‘ก.ก.’ชำแหละงบ ชงสูตรเลือกสสร.

ก้าวไกลประเดิมชำแหละงบประมาณปี 2567 นำร่อง “ศิริกัญญา”  บอกเคาะตัวเงินจริงแค่ 41% ข้องใจแห่ตัดงบสัปดาห์สุดท้าย “สุรเชษฐ์” อัดเละงบฝายซีเมนต์ ปูด สส.-สว.เบื้องหลังผลักดัน “ไอติม” ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำ 200 ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สัดส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้จัดแถลงข่าว Policy Watch ในหัวข้อ “รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ.” โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว คือหน่วยงานเริ่มใช้งบประมาณไปก่อนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และพอสภาเข้ามาพิจารณาเงินก้อน 3.48 ล้านล้านบาท ก็มีเกือบ 2 ล้านล้านบาทถูกอนุมัติและใช้ไปแล้ว สภาจึงมีอำนาจพิจารณาจริงจังแค่ 41% เท่านั้น ซึ่งวิธีการแบบนี้มีปัญหาและช่องโหว่ เพราะสิ่งที่พบการอนุมัติหลักเกณฑ์ว่าใช้อะไรได้ อะไรไม่ได้ มีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแค่คนคนเดียวที่มีอำนาจอนุมัติ เราเลยคิดว่าช่องโหว่ตรงนี้ควรได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือนายกรัฐมนตรี เพื่อมีผู้รับผิดชอบในส่วนที่สภาไม่สามารถอนุมัติได้

 “มีความพยายามที่จะเร่งตัดงบกันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการพิจารณา เช่น เรือฟริเกต ก็ตัดวันสุดท้าย การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือก็ถูกตัดวันสุดท้าย แต่มีการอุทธรณ์และคืนงบไป ยังมีอีกหลายรายการที่ตัดในห้อง กมธ.ใหญ่ ในส่วนแผนบูรณาการถูกตัดงบมากที่สุด เนื่องจากไม่มีเจ้าที่ ไม่มีเจ้าภาพ แต่สุดท้ายก็มีการอุทธรณ์” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ปีนี้ตัดงบไปได้ 9,024 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ก็จะถูกเฉลี่ยไปที่หน่วยงานที่ของบเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ไปลงที่งบกลาง โดยกระทรวงที่ได้งบเพิ่มคือกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเราเห็นว่าควรจะได้เงินสมทบประกันสังคม ส่วนกระทรวงที่ถูกตัดงบที่สุดคือกระทรวงกลาโหม โดยรายการใหญ่ที่สุดที่ถูกตัดคืองบจัดซื้อเรือฟริเกต รองลงมาคือกระทรวงมหาดไทย ในการตัดงบฝายซีเมนต์

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า โครงการที่เราสามารถตัดงบประมาณได้ก้อนใหญ่ที่สุด อันดับแรกคือการจัดซื้อเรือฟริเกต อันดับสองฝายดินซีเมนต์ ซึ่งโครงการนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และส่อแววทุจริตได้ง่ายมาก ซึ่งมี 8 เหตุผลในการตัดงบสร้างฝาย คือ 1.เป็นโครงการแจกเสื้อโหลชัดเจน 2.มีความเร่งรีบอย่างผิดสังเกต 3.มีการแทรกแซงกระบวนการพิจารณางบอย่างชัดเจน 4.หลายโครงการกำหนดงบต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อเลี่ยงการแข่งขัน 5.มีความจงใจหลีกเลี่ยงการประกันผลงาน 2 ปี 6.ไม่มีใบอนุญาตขอก่อสร้าง 7.แม้จะเป็นการสร้างฝายชั่วคราว แต่กลับมีราคาแพง และจะสร้างมลพิษถาวร และ 8.หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จำนนต่อเหตุผลทั้งหลาย และโครงการนี้ไม่มีการอุทธรณ์เพื่อขอดำเนินโครงการนี้ต่อ

“ยังมีข้อสังเกตอีก 4 ข้อ คือ 1.มี สว. และ สส.พรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่งอยู่เบื้องหลังการตั้งงบ 2.มีการโฆษณาเกินจริงไปมากว่าทำฝายแล้วจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ 3.การใช้ดินผสมซีเมนต์ การผสมสองวัสดุให้เป็นเนื้อเดียวกันในทางปฏิบัติทำได้ยาก และ 4.ฝายดินซีเมนต์จะเปลี่ยนสภาพลำน้ำให้กลายเป็นขั้นบันได ที่จะสามารถพังทลายได้ทุกเมื่อ” นายสุรเชษฐ์กล่าว

วันเดียวกัน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. เป็นตัวแทนพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายพริษฐ์กล่าวว่า เนื้อหาสาระที่ยื่นวันนี้คือการเพิ่มบท 15/1 เกี่ยวการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ 10 ข้อ คือ 1.เสนอให้ ส.ส.ร.ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทที่ 1 ส.ส.ร.แบบแบ่งเขต 100 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 ส.ส.ร.แบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งระบบเลือกตั้งที่มี ส.ส.ร.ทั้ง 2 ประเภทแบบนี้ เชื่อว่าจะทำให้ ส.ส.ร.มีตัวแทนที่มีความหลากหลาย มีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ และกลุ่มสังคม

2.กำหนดให้ ส.ส.ร.นั้น มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ตราบใดที่ไม่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255 3.กำหนดให้ ส.ส.ร.มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

4.กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร ส.ส.ร.ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล 5.กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งคณะ โดยใน กมธ.ยกร่างต้องประกอบไปด้วย ส.ส.ร. อย่างน้อย 2 ใน 3 ของ กมธ.  6.การจัดทำประชามติหลังจากที่ ส.ส.ร.ได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องถามประชาชนทั่วประเทศว่า เห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวทางนี้ก็เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 7.กำหนดให้ ส.ส.ร. มีอำนาจในการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา และให้ความเห็นชอบ 8.กำหนดให้ ส.ส.ร.สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภา หรือสภาหมดวาระ 9.ใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. จะถูกกำหนดให้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 5 ปี และ 10.การปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง