จับ‘ตะวัน’หน้าศาล2ข้อหาหนัก

ไม่รอด! ตำรวจจับ "ตะวัน-แฟรงค์" พ่วงสายน้ำ ตามหมายจับที่มานั่งรอหน้าศาลอาญาแล้ว เจออ่วมหลายข้อหา โดยเฉพาะมาตรา 116 เจ้าตัวไม่กังวล ลั่้นไม่มีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง แค่ทำตามอุดมการณ์ "ทนาย" บอกเรื่องถอนประกันยังมาไม่ถึง อุ๊งอิ๊งโวทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อไทยไม่หนุนความรุนแรง "สว." พร้อมใจใส่เสื้อสีม่วง จี้รัฐบาลหามาตรการป้องกัน ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก

 เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.พ.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน กับพวก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร ป่วนขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. โดยที่รัฐสภา  บริเวณหน้าห้องประชุมวุฒิสภา ชั้น 2 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา  (สว.) นำ สว. พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดกิจกรรมสวมใส่เสื้อผ้าสีม่วง รวมตัวแสดงพลังในการปกป้องและถวายกำลังใจแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(มค)/98 ลงวันที่ 12 ก.พ.2567 ระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์  รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของสังคม จึงให้ บช.น. ดำเนินการ ดังนี้ 1.กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิด และหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วยหรือไม่  และ 2.กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก

อีกด้านหนึ่ง พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ได้นำพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐชนน ไพโรจน์ หรือแฟรงค์ กรณีมีพฤติกรรมพยายามก่อกวนและใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่อารักขาความปลอดภัย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมาตรา 116 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน แต่มั่นใจว่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ขออำนาจศาลในการออกหมายจับได้

พล.ต.ต.อัฏธพรกล่าวว่า การสืบพยานหลักฐานในครั้งนี้ ผู้พิพากษามีกระบวนการที่เข้มข้น โดยเรียกตนเองไปไต่สวนเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยมีเอกสารกว่า 100 แผ่น พยานหลักฐานที่เป็นสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ยืนยันว่าไม่ได้มีการยัดข้อหาเรารวบรวมพยานหลักฐานมานานมากกว่า 7 วัน โดยเก็บหลักฐานทุกช่องทางเพื่อขออำนาจศาลในครั้งนี้

ส่วนบรรยากาศที่ศาลอาญา น.ส.ทานตะวันและนายณัฐชนนมาปรากฏตัวอยู่ที่หน้าศาลอาญา หลังมีกระแสข่าวตำรวจอยู่ระหว่างขอหมายจับ โดย น.ส.ทานตะวันและนายณัฐชนนนั้นเดินทางมาเพื่อให้กำลังใจนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ ที่พนักงานสอบสวนคุมตัวมาฝากขัง หลังถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาสนับสนุนการทำให้โบราณสถานเสียหายจากการลงพื้นที่ทำข่าวเหตุการณ์ที่รั้ววัดพระแก้ว วันที่ 28 มี.ค.2566

ทั้งนี้ ตลอดช่วงสายที่ น.ส.ทานตะวันอยู่ที่ศาลอาญาจะนั่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนบริเวณบันไดศาล และบริเวณริมขอบถนนทางเดินของศาล โดยมีมวลชนที่สนับสนุน น.ส.ทานตะวันมากอดปลอบให้กำลังใจ ซึ่ง น.ส.ทานตะวันมีสีหน้านิ่งค่อนข้างเคร่งเครียด และรวมตัวอยู่กับกลุ่มเพื่อนตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ  นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับในคดีทำให้โบราณสถานเสียหายของ สน.พระราชวัง ก็มานั่งรวมอยู่ในกลุ่มด้วยเช่นกัน

ตะวันลั่นไม่มีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง

น.ส.ทานตะวันระบุว่า ตั้งใจเดินทางมาให้กำลังใจเพื่อนนักข่าวที่ถูกจับกุม และเพิ่งมาทราบว่าก็กำลังจะมีหมายจับ ดังนั้นก็จะไม่หนี ไม่กลัว หากจะจับก็มาที่ศาลอาญาได้เลย จะรออยู่ที่นี่

“มีความพยายามปลุกปั่นว่ามีคนอยู่เบื้องหลังปลุกเยาวชน ยืนยันว่าไม่มีใครและกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีแต่อุดมการณ์ และออกมาด้วยใจล้วน  เพื่อเป็นการตั้งคำถามในการยืนยันสิทธิและเสรีภาพ และมองว่าปัจจุบันคนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อไอโอจากภาครัฐ ส่วนที่มีการพยายามโยงพรรคการเมืองมาถึงกลุ่มพวกตนเองนั้น ยืนยันว่าไม่มีพรรคการเมืองใดๆ เช่นเดียวกัน” น.ส.ทานตะวันกล่าว และย้ำว่า ไม่ได้กังวล และไม่ได้กลัวอะไรเ พราะยืนยันในจุดยืนเดิม แต่ขออย่าถอยหลังกลับไปในปี 2519 และขออย่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการไอโอ

ถามว่า ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์น่าจะมีบุคคลให้คำแนะนำในการกระทำและเคลื่อนไหว น.ส.ทานตะวันกล่าวว่า อย่าเพ้อเจ้อ เพราะที่ตนออกมาแสดงออกเป็นการทำเพื่ออุดมการณ์อย่างแท้จริง ส่วนการตั้งคำถามในทุกกิจกรรม ที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ใหญ่คนไหนมาตอบคำถาม มีแต่ออกหมายจับและนำตัวเข้าคุก

"หากผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรับฟังข้อเรียกร้องและคำถามของตน ก็พร้อมพร้อมยินดีที่จะหันหน้าเข้ามาคุยกันโดยสันติ พร้อมที่จะยกมือไหว้และแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชน" น.ส.ทานตะวันกล่าว

ต่อมาในเวลาประมาณ 16.40 น. หลังศาลพิจารณาคำร้องพยานหลักฐาน และไต่สวนพยานแล้วมีคำสั่งให้ออกหมายจับ น.ส.ทานตะวัน 2 ข้อหา ฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนนายนายณัฐชนน ศาลสั่งออกหมายจับรวม 4 ข้อหา ฐานยุยงปลุกปั่น, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.จราจร และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล 9 แสดงตัวนำหมายจับ สน.ดินแดง เข้าควบคุมตัว น.ส.ทานตะวันและนายณัฐชนนที่หน้าศาลอาญา และควบคุมตัวนายสายน้ำอีก 1 รายด้วย

ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส  ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน   ในฐานะทนายความของ น.ส.ทานตะวันกล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวน 3 สถานีตำรวจนครบาลยื่นคำร้องผ่านอัยการเพื่อให้ยื่นศาลขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีมาตรา 112 ว่า ในการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลจะมีการแจ้งมายังนายประกันและจำเลยให้มาศาลในวันนัดพิจารณา เพื่อสอบถามว่าจะคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของ น.ส.ทานตะวัน จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจาก น.ส.ทานตะวันว่ามีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันใด เข้าใจว่าตำรวจเพิ่งจะยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 ก.พ. คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องดูตามความเป็นจริง จะบอกว่าใช้สิทธิเสรีภาพก็พูดได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง เรื่องที่เกิดขึ้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ข้อเท็จจริง ประเด็นไหนที่ไปละเมิดกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม

อึ้ง! อุ๊งอิ๊งบอกให้ยึดหลักกฎหมาย

 “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ใครที่จะใช้สิทธิเสรีภาพก็ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง การใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละประเทศมีขอบเขต และไม่อยากให้นำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ และจะมีคนเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวไม่สามารถรู้ได้ แต่หลักการคือไม่ควรเข้าไปเกี่ยว ไม่ควรทำอะไรก็ตามที่เหมือนเป็นการหนุนหลัง ให้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยไม่พึงประสงค์ และจะผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง”

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า จุดยืนของพรรค พท.ไม่สนับสนุนความรุนแรง เราสนับสนุนสิทธิเสรีภาพแน่นอน คนไทยทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย หากเราไม่เคารพตามกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ อยู่ยาก เพราะเราต้องมีกฎหมายให้คนส่วนมากอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่บางกฎหมายที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ถูกใจ ก็ต้องคุยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราต้องมีหลักเกณฑ์หลักการก่อนว่าหากจะแก้กฎหมายเราจะต้องพูดคุยกันในสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว เราไม่สนับสนุนความรุนแรง และแน่นอนว่าบุคคลสำคัญต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย ต้องมีคนดูแล ย้ำว่าเรื่องนี้จุดยืนของเราคือต้องมีคนดูแล และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยากให้มีการคุยกันเป็นระบบ คุยกันในสภาแบบมีวุฒิภาวะ ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง

  ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี สส.พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมยื่นญัตติด่วนทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ รวมถึงแนวทางป้องกันปราบปรามพฤติกรรม ข่มขู่ ท้าทาย ให้ร้ายสถาบันว่า เรื่องนี้ก็เป็นการแสดงความกังวลและแสดงความจงรักภักดีของ สส.พรรคภูมิใจไทย คงมีการอภิปรายและเสนอที่เขาเห็นว่าสมควรได้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แม้กฎหมายที่มีในปัจจุบันถ้าเราทำตามอย่างเคร่งครัดก็เพียงพอดำเนินการกับคนจาบจ้วง และละเมิดสถาบันได้

ปลูกฝังดีรักสถาบันในสายเลือด

 “คนที่เป็นคนไทยที่ถูกปลูกฝังมาดี มีพื้นฐานครอบครัวที่ดี มีการอบรมสั่งสอนที่ดี เขาจะมีความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสายเลือดโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจะไปห้ามเขาแสดงความห่วงใยของสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของพวกเขาก็คงห้ามไม่ได้ ก็ขอให้ทำด้วยความรัก ความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ใช่ไปท้าตีท้าต่อยกับใคร เพราะเป็นเพียงการให้กำลังใจบุคคลอันเป็นที่รักของเรา”

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องป่วนขบวนเสด็จฯ ว่าเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่อยากให้ขยายความมากกว่านี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเช่นกันว่า ก็ว่าไปตามกฎหมาย และเมื่อถามถึงจุดยืนของพรรค พปชร.ในการปกป้องสถาบัน ยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า แน่นอน 

ส่วนที่รัฐสภา มีการประชุม สว. โดยมีนายพรเพชรทำหน้าที่ประธาน ซึ่งก่อนเข้าวาระ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สว. หารือถึงการป้องกันการป่วนขบวนเสด็จฯ ว่า ฝากถึงนายกฯ และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้หรือไม่ ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก รวมทั้งต้องมีเครื่องมือป้องกัน ปราบปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก กฎหมายมีช่องโหว่ตรงไหนก็ต้องไปแก้ไข

ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน สว. หารือว่า มีความไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยกับการกระทำเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ   รัฐบาลต้องทำหน้าที่เชิงรุก เตือนสังคมไทยรับมือบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจนำไปเสี่ยงสู่ความขัดแย้งให้เกิดในลักษณะเป็นอารยะที่สุด แต่การดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ แต่ต้องระวังไม่ไปสร้างกระแสหรือเงื่อนไขให้เกิดการตอบโต้รุนแรงจากการยั่วยุของฝ่ายใด ประเทศไทยเคยมีบทเรียนเจ็บปวดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขอให้รัฐบาลระมัดระวังอย่างยิ่งยวด

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง จะบอกว่าเห็นด้วยคงพูดไม่ได้ แต่หวังว่าผู้ที่เคลื่อนไหวต่อสู้ต่างๆ ต้องใช้วุฒิภาวะศึกษา เรียนรู้ เก็บประสบการณ์ เพื่อที่จะทำให้รูปแบบและวิธีการของแต่ละคนของแต่ละกลุ่มไม่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ลุกลามบานปลายออกไป

“การใช้ความรุนแรง การใช้กำลังของทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตั้งสติ ใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กำลังในการแสดงออกหรือเอาชนะกันทางการเมือง ผมอยากให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเรื่องของวุฒิภาวะของผู้คนในสังคม”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง