สังเวยโอมิครอน1ราย

ไทยติดเชื้อใหม่​ 8​ พันราย​ ดับ​ 9​ ราย​ เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด  สธ.แจงผู้เสียชีวิตลดลง เหตุฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก-ความรุนแรงโควิดน้อยลง แต่ยังประมาทไม่ได้ ยกอุทาหรณ์โอมิครอนคร่าหญิงชราสงขลารายแรกของไทยแม้ฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม ติดจากญาติที่มาเยี่ยมช่วงปีใหม่  ย้ำกลุ่มเสี่ยง 608 กระตุ้นเข็มสาม

เมื่อวันที่​ 16 มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่  8,077 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,784 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,724 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 60​ ราย  มาจากเรือนจำ 11​ ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 282 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน​ 2,324,485  ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,887 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 2,222,011 ราย อยู่ระหว่างรักษา 80,549 ราย  อาการหนัก 509 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 106 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 9​  ราย เป็นชาย 5​ ราย หญิง 4​ ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9  ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,925 ราย  ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 453,273 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28  ก.พ.64 ทั้งสิ้น 109,369,708 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 326,786,853 ราย เสียชีวิตสะสม 5,553,734  ราย 

สำหรับ​ 10​ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่​ 16​ ม.ค. ได้แก่​ กทม.​ 789 ราย,​ สมุทรปราการ​ 705 ราย,​ ชลบุรี​ 692 ราย,​ ภูเก็ต​ 400​  ราย​, นนทบุรี​ 387 ราย​, ปทุมธานี​ 287 ราย,​ ขอนแก่น​ 278 ราย​,  อุบลราชธานี​ 262 ราย,​ เชียงใหม่​ 183 ราย​ และระยอง​ 183​ ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฝากเตือนประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดและสวมหน้ากากอนามัย 100% รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนรีบเข้ารับบริการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 โดยเร็ว เพื่อสร้างภูมิต้านทานและลดอาการรุนแรงของโควิด-19 ส่วนกรณีวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับเด็กอายุ  5-11 ขวบนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ขวบ คาดว่าจะเริ่มทยอยเข้ามาในประเทศไทยปลายเดือน ม.ค.หรือ ก.พ. โดยไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของทวีปเอเชียในการสั่งวัคซีนมาใช้กับเด็กอายุ 5-11 ขวบ 

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบเรียบร้อยแล้ว ส่วนวัคซีนเชื้อตายสำหรับฉีดให้เด็กทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม อย.กำลังเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายสำหรับฉีดในเด็ก ซึ่งต้องรอผ่านมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันก่อน  เมื่อผ่านแล้วผู้ปกครองจะสามารถเลือกสูตรฉีดวัคซีนให้บุตรหลานของตนเองได้ด้วยความสมัครใจ 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 10 รายว่า เป็นไปตามข้อมูลที่สะท้อนออกมาต่อเนื่อง และเป็นไปตามคาดการณ์ที่ว่าหลังเทศกาลปีใหม่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจไม่มาก โดยวันที่ 16  ม.ค.พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนัก 509 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 108  ราย และเสียชีวิต 9 ราย จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเริ่มคงที่  ไม่มากเหมือนในอดีต ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรับวัคซีนที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาการของโรคไม่ได้มีความรุนแรง แต่จะก่อโรคหรืออาการรุนแรงในผู้ป่วยกลุ่ม 608 เท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะไม่พบผู้เสียชีวิตมากขึ้น แต่ยังประมาทไม่ได้ ต้องระวัดระวังตนเอง แม้ว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือดี สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมเสี่ยง และมีการ WFH แต่ยังต้องเข้มมาตรการต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่น่าไว้วางใจถึงค่อยมีการผ่อนคลายมาตรการ

ส่วนวันนี้ที่มีรายงานพบผู้เสียชีวิตติดเชื้อโอมิครอนนั้น ได้รับรายงานว่าเกิดขึ้นที่ จ.สงขลา เป็นหญิงอายุ 86 ปี ป่วยอัลไซเมอร์ อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย 608 แม้จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว แต่ยังป่วยติดเชื้อจากลูกหลานที่ไปเยี่ยมในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงยังคงต้องย้ำเตือนให้ระวังกลุ่มคนที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วยเปราะบาง ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล  สวมหน้ากากอนามัย เคร่งครัดระยะห่าง ล้างมือ และควรนำกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ที่เป็นผู้สูงอายุและป่วยเรื้อรัง ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยขอย้ำอีกครั้งว่า  คนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่อเดือน ต.ค.ควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ 3 ได้แล้วในเดือน ม.ค.นี้ เพราะการรับวัคซีนแม้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและการป่วยหนักได้       นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้แนะนำข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่ยังต้องเดินทางไปทำงาน หรือไปทำธุระในพื้นที่สาธารณะว่า 1.ล้างมือทันทีเมื่อกลับถึงบ้านด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20  วินาที หรือตั้งแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือไว้ที่ประตูหน้าบ้าน 2.ถอดรองเท้าหรือหาที่เก็บรองเท้าไว้นอกบ้าน เพื่อลดโอกาสที่รองเท้าจะไปสัมผัสเชื้อโรคและนำมาแพร่เชื้อต่อ 3.ถอดและทำความสะอาดหน้ากากผ้าโดยใช้สบู่หรือผงซักฟอก จากนั้นตากแดดฆ่าเชื้อให้แห้งสนิท ก่อนนำมาใส่ซ้ำอีกครั้ง สำหรับหน้ากากอนามัยเมื่อใช้แล้วขณะถอดให้จับที่สายคล้องหูเพื่อไม่ให้สัมผัสเชื้อโรค แล้วทิ้งในถังขยะมีฝาปิด และควรล้างมือให้สะอาดทันที

4.เมื่อเข้ามาในตัวบ้านให้อาบน้ำ สระผม ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่ให้นำไปซักอย่าเก็บไว้ 5.ไม่ควรสัมผัสกับบุคคลในบ้าน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ หากเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 6.หลีกเลี่ยงการกินข้าวร่วมกัน แยกสำรับ อุปกรณ์ ช้อน ส้อม และเน้นกินอาหารปรุงสุกร้อนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เมื่อกลับเข้ามาในบ้านแล้วให้เปิดประตู หน้าต่าง ระบายอากาศให้โล่ง โปร่ง มีการไหลเวียนอากาศในบ้านตลอดเวลา กรณีใช้เครื่องปรับอากาศ ควรปิดพักและเปิดหน้าต่างช่วยระบายอากาศ แต่หากใช้พัดลมให้หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำเพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคน

ขณะที่นายชนินทร์ รุ่งแสง อดีต ส.ส.กทม. และผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เปิดเผยว่า ได้ประสานงานกับเครือข่ายภาคเอกชน รวมถึงเครือ รพ.ธนบุรี โดยจะตั้งศูนย์ประสานงานและส่งต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดใน 4 ภารกิจหลัก คือ 1.การตรวจหาเชื้อในบริเวณชุมชน และประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาตัวต่อไป 2.การประสานงานและส่งต่อสถานพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3.สำหรับผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่บ้านที่มีความต้องการจะไปรักษาตัวที่ รพ.ในกรณีที่มีอาการหนัก หรือเข้ารักษาที่โฮสพิเทลในกรณีที่อาการไม่หนัก 4.สำหรับประชาชนผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 1-3 ศูนย์จะประสานลงทะเบียนให้ทันที โดยทั้งหมดเป็นการให้บริการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ประชาชนสามารถติดต่อผ่านทางไลน์ @bang_chanin หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-6751-5955 หรือ 09-0326-3299 หรือที่สำนักงานของตนที่ริมถนนอิสรภาพ เลขที่ 529 ในเวลาทำการได้

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลารายงานว่า ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกของประเทศไทย เป็นหญิงไทยอายุ 86 ปี อาศัยอยู่ที่ ม.4 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียงและอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็มที่โรงพยาบาลนาหม่อม ส่วนประวัติเสี่ยงคือ หลานชายที่เดินทางกลับจาก จ.ภูเก็ต เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา  จากนั้นจึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ที่ ศวก.12 สงขลา ผลพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง