนูพิราเวียร์ โดยสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษาให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวขอบคุณทุกพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีน ทั้งภาพรวมและกลุ่มเสี่ยง 608 โดยการฉีดวัคซีนขณะนี้ทะลุเป้าไปถึง 102 ล้านโดสแล้ว และยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีสามีภรรยาเบลเยียมที่ จ.กาฬสินธุ์ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า เป็นอุทาหรณ์ แม้การเดินทางเข้ามาด้วยระบบ T&G แม้จะมีการตรวจ RT-CPR ก่อนเข้าไทย 72 ชม. เมื่อเข้าไทยตรวจซ้ำอีกครั้งในรอบ 24 ชม. ก็ยังไม่การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ อาจอยู่ในช่วงระยะฟักตัวของโรค ฉะนั้นสำหรับคนไทยที่เพิ่งกลับเข้าประเทศมาในช่วง อย่าเพิ่งรีบไปพบญาติ หรือรวมตัวกัน เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อจากช่วงระยะฟักตัว และคนที่มีญาติเพิ่งมาจากต่างประเทศ ก็อย่าเพิ่งรีบไปเจอหรือรวมตัวกัน

“ขณะนี้ข้อมูลของโอมิครอนค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ในแง่ความรุนแรงที่ทำให้นอน รพ.และเสียชีวิตน้อยกว่าเดลตาครึ่งหนึ่ง ส่วนอัตราการติดเชื้อเร็วกว่าเดลตาในกรณีคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นจึงให้ทุกพื้นที่เร่งเรื่องการฉีดวัคซีนตามสูตร” ปลัด สธ.กล่าว

นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ พิจารณาเรื่องวัคซีนของบริษัท แอสตร้าฯ ว่าการฉีด 3 เข็มมีประสิทธิภาพตอบสนองต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้พอๆ กับ 2 เข็มที่สู้กับเดลตา แต่เนื่องจากเป็นข้อมูลล่าสุด ทางกรมควบคุมโรคกำลังประสานขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อจะได้เอาข้อมูลนี้เสนอต่อคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อพิจารณาว่าจะปรับสูตรวัคซีนอย่างไรต่อไป เช่น สูตรวัคซีน แอสตร้าฯ 2 เข็ม เดิมให้กระตุ้นเป็น mRNA อาจเพิ่มเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯ เป็นทางเลือก แต่ตอนนี้ขอให้รอทางคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาก่อน

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล พร้อมกำกับติดตามมาตรการ COVID Free Setting ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มจุดตรวจคัดกรอง ATK ในสถานที่เดินทางสาธารณะ อีกทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 โดยเพิ่มจุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง