รบ.โหนโพลดิจิทัล! เศรษฐาถกจุลพันธ์

"ซูเปอร์โพล" ชี้คนส่วนใหญ่รอคอย "ดิจิทัลวอลเล็ต" เชื่อมั่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ทีตีปี๊บประชาชนหนุนเดินหน้าแจกเงินหมื่น   "เศรษฐา” นัดถก "จุลพันธ์" เร่งทำให้เร็วที่สุด พร้อมซักความจำเป็นต้องรอผลศึกษาจาก ป.ป.ช.หรือไม่

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ.2567 พบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3  และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000- 35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่า การแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าในกลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุดคือร้อยละ 75.4 รองลงมาคือกลุ่มคนในภาคกลาง มีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2, กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6, กลุ่มคนกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อยคือต่ำกว่า  20 ปี เกินครึ่งคือร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 47.2 ระบุควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่ และที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ที่ระบุควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่เช่นกัน ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือร้อยละ 26.7 ที่ระบุควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 43.8 และกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 42.2 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มคนในภาคกลางส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 และกลุ่มคนในภาคใต้จำนวนมากหรือร้อยละ 43.9 ระบุรออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในขณะที่กลุ่มคนในภาคเหนือเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.8 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 32.6 ระบุรออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนในภาคอีสานมีจำนวนน้อยที่สุด หรือร้อยละ 26.4 ที่ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลุ่มคนในภาคอีสานมีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 44.5 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 41.6 ที่ไม่มีความเห็น

"โพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นระดับสูงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มรายได้ 15,000 ถึง 35,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนเกษียณอายุคืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป น่าจะสะท้อนให้เห็นว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดนใจและตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรายได้น้อยและคนในช่วงอายุน้อยของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนสูงวัยที่สะท้อนถึงความต้องการให้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นจริงขึ้นมา เพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ต้องการใช้เงิน และเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน" นายนพดล ระบุ

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลกล่าวว่า เมื่อแบ่งกลุ่มคนออกตามภูมิภาคต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มคนในแต่ละภูมิภาคคือ กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่รออยู่และเห็นว่าไม่ต้องทบทวนแก้ไขอะไร โดยเฉพาะกลุ่มคนในภาคกลางที่มีความเป็นกลางความหลากหลายสูงในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย และภาคใต้ที่กลุ่มคนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนในภาคอีสานแม้จะมีสัดส่วนของคนที่ระบุว่ารออยู่ และเห็นว่าไม่ต้องทบทวนปรับปรุงอะไรน้อยกว่าทุกภาค น่าจะเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย จึงส่งผลให้สัดส่วนของคนที่ไม่มีความเห็นมากกว่ากลุ่มคนในภาคอื่นๆ เพราะอย่างไรก็ได้ไม่กระทบรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่กลุ่มคนใน กทม. ที่มีสัดส่วนของคนที่ไม่มีความเห็นสูงเช่นกัน แต่ลักษณะของคน กทม.แตกต่างจากกลุ่มคนในภาคอีสาน เพราะแม้จะมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสูง แต่มีความหลากหลายทางความคิดและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยของผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลที่เคยทำวิจัยพบว่า ความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยบนโลกออนไลน์อยู่ในสภาวะวิกฤต ทางออกคือ ยกระดับนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นสูงรองรับการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ให้ทุกคนปลอดภัย ไม่ซ้ำรอยคดีจำนำข้าว ลดแรงเสียดทานจากกลุ่มต่อต้าน

ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีซูเปอร์โพลระบุประชาชนรอคอยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า วันที่ 5 ก.พ. จะหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง แต่อย่างที่ตนเคยบอกไว้ว่าอยากเร่งรัด  อยากจะรีบๆ ทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังคงต้องรอคำชี้แนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คงต้องรอ และจะไปถามว่าจำเป็นต้องรอหรือไม่ รวมถึงไปดูอีกครั้งว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องด้วย อย่างที่เรียนมาตลอดว่าเราเปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น เรามีการปรับเงื่อนไขต่างๆ ทราบว่าพี่น้องคอยอยู่ ในตอนลงพื้นที่ก็ได้ยินได้ฟังอยู่ และรัฐบาลมีความเชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเครื่องจักรอันใหญ่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า จะฝากอะไรไปถึงประชาชนที่รอคอยโครงการนี้อยู่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ก็จะทำ พยายามทำให้ดีที่สุด และทำให้เร็วที่สุด”

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยกผลสำรวจของซูเปอร์โพลชี้ให้เห็นว่าประชาชนรอคอยและสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป พร้อมระบุว่า รัฐบาลรับฟังทุกความคิดเห็น และเข้าใจดีถึงระดับความวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้าตามนโยบายที่เชื่อมั่นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนไทย

ทางด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลระบุโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเครื่องมือในการแก้วิกฤตประเทศว่า ในกรณีนี้มองได้ 2 มุมคือ ในส่วนที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายหลักของพรรคร่วมรัฐบาล จะต้องมีการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองว่าหากรัฐบาลประกาศไปแล้วและดำเนินการได้ ก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นนโยบายของพรรคการเมือง แต่มีข้อเสนอแนะว่า ที่รัฐบาลระบุว่าเศรษฐกิจวิกฤตนั้น วิกฤตจริงหรือไม่ และจะต้องมีการฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องข้อกฎหมาย แต่จะต้องใช้ดุลยพินิจว่าเศรษฐกิจถึงขั้นวิกฤตจนต้องออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินหรือไม่ ส่วนนี้ยอมรับว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกฤษฎีกา ดังนั้นการที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นถือเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าความเห็นดังกล่าวยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

"ถ้ารัฐบาลตั้งธงเพียงอย่างเดียว ไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ก็จะทำให้เป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้" นายราเมศกล่าว และว่า ในกระบวนการตรวจสอบของสภา พรรคประชาธิปัตย์ยังคงตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ว่าจะไปในทิศทางใด และต้องดูว่ารัฐบาลจะกำหนดแนวทางเดินหน้าไปในทิศทางใด เพราะทอดเวลามานานพอสมควร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง