โอมิครอนทุบศก. กดจีดีพีเหลือ3.4 เงินคงคลังยังอื้อ

“ธปท.” คาด "โอมิครอน" ทุบเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกปี  65 บริโภค-ส่งออก-ท่องเที่ยวมีสะเทือน กดจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.4%  ก่อนฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นในปี 66 ที่ 4.7% จับตาเงินเฟ้อพุ่ง มองแค่ปัจจัยชั่วคราวหลังราคาน้ำมัน-ค่าไฟขยับ เปิดฐานะการคลังช่วง 2  เดือนแรกปีงบ 65 รายได้นำส่งคลัง 3.47 แสนล้านบาท เบิกจ่าย  7.67 แสนล้านบาท รัฐลุยกู้ชดเชยขาดดุล 2.49 แสนล้านบาท เงินคงคลังแน่นถัง 4.29 แสนล้านบาท

เมื่อวันจันทร์  นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ได้แก่ ผลกระทบระยะสั้นจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน, การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน และตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ

สำหรับประเด็นเงินเฟ้อนั้น เบื้องต้นมองว่าไม่น่าจะเป็นปัจจัยยืดเยื้อ และในประเทศไทยไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น โดยนโยบายการเงินจะยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจต่อไป แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี  2565 เชื่อว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น จากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท.พร้อมเข้าไปดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหากเกินเลยและเป็นภาระต่อเศรษฐกิจ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในปี 2565 เริ่มเห็นผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนแล้ว และถือเป็นความเสี่ยงสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และจะส่งผ่านไปทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในเรื่องการบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะลดลงเหลือ 5.6 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 6  ล้านคน เนื่องจากผลกระทบของโอมิครอนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2/2565 ก่อนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 90% จะทยอยกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจากข้อสมมุติฐานของ ธปท. ประเมินว่าผลกระทบของโอมิครอนจะอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นสำคัญ ซึ่งได้ใส่ไว้ในคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้แล้ว  โดยลดลงมาอยู่ที่ 3.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9%

 “โอมิครอนเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากข้อสมมุติฐานของ ธปท.คาดว่าโอมิครอนจะแพร่เชื้อสูงกว่า แต่การกระจายวัคซีนได้ดีจะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และมองว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยหนักได้ ดังนั้นการตอบสนองของมาตรการภาครัฐจะไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมในวงกว้าง แต่เป็นการควบคุมในพื้นที่ที่ระบาดหนักแทน  และมองว่าการยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก (Test&Go) จะเป็นแค่ชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เท่านั้น ขณะที่ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ทยอยหมดลงในไตรมาส 2/2565 หลังจากเร่งออกในปีที่แล้วค่อนข้างเยอะ ทำให้เม็ดเงินในส่วนนี้ที่จะออกในปีนี้น้อยกว่าปีก่อน รวมถึงปัญหาซัพพลายดิสรัปชัน (สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน) ยืดเยื้อ ทำให้ครึ่งแรกของปีมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ ก่อนจะกลับมาสมดุลมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและต่อเนื่องถึงปีหน้า” นายสักกะภพกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเข้มแข็งมากขึ้น โดยขยายตัวที่ระดับ 4.7% ซึ่งเป็นระดับการฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด -19 จากอุปสงค์ในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับมา คาดว่าอยู่ที่ระดับ 20  ล้านคน

นายสักกะภพกล่าวอีกว่า ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากปัจจัยอุปทาน และปัญหาซัพพลายดิสรัปชันในภาคการผลิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายก่อนทยอยปรับลดลง โดย ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จาก 1.4% เป็น  1.7% จากปัจจัยด้านอุปทาน อันได้แก่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ ขณะที่ปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 0.3% ตามการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนปี 2566  คาดว่าอยู่ที่ 0.7% เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ  2565 (ต.ค.-พ.ย.64) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน  347,430 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 767,400 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ  419,970 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 249,915  ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.64 มีจำนวนทั้งสิ้น  429,904 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565  (ต.ค.-พ.ย.64) ว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 361,955  ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 18,139 ล้านบาท หรือ 5.3% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 28,366 ล้านบาท หรือ 8.5%

ทั้งนี้ 3 กรมภาษี (กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) สามารถจัดเก็บรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ  2565 (ต.ค.-พ.ย.64) รวมกันอยู่ที่ 351,795 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,976 ล้านบาท หรือ 2.9%  และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 17,158 ล้านบาท หรือ 5.1%

ขณะที่รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้อยู่ที่ 43,308 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5,659 ล้านบาท หรือ 15%  และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 20,611 ล้านบาท หรือ 90.8%  และหน่วยงานอื่นสามารถนำส่งรายได้อยู่ที่ 18,462 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5,083 ล้านบาท หรือ  21.6% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,261 ล้านบาท หรือ  6.4%

โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด  (มหาชน) และธนาคารออมสินที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากประมาณการของกรมสรรพสามิตได้รวมผลของการปรับโครงสร้างภาษีไว้ ซึ่งถูกชะลอการดำเนินการออกไปก่อน ประกอบกับมีการปรับลดอัตราค่าปรับและค่าธรรมเนียมของส่วนราชการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง