ตีปี๊บ‘เซลส์นิด’ ทัวร์14ประเทศ ลงทุน5แสนล.

นายกฯ ขอบคุณ รมต.แจงเวทีซักฟอกพร้อมเพรียง บอกจบไปด้วยดี  "รัฐบาล" แถลงผลงานโรดโชว์เซลส์นิด 6  เดือน เยือน 14 ประเทศ ดึงเงินลงทุนได้ 5.58 แสนล้าน "บีโอไอ" รับคำขอส่งเสริมลงทุนมูล 8.5 แสนล้าน สูงสุดในรอบ 9 ปี "วุฒิสภา" ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 "ปธ.กมธ.วิสามัญฯ สว.” เตือนรัฐคำนึงผลกระทบโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต-พักหนี้เกษตร-ขึ้นค่าแรง" แนะเก็บภาษีทุกชนิด “ปกรณ์วุฒิ” ปัดตั้งพรรคก้าวใหม่สำรองยุบก้าวไกล

ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร  ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26 มี.ค. เวลา 11.45 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม.ตนได้ขอบคุณรัฐมนตรีทุกท่านที่ได้เข้าร่วมชี้แจงการประชุมวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153 อย่างพร้อมเพรียง และไปตอบคำถาม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของ สว. ซึ่งจบไปด้วยดี

จากนั้นเวลา 12.00 น. ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการลงทุนและความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างชาติ

ม.ล.ชโยทิตกล่าวว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นายกฯ และคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศ 14 ประเทศ พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง โดยมีพันธกิจสำคัญในการนำเสนอวิสัยทัศน์ เจรจาด้านความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ และเข้าร่วมเวทีสำคัญระดับโลก ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมตามวาระงานแล้ว นายกฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบภาคธุรกิจต่างชาติเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ชักชวนการลงทุนและกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย ทั้งการพบปะผู้บริหารระดับสูง การนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสมาคมธุรกิจและหอการค้าชั้นนำ ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มูลค่า FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา" ประธานผู้แทนการค้าไทยกล่าว

ส่วนนายนฤตม์กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในภูมิภาค ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการและการทำงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ทั้งการดึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างขยายการลงทุน

นายนฤตม์กล่าวว่า ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงดำเนินมาตรการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และสนับสนุนผู้ผลิตรายเดิมให้สามารถปรับตัวได้

เซลส์นิดดึงลงทุน 5.58 แสนล. 

"ผลจากการดำเนินงานทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และจากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจ ICE ในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 รายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย" นายนฤตม์กล่าว

เลขาฯ บีโอไอกล่าวว่า ไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน Data Center และ Cloud Services ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม AI คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับ Hyperscale เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย รวมทั้งรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการจูงใจให้ภาคเอกขนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทผู้มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ

"การเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง ต้องมีการทำงานเพื่อเตรียมการก่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้อมูลเชิงลึก แพ็กเกจการลงทุนที่จูงใจและตอบโจทย์ต่อความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการทำงานเพื่อติดตามผลการประชุมอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานของนายกฯ ร่วมกับทีมบีโอไอ เพื่อช่วยแก้อุปสรรคปัญหา รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยเอื้อต่อการลงทุน ซึ่งในส่วนนี้นายกฯ และทีมรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยบีโอไอได้ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท” เลขาฯ บีโอไอกล่าว

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท มีการปรับลดกว่า 9 พันล้านบาท ตามที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว และพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของวุฒิสภา

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า สภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังจำนวน 118,361,135,000 ล้านบาท รายจ่ายหน่วยรับงบประมาณจำนวน 3,361,638,869,500 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีกรอบวงเงินใช้งบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2567 โดยการจัดทำงบประมาณปี 2567

ด้าน พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของวุฒิสภา รายงานว่า การประชุมได้ให้ความสำคัญเรื่องของผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการใช้จ่ายงบปี 67 กมธ.มีการประชุมทั้งสิ้น 45 ครั้ง โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 แต่มีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการคลังในการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภค และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว  แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ปี 2567 ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐปี 2567

วุฒิสภาไฟเขียวงบ 67

พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า แนวโน้มการลดลงของพื้นที่การคลังจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวม และภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้รัฐบาลขาดความยืดหยุ่นในการก่อหนี้ใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ รวมทั้งการขาดศักยภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการพักหนี้เกษตรกร การปรับเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาระการคลังที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ภาระดอกเบี้ยและการชำระคืนต้นเงินกู้ จากการดำเนินโครงการกระเป๋าตังค์ดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีระยะเวลาในการใช้หนี้เป็นระยะเวลานานเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับในช่วง 1-2 ปี

นอกจากนี้ ภาระทางการคลังที่ต้องชดเชยให้แก่สถาบันการเงินในโครงการพักหนี้เกษตรกร ปรับเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการประเมินว่าในการที่รัฐบาลมีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะทำให้พื้นที่การคลังเหลือเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น อาจไม่เพียงพอในการรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บรายได้ กมธ.มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.การจัดเก็บภาษีทุกชนิด โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องขยายการจัดเก็บทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม จะต้องไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มีมาตรการจัดการกับผู้หลบเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปธรรม 2.รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ประกอบไปด้วยรัฐวิสาหกิจที่ไม่ขอรับงบประมาณ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพิ่มจำนวนการนำส่งเงินเป็นรายได้ให้รัฐมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับประชาชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่ของรับงบ ควรให้การลงทุนในโครงการเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด เพื่อสามารถเปิดกิจการและมีรายได้จากการบริการประชาชน จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล หากมีผลประกอบการที่ดีจะช่วยส่งรายได้ให้รัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาใช้เวลาพิจารณารวมเกือบ 7 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 16.10 น. ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ด้วยคะแนน 178 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 เสียง 

วันเดียวกัน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรอบระยะเวลาการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ว่า กำลังพิจารณาว่าจะให้งดประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทุกพรรคฝ่ายค้านเตรียมตัวอภิปรายอย่างเต็มที่ ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวนผู้อภิปรายอยู่ที่ประมาณ 30 คน แบ่งหมวดหมู่ในเรื่องประเด็นเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชัน ซีรีส์การเมือง การศึกษา สิ่งแวดล้อม สังคม ส่วนการเรียงลำดับอภิปราย ขอไปพูดคุยกันอีกครั้งก่อน

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีรายงานความคืบหน้ากรณีศาลรัฐธรรมนูญยังไม่พิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีเอกสารบางรายการที่ กกต.ส่งไปไม่ชัดเจนว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา กกต.ได้ส่งเอกสารฉบับที่ชัดเจนให้ศาล รธน.แล้ว

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลว่า ให้สัมภาษณ์นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก.ก. ดีกว่า เนื่องจากตนไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าเรื่องถึงไหนแล้ว

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ปฏิเสธข่าวการตั้งพรรคก้าวใหม่แทนพรรคก้าวไกลหากถูกสั่งยุบพรรค โดยระบุว่า เรื่องยุบกับไม่ยุบเราไม่ได้มาคุยกันในเรื่องความน่าจะเป็น เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือเรา แน่นอนว่าหากไม่ยุบก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ทำงานเหมือนเดิมต่อไป แต่หากโดนยุบ ก็ไม่ทำอะไรมากเหมือนกัน ก็ทำงานเหมือนเดิมต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ลุยสวน ชิมทุเรียน 3 สายพันธุ์

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางด้วยรถยนต์อัลพาร์ด สีดำ ทะเบียน 8 กผ 1127 กรุงเทพมหานคร ถึงสวนนวลทองจันทร์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพปลอดภัยมูลค่าสูง และรับฟังปัญหาจากเกษตรกร