เปิดยอดคนไทย หดเหลือ66ล้าน ยี้แก้เลข‘รถเมล์’

มหาดไทยเปิดข้อมูลทะเบียนราษฎร สิ้นปี 2566 มีคนไทย 66,052,615   คน ลดลง 37,860 คน “กทม.” ครองแชมป์ประชากรหนาแน่นสุด 5.4 ล้านคน  ส่วนสมุทรสงครามน้อยสุดไม่ถึง 2 แสน นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่ 64% ไม่เห็นด้วยเปลี่ยนเลขสายรถเมล์แบบใหม่

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) และโฆษก  มท. กล่าวว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รวบรวมจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี  2566 พบว่ามีจำนวนราษฎรทั่วประเทศทั้งสิ้น 66,052,615 คน ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 37,860 คน หรือลดลง 0.06% เป็นผู้มีสัญชาติไทย 65,061,190  คน ไม่มีสัญชาติไทย 991,425 คน โดยจากจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นราษฎรเพศชาย 32,224,008 คน และเพศหญิง 33,828,607 คน ทั้งนี้ จังหวัด/ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดคือ  กรุงเทพมหานคร 5,471,588 คน ส่วนสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีจำนวนราษฎรน้อยที่สุด คือที่ 187,993 คน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีราษฎรตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไป มีทั้งหมด 20 จังหวัด และ กทม.รวม 21 จังหวัด คือ 1.กรุงเทพฯ 5,471,588 คน 2.นครราชสีมา 2,625,794 คน 3.อุบลราชธานี 1,869,608 คน 4.เชียงใหม่ 1,797,074 คน 5.ขอนแก่น 1,779,373 คน 6.ชลบุรี 1,618,066 คน 7.บุรีรัมย์ 1,573,230 คน 8.อุดรธานี 1,558,528 คน 9.นครศรีธรรมราช 1,540,953 คน 10.ศรีสะเกษ 1,450,333 คน 11.สงขลา 1,431,959 คน 12.สมุทรปราการ 1,372,970 คน 13.สุรินทร์ 1,367,842 คน 14.นนทบุรี 1,308,092 คน 15.เชียงราย 1,298,977 คน 16.ร้อยเอ็ด 1,284,836 คน 17.ปทุมธานี 1,219,199 คน 18.สกลนคร 1,142,657 คน 19.ชัยภูมิ 1,113,378 คน 20.สุราษฎร์ธานี 1,075,788 คน และ 21.นครสวรรค์ 1,021,883 คน

โฆษก มท.กล่าวอีกว่า ด้านข้อมูลทางปกครองทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566   กรมการปกครองรายงานว่า การปกครองส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทยมีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,142 หมู่บ้าน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กทม.และ เมืองพัทยา)

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจประชาชน เรื่องรถเมล์ชาวกรุง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่ กทม. รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการใช้บริการรถเมล์ใน กทม.ปีที่ผ่านมา พบว่า 45.95% ระบุว่าไม่เคยใช้บริการเลย,  22.60% ใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง,  21.83% เคยใช้บริการ แต่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้ใช้บริการเลย และ 9.62% ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ 

เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ และใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง จำนวน 422 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการให้บริการของรถเมล์ในปัจจุบัน พบว่า 38.15% การให้บริการไม่แย่ลงและไม่ดีขึ้น แค่พอยอมรับได้,  24.41% การให้บริการดีเหมือนเดิม,  22.51% การให้บริการดีขึ้น, 10.43% การให้บริการแย่เหมือนเดิม และ 4.50% การให้บริการแย่ลง

ถามตัวอย่างที่ระบุว่าใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ ใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง และเคยใช้บริการ แต่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้ใช้บริการเลย จำนวน 708 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับเลขสายรถเมล์ใหม่ พบว่า ตัวอย่าง 63.98% ควรใช้เลขสายรถเมล์แบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีต เช่น สาย 150 เป็นต้น, 20.20% ระบุว่าเห็นด้วยกับเลขสายรถเมล์ใหม่ที่ไม่มีขีด แต่ยังคงวงเล็บเลขสายรถเมล์เดิม เช่น สาย 115 (150 เดิม), 8.48% เห็นด้วยกับเลขสายรถเมล์ใหม่ที่มีขีด เช่น สาย 1-15 และ 7.34% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมการขับขี่ของรถเมล์บนท้องถนน พบว่า 36.18% ส่วนใหญ่การขับขี่ไร้วินัยเหมือนเดิม, 27.33% ส่วนใหญ่การขับขี่มีวินัยดีเหมือนเดิม,  23.05% ส่วนใหญ่การขับขี่มีวินัยที่ดีขึ้น,  9.55% ส่วนใหญ่การขับขี่ไร้วินัยมากขึ้น และ 3.89% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง