โพลยังหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ

"บิ๊กตู่" ยังแรง ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจประชาชน ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นใครเหมาะเป็นนายกฯ มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แต่แนะต้องสะสางกลุ่มผลประโยชน์ใกล้ตัว ฝ่ายค้านจ้องถล่มรัฐบาลปมของแพง ช่วงอภิปรายไม่ลงมติเดือน ก.พ

เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความนิยมต่อนายกรัฐมนตรี และเบื้องหลังปัญหาวิกฤตช่วงต้นปี 2565 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพกระจายทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 1,119  ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้วิกฤตต่างๆ ของชาติบ้านเมืองและประชาชน พบว่าส่วนใหญ่หรือ 87.8%  ระบุ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการยังกินรวบผูกขาดธุรกิจ กีดกันรายย่อย  บ่อเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ 86.8% ระบุ ภาคประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบ เคารพกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม 86.5% ระบุ ส่วนราชการกระทรวงต่างๆ ข้าราชการไม่ค่อยรับผิดชอบในหน้าที่ เกียร์ว่าง ปล่อยปละละเลย และยังรับประโยชน์เกิดการทุจริต 85.5% ระบุ นายกรัฐมนตรี นักการเมืองร่วมรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความจริงจังและจริงใจให้เห็น ในการนำข้าราชการที่ละเว้นหน้าที่ ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุของปัญหาสำคัญมาลงโทษ และมีมาตรการรองรับบทเรียน ต้องไม่เกิดปัญหาอีก  นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังเผยอีกว่า ส่วนใหญ่หรือ 85.1% ระบุ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่และทำสิ่งที่ถูกต้อง สะสางกลุ่มผลประโยชน์ใกล้ตัวและพวกพ้องในกลุ่มราชการให้ได้อย่างแท้จริง 84% ระบุ พรรคร่วมรัฐบาลต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ของกระทรวงที่แบ่งมอบ ไม่นิ่งเฉย ปัดความรับผิดชอบ  83.9% ระบุว่า เมื่อเกิดความผิดพลาดการบริหารงานเฉพาะด้าน การเมืองและกลุ่มเสียประโยชน์มักมุ่งเป้าโจมตีผู้นำประเทศ โดยไม่แสดงความรับผิดชอบให้ความจริงแก่สังคม เช่นกรณีหมูแพง

 “83.7% ระบุ หวังให้ พล.อ.ประยุทธ์กล้าเปลี่ยนแปลงและตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประชาชน เหมือนปี 2557 ที่จริงจังเด็ดขาด ถือธงนำในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชนแท้จริง โยกย้ายและลงโทษข้าราชการที่ทำผิด จัดการภาคเอกชนที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบทำลายสังคม”

ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลกล่าวอีกว่า ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 82.5% ระบุ การจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ในปี  2565 นั้น ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือจากทุกฝ่ายทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหมุนไปด้วยกัน 71.3% ระบุ ยังเห็น พล.อ.ประยุทธ์กล้าออกมารับผิดชอบทุกเรื่องวิกฤตในนามของรัฐบาล ขณะที่หน่วยงานในหน้าที่ยังปล่อยปละละเลยให้สะสมปัญหา นักการเมืองและข้าราชการที่รับผิดชอบยังหลบและไม่แสดงความรับผิดชอบ และ 70.5% ระบุ ยังเห็น  พล.อ.ประยุทธ์ทำงานหนัก และไม่เคยเห็นภาพความสุขส่วนตัวตลอด  7- 8 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความต้องการของประชาชนคือ ส่วนใหญ่หรือ 82% ระบุ ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ถือธงนำ กล้าเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ การบริหารงานใหม่ๆ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง  หลุดออกจากการบริหารประเทศแบบรัฐราชการ ขณะที่ 18% ไม่ต้องการ นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือ 74.3 ระบุ ให้กำลังใจนายกฯ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เลือกประชาชนมากกว่าผลประโยชน์และการเกรงใจทางการเมือง และส่วนใหญ่หรือ 69.9% ระบุ ในเวลานี้ยังไม่เห็นใครที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่  30.1% ระบุ มีคนอื่นเหมาะสมกว่า

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังคงเชื่อมั่น  ยังไม่เห็นผู้ใดเหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์  นอกจากนี้ยังรับรู้ได้ว่า ปัญหาและการสั่งสมของปัญหาจนเกิดวิกฤตสังคม เกิดจากการปล่อยปละละเลยของส่วนราชการ และการเรียกรับประโยชน์ทางการเมืองและการไม่แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง  จนเกิดช่องว่างนำไปสู่ความเสียหายของชาติบ้านเมือง ทางออกของปัญหาตามความเห็นคือ ผู้นำที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงและทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ต้องปฏิรูปราชการและแก้ปัญหาทุจริตอย่างจริงจังเร่งด่วน ภาคการเมืองต้องกล้าแสดงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ทำตัวเป็นอีแอบกลัวเสียคะแนนอย่างเช่นที่เป็นอยู่

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในวันที่ 19 ม.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 โดยจะสรุปประเด็นที่จะใช้ในการอภิปรายร่วมกัน  จากนั้นจะเขียนญัตติให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาโดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ หลังจากสภาตรวจสอบญัตติและบรรจุวาระเป็นที่เรียบร้อบ คาดว่าน่าจะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่เกินกลางเดือน ก.พ.

นายประเสริฐกล่าวว่า พท.จะอภิปรายในประเด็นหลักๆ คือเรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ล้มเหลว โดยเฉพาะปัญหาข้าวยากหมากแพง ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้คงจะมีประเด็นอื่นๆ อีก แต่ต้องหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง ส่วนของวันที่จะอภิปรายไม่อยากให้รัฐบาลยื้อไปจนถึงใกล้วันปิดสมัยประชุมสภา 28 ก.พ.เพราะหลังจะชนฝาเกินไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง