กทม.ติดเชื้อพุ่ง เร่งตรวจเชิงรุก บูสเตอร์เข็ม3

ยอดผู้ติดโควิด กทม.พุ่งสูง  พบสถานที่ปิด ร้านอาหารกึ่งผับ หอพัก นศ. แฟลต ตร.ติดเชื้อเพิ่ม กทม.ตรวจโควิดเชิงรุกวันละกว่า 4 พันคน เร่งฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ให้ประชาชน ทยอยส่งแอสตร้าฯ เข็มกระตุ้น รับมือได้ดีทุกสายพันธุ์

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,167 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,862 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,784 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 78 ราย, มาจากเรือนจำ 66 ราย,  เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 239 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,845 ราย อยู่ระหว่างรักษา 70,594 ราย อาการหนัก 520 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 110 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 6 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ราย โรคเรื้อรัง 3 ราย เสียชีวิตมากที่สุดใน จ.นครราชสีมา 3 ราย  สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 832 ราย, กรุงเทพฯ 790 ราย, สมุทรปราการ 625 ราย

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 พื้นที่ กทม. ว่าการติดเชื้อกระจายทุกกลุ่มอายุและทุกเขต ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อสูงคือ 1.พื้นที่เสี่ยงและแหล่งชุมชนคือสถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับที่มีการระบายอากาศไม่ดี โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 รายในทุกคลัสเตอร์ และที่เริ่มพบมากขึ้นคือหอพักนักศึกษาและแฟลตตำรวจที่มีความแออัด และ 2.กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือพบผู้ป่วยยืนยัน

 ขณะนี้ กทม.มีการระบาดและแนวโน้มตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ 1.ร้านอาหารกึ่งผับ ซึ่งร้านที่เปิดได้นั้นจะผ่านการประเมินและได้รับใบรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม.จัดทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่สุ่มตรวจมาตรฐาน SHA+ และ COVID Free Setting หากเป็นไปตามข้อร้องเรียนจะให้ปิดปรับปรุง  แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือเกิดซ้ำก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะเพิกถอนการรับรองมาตรฐาน

 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ส่วนใหญ่รับเชื้อจากชุมชนและบุคคลใกล้ชิด ไม่ได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว อาการจึงไม่รุนแรง และสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นกระทบการรักษาพยาบาล โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.ได้ทำจดหมายไปยังสถานพยาบาลทุกแห่ง เน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยสงสัย เนื่องจากไม่อยากให้มีการติดเชื้อในสถานพยาบาล และ 3.กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการติดเชื้อใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นมายังมาจากผู้อาศัยแถบปริมณฑล เมื่อป่วยแล้วพยายามเข้ามารักษาใน กทม. และบริษัทห้างร้านรอบๆ กทม. ที่มีสัญญาดูแลรักษาสถานพยาบาลเอกชน ก็จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามาใน กทม.ด้วย

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกทม. พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์, พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย แถลงข่าวออนไลน์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทรงตัว ภาพรวมผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยเพิ่ม 790 ราย ขณะที่ กทม.ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกอย่างต่อเนื่องวันละกว่า 4,000 ราย ไม่รวมที่ตรวจใน รพ. และที่ประชาชนไปตรวจเอง พบอัตราการติดเชื้อร้อยละ 1-2

อย่างไรก็ตาม กทม.มีการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในรอบนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.การแพร่ระบาดจากชุมชน ซึ่งติดเชื้อจากการไปร่วมสังสรรค์ในชุมชน และ 2.การแพร่ระบาดจากร้านอาหารที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนั่งดื่มในร้านได้ ซึ่งมีการพูดคุยและใช้เวลาอยู่ในร้านอาหารนานขึ้น ซึ่งร้านอาหาร สถานประกอบการที่สามารถเปิดทำการได้ จะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด 100% และสถานประกอบการที่ปรับเป็นร้านอาหารต้องไม่จัดพื้นที่สำหรับเต้น โดยร้านจะต้องผ่านมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop Covid 2 Plus ซึ่งยื่นอนุญาตผ่านเขตภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้เท่านั้น หากผ่านมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้วสามารถเปิดให้บริการได้เลย  

นอกจากนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดทั้งหมด 10,000 เตียง ขณะนี้ผู้ครองเตียงร้อยละ 18.59 หรือประมาณ 1,700-1,800 เตียง ทั้งนี้ หากสถานการณ์จำเป็นต้องขยายเตียง กทม.สามารถเพิ่มเตียงได้อีกถึง 20,000-30,000 เตียง เช่นที่ รพ.บางขุนเทียน, รพ.สนามเอราวัณ 1 และเอราวัณ 2 

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวอีกว่า การระบาดในรอบนี้ อัตราผู้ป่วยหนักไม่เท่ารอบที่ 1-4 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ร้อยละ 120, เข็มที่ 2 ร้อยละ 111 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 25 กทม.เร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ หรือเข็ม 3 ให้ประชาชนมากขึ้น ขณะนี้ กทม.มีจุดฉีดวัคซีน 101 จุด จะพยายามขยายจุดเพิ่มขึ้น ประชาชนสามารถจองคิวฉีดวัคซีนผ่านแอป QueQ ได้ เร็วๆ นี้จะเปิดจุดฉีดใหญ่ๆ ตามศูนย์การค้า

ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าเปิดเผยว่า ตลอดเดือนธันวาคม บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ChAdOx1-S [Recombinant]) จำนวนกว่า 15 ล้านโดส ให้กับกระทรวงสาธารณสุข รวมยอดส่งมอบวัคซีน ณ ปัจจุบันครบจำนวน 61 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้าจะทำการจัดหาวัคซีนเพิ่มอีกจำนวน 60 ล้านโดส ให้แก่ประเทศไทยสำหรับใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยจะทำการทยอยส่งมอบในปี 2565 ตามสัญญาการจัดซื้อวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้าและรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 ทั้งนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแอสตร้าเซนเนก้ารายงานข้อมูลใหม่จากการทดลองแสดงให้เห็นว่า หลังจากการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามเพิ่มการตอบสนองของแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เบตา เดลตา แอลฟา และแกมมา การวิเคราะห์เพิ่มเติมยังแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนหลังจากได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามอีกด้วย โดยการทดลองนี้สังเกตผลลัพธ์ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีน mRNA มาก่อน

 สำหรับสถานการณ์โควิดในหลายจังหวัดพบว่า จ.สงขลา พบติดเชื้อรายใหม่ 84 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสม 67,789 ราย เสียชีวิตสะสม 314 ราย จุดที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงเดือน ม.ค.65 ได้แก่ ร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารที่แปลงสภาพมาจากผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นจุดเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด และอาจมีการระบายอากาศไม่ดี โดยขอความร่วมมือจากที่ทำการปกครองจังหวัด ในการสำรวจและชี้เป้าสถานประกอบการเป็นรายอำเภอ เพื่อที่สาธารณสุขจะได้เข้าไปแนะนำและดำเนินมาตรการ COVID Free Setting นอกจากนั้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวในโรงงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการที่รับพนักงานใหม่หรือพนักงานที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ตลาดสดและตลาดนัด

 ที่จังหวัดตรัง พญ.ทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 15 ราย ก็จะเป็นรายใหม่คือตั้งแต่รายที่ 10-15 รายที่ 10 เป็นเพศชาย อายุ 55 ปี สัญชาติออสเตรีย อาชีพทำงานอสังหาริมทรัพย์ เดินทางมาจากประเทศออสเตรีย เข้าโครงการ Test & Go พื้นที่สัมผัสโรค จ.เชียงใหม่ ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต มีอาการมาก่อน ผู้ป่วยท่านนี้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มด้วย รายที่ 11 เป็นหญิงไทย อายุ 64 ปี เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้ป่วยที่เข้าข่ายผู้ป่วยสอบสวนโรค ภูมิลำเนาการสัมผัสโรคมาจากเชียงใหม่เช่นกัน ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต ท่านนี้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด เป็นซิโนแวค 2 เข็ม และเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และมีอาการไข้หวัดนำมาก่อน รายที่ 12-13 เป็นผู้ป่วยต่างชาติ รายที่ 12 เป็นชาย อายุ 31 ปี เบลเยียม เป็นพนักงาน รายที่ 13 เป็นหญิง อายุ 25 ปี สัญชาติเบลเยียมเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เดินทางมาจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เข้าโครงการ Test & Go ก่อนที่จะมาถึงตรัง สองคนนี้มาอยู่ที่เกาะมุก อ.กันตัง จ.ตรัง ทั้งคู่ไม่มีอาการผิดปกติมาก่อน แล้วก็ทั้งคู่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 

ต่อมารายที่ 14 เป็นหญิง อายุ 23 ปี เป็นคนไทย แต่ยังไม่ได้ระบุอาชีพชัดเจน ท่านนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมืองฯ จ.ตรัง ก็มีอาการที่เข้าข่ายสงสัยโควิด ผู้ป่วยท่านนี้ได้รับวัคซีน 3 เข็ม เป็นซิโนแวคเข็ม 1 และ 2 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 และสุดท้ายเป็นผู้ป่วยรายที่ 15 เป็นเด็กหญิง อายุ 12 ปี สัญชาติไทย เป็นนักเรียน ประวัติเดินทางไปเที่ยวภูเก็ตกับครอบครัว และเข้าข่ายผู้ป่วยสอบสวนโรค ภูลำเนาอยู่ที่ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง คนนี้ก็ได้รับวัคซีนไฟเซอร์มาแล้ว 2 เข็ม 

ทางด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 12 ม.ค.2565 พบผู้ป่วย 140 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 120 ราย ในจำนวนนี้พบมากที่สุดในพื้นที่ อ.เมืองฯ 39 ราย และติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 20 ราย ซึ่งติดเชื้อมาจากจังหวัดเสี่ยงทั้งหมด

จ.ลำปาง ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นล่าสุด จำนวน 120 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจแบบ RT-PCR รวม 62 ราย และแบบ ATK รวม 58 ราย โดยเป็นยอดที่ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว มาจาก 2 ปัจจัยคือ การเดินทางเข้ามายัง จ.ลำปาง แล้วมีการรวมกลุ่มสังสรรค์ฉลองเทศกาลปีใหม่ และจากปัจจัยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว จึงมีการออกตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง