คลัสเตอร์ปีใหม่พรึ่บ! สังสรรค์ไม่ป้องกันตนเองคาดก.พ.ติดเชื้อ3หมื่น/วัน

“บิ๊กตู่” จับตา “เดลตาครอน” ชี้ยังไม่มีรายงานทางการยืนยัน “หมอศุภกิจ” เชื่ออาจเกิดจากการปนเปื้อน ฟันธงซื้อหวยไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่หรือไฮบริดแน่ “ศบค.” แจงผู้ติดเชื้อใหม่ 7,926 ราย เสียชีวิต 13 ราย ชี้เดลตายังครองตลาดมีโอมิครอนตามมาติดๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบถึง 70% เผยคลัสเตอร์พรึ่บจากหย่อนยานป้องกันตัวเอง  ส่อแววปลาย ก.พ.เห็นติดเชื้อวันละ 3 หมื่นแน่ กำชับ 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุด และจังหวัดท่องเที่ยวเตรียมเตียงรองรับ สธ.ชี้โรงพยาบาลพร้อมโดยเฉพาะเตียงสีเขียวยอดใช้พุ่งพรวด

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในสาธารณรัฐไซปรัส ที่ตั้งชื่อว่าเดลตาครอน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่เป็นทางการออกมา แต่กรมวิทย์ได้ติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนเร็วๆ นี้  ขณะเดียวกันศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 25 ตัวอย่างจากฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) ซึ่งไซปรัสได้อัปโหลดไว้มาวิเคราะห์ และพบว่ารหัสพันธุกรรมทั้ง 25  ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจปนเปื้อนสารพันธุกรรมของโอมิครอนเข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม แต่ย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน จึงอาจต้องใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ

 “ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดเกี่ยวกับกรณีการพบเชื้อโควิด-19  กลายพันธุ์เดลตาครอน จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกตกใจเกินไป  และขอให้มั่นใจว่าหากเกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นจริง หน่วยงานทางการแพทย์ของไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ตรวจพบได้แน่นอนไม่ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน ขอให้ประชาชนยังคงเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม” นายธนกรกล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  ข้อมูลของเดลตาครอนจากฐานข้อมูลโควิดโลกที่ผู้เชี่ยวชาญไซปรัสส่งข้อมูลไป มีการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าใน 24 ตัวอย่าง มีการกลายพันธุ์ทั้งในส่วนที่เป็นเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน แต่จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ว่าส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันไป ซึ่งสำคัญมากเพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ ต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกัน ไม่ใช่ตรวจแล้วมีแค่ฟากเดียวที่แตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์  เพราะฉะนั้นที่ไซปรัส GISAID ยังจัดชั้นการค้นพบ 24 ตัวอย่างนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด

 “กรณีที่เกิดขึ้นโอกาสเกิดได้มากที่สุดคือ เรื่องการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจ คือติดเชื้อเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน  ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน อีกหนึ่งอย่างที่อาจเป็นไปได้แต่ไม่มากคือ การติด 2 สายพันธุ์ในคนเดียวซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ฉะนั้นถ้าซื้อหวยก็ฟันธงได้เลยว่าที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสมเป็นไฮบริดนั้น โอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแรกเตอร์ที่เจอ แต่กรมวิทย์ก็จะติดตามข้อมูลต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

90% ต่างชาติติดเชื้อโอมิครอน

สำหรับการติดตามโอมิครอนมาเกือบ 2 เดือน ขณะนี้พบเชื้อโอมิครอน 5,397 ราย ในวันก่อนหน้าพบอีก 715 รายครบทุกเขตสุขภาพ ครอบคลุม 71 จังหวัด มีเพียง 6 จังหวัดที่ไม่มีรายงาน คือ น่าน, ตาก, ชัยนาท, อ่างทอง, พังงา และนราธิวาส ส่วน 10 จังหวัดที่พบโอมิครอนเกิน 100 ราย คือ กทม. 1,820 ราย ติดในประเทศ  270 ราย, ชลบุรี 521 ราย ติดในประเทศ 295 ราย, ภูเก็ต  288 ราย ติดในประเทศ 17 ราย, กาฬสินธุ์ 249 ราย ติดในประเทศ 247 ราย, ร้อยเอ็ด 237 ราย ติดในประเทศ 237 ราย,  สมุทรปราการ 222 ราย ติดในประเทศ 27 ราย, สุราษฎร์ธานี 199  ราย ติดในประเทศ 19 ราย, มหาสารคาม 163 ราย ติดในประเทศ  163 ราย, อุดรธานี 149 ราย ติดในประเทศ 149 ราย และขอนแก่น 136 ราย ติดในประเทศ 136 ราย 

 “ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศแล้วตรวจพบเชื้อนั้น 90% เป็นโอมิครอน ส่วนที่ติดในประเทศราว 58 % นั้นเป็นการตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจสูงเกินจริง  จึงได้มอบหมายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศปรับการตรวจด้วยการสุ่มตรวจสายพันธุ์สัปดาห์ละ 140 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้สัดส่วนสถานการณ์โอมิครอนจริง” นพ.ศุภกิจกล่าวและว่า กรมวิทย์ยังได้สุ่มทดสอบชุดตรวจ ATK  พบว่าทั้งหมดสามารถตรวจจับเชื้อโอมิครอนได้ แต่ไม่มีชุดตรวจ ATK  ที่ตรวจโอมิครอนได้เฉพาะ ถ้ามีการโฆษณาว่าตรวจโอมิครอนได้ก็เป็นของเก๊

ส่วน พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,926 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,277,476 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,612 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 2,197,479 ราย อยู่ระหว่างรักษา 58,159 ราย อาการหนัก 495 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 115 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13  ราย เป็นชาย 4 ราย หญิง 9 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 21,838 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของไทยเมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 138,885 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 106,475,122 โดส

พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีการตรวจหาเชื้อแบบ  ATK จำนวน 52,329 ราย พบผลเป็นบวก 1,262 ราย มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่กรมวิทย์ได้ให้ข้อมูลว่าจากการสุ่มตรวจจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตั้งแต่เดือน พ.ย.64-9 ม.ค.65 พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 64.71% และโอมิครอน 5,397 ราย  คิดเป็น 35.17% กระจายตัวไปแล้วเกือบทั่วประเทศ 71 จังหวัด  แต่หากดูเฉพาะสัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 2-8 ม.ค. พบเป็นโอมิครอนถึง 70.3% และเดลตา 29.7%

คาดปลาย ก.พ.ติดวันละ 3 หมื่น 

พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 9  ม.ค. ได้แก่ ชลบุรี 767 ราย, สมุทรปราการ 693 ราย, กทม.  534 ราย, ภูเก็ต 513 ราย, อุบลราชธานี 383 ราย, นนทบุรี  261 ราย, นครศรีธรรมราช 227 ราย, ขอนแก่น 203 ราย,  เชียงใหม่ 200 ราย และอุดรธานี 182 ราย โดยมีจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายใน 18 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) พื้นที่เศรษฐกิจ จังหวัดเหล่านั้นจึงต้องเข้มข้นมาตรการให้มากขึ้น  ขณะเดียวกันยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงที่ไม่ทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีการกระจายเชื้อไปยังชุมชนและครอบครัว รวมทั้งคลัสเตอร์การสังสรรค์จากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการรวมตัวกันของคนที่หนาแน่นในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี 

 “สถานการณ์ปัจจุบันผู้ติดเชื้ออยู่ในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ กรณีประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอัตราผู้ติดเชื้อช่วงปลายเดือน ม.ค.จะไปแตะที่วันละ 2 หมื่นราย และปลายเดือน ก.พ.จะไปแตะที่วันละ 3  หมื่นราย ขณะที่การคาดการณ์การเสียชีวิต สถานการณ์จริงในปัจจุบันยังต่ำสอดคล้องกับสถานการณ์โลก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว”

พญ.สุมนียืนยันว่า แนวโน้มผู้ป่วยที่สูงขึ้นในระลอกมกราคมปี  2565 ศบค.และ สธ.ได้เตรียมยกระดับการจัดการเอาไว้แล้ว จะต่างจากการระบาดหนักในช่วงระลอก เม.ย.64 เพราะขณะนั้นประชาชนคนไทยยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม และตอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวก็มีจำนวนมาก  และช่วงนั้นเราเพิ่งเริ่มทำระบบการกักตัวรักษาที่บ้าน (HI) และการดูแลรักษาในชุมชน (CI) แต่ตอนนี้ไม่เหมือนกับตอนนั้นแล้ว เพราะเรายกระดับเตรียมพร้อมในการเปิดการให้บริการแบบ HI และ CI 

 “จังหวัดที่ต้องเตรียมความพร้อมอย่างมากคือ จังหวัดที่ติดเชื้อจำนวนมาก 10 อันดับแรก และเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าหลักร้อย และจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อม ได้มีการเตรียมการทำแนวทางคือ หากมีผลตรวจ ATK เป็นบวกคือติด แต่มีอาการน้อยให้ติดต่อที่โทร.1330 หรือไลน์ @สปสช. แต่ถ้าในต่างจังหวัดให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอนั้นๆ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือในชุมชน” พญ.สุมนีกล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.แถลงว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งโลกและไทยนั้น แม้ติดเชื้อมากขึ้นแต่การเสียชีวิตลดลง เป็นการบอกว่าโรคอาจติดง่าย แต่ความอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้ลดความรุนแรงลงมาก ส่วนการคาดการณ์ใน 3 ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นตามมาตรการต่างๆ นั้น พบว่าขณะนี้การแพร่โรคค่อนข้างขึ้นมาเร็ว เป็นไปตามเส้นสีเทา คือพบติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 15,000-30,000 ราย ซึ่งหากมาตรการที่เรามีอยู่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดีก็จะควบคุมโรคได้ดี ทั้งนี้ สธ.​พยายามกดการติดเชื้อให้ลงไปตามลำดับ ขณะเดียวกันการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตกรณีที่ควบคุมไม่ดี ติดเชื้อมาก อัตราเสียชีวิตก็จะอยู่ในเส้นสีเทา หรือเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ  100-180 ราย ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นสีเขียวเล็กน้อย เฉลี่ยวันละ 20-60 ราย ถือว่าอัตราลดลง

ครองเตียงสีเขียวเพิ่มพรวด

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เตียงทั่วประเทศมีจำนวน 178,139 เตียง เมื่อวันที่ 9 ม.ค.พบอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเป็น 22.7% จากเดิมวันที่  31 ธ.ค.64 อยู่ที่ 11% โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราครองเตียงล่าสุดอยู่ที่ 30.7% และพบว่าเตียงระดับ 2 (สีเหลือง) และระดับ 3 (สีแดง) มีอัตราครองเตียงลดลง โดยวันที่ 31 ธ.ค.อัตราครองเตียงสีเหลืองทั่วประเทศอยู่ที่ 6.4% ส่วนวันที่ 9 ม.ค.65 ลดลงมาเหลือ 3.2% ส่วนเตียงสีแดงอัตราครองเตียงลดลงเหลือ  4.3% แต่พบว่าอัตราครองเตียงระดับ 1 (สีเขียว) เพิ่มขึ้นทั่วประเทศอยู่ที่ 34.1%

นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ต้องรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโอมิครอน และได้สั่งให้ตรวจเชื้อแบบเชิงรุก เพื่อเร่งแยกผู้ป่วย โดยล่าสุด สธ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตรวจโควิด-19 เชิงรุกที่ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อสนับสนุน กทม. โดยใช้ชุดตรวจ ATK รู้ผลใน 30 นาที ซึ่งหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้านหรือในระบบชุมชน หากอาการแย่ลงก็จะส่งเข้ารักษาใน รพ.ทันที โดยตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 ราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 11-21 ม.ค. และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ติดตามควบคุมราคาการจำหน่าย ATK  อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย  

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ  ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้ สธ.กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนอย่าปฏิเสธการรับผู้ป่วยเข้ารักษา หากเกิดกรณีผู้ป่วยเต็มให้ประสานงานส่งต่อผู้ป่วยให้เร็วที่สุด โดยนายกฯ มีความกังวลต่อกรณีที่มีการปฏิเสธไม่รับเด็กเข้ารักษา เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อยเพราะยังไม่ได้รับวัคซีนเหมือนผู้ใหญ่ นอกจากนี้นายกฯ ยังกำชับให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่เชี่ยวชาญการดูแลรักษาโรคเด็ก ให้เตรียมการพร้อมเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดเด็กทุกกลุ่ม ทุกระดับอาการ และเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยเด็กแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้เตรียมความพร้อมทั้งสถานพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ไว้รองรับ สำหรับเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาขาดแคลน และมีการติดตามต่อเนื่อง ส่วนกรณีชุดตรวจ ATK ขาดตลาด ได้มอบนโยบายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งจัดหาเพิ่มให้มากที่สุด  ด้วยวิธีการประมูลเนื่องจากจะได้ราคาที่ดีกว่า และขายที่ราคาต้นทุนเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง