เนวินจูบปากทักษิณ หึ่ง!เข้าพบที่จันทร์ส่องหล้า ณัฐวุฒิ-ธีระพงษ์กุนซืออิ๊งค์

สะพัด! "อนุทิน" ควง "เนวิน" พบ "ทักษิณ" ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า "เสี่ยหนู" โต้ไร้สาระ "ชูศักดิ์" เผย สัปดาห์นี้เลื่อนถกรายงานนิรโทษกรรม อ้างต้องรอผลการหารือทุกฝ่ายแต่ยังไม่กำหนดนัดพูดคุย สว.ส่งร่าง "กม.ประชามติ" คืน สส.แล้ว จ่อพิจารณายืนยันหลักการก่อนตั้ง กมธ.ร่วม แย้มหาก กมธ.ร่วมเห็นพ้องก็ทันใช้เลือกนายก อบจ. "นายกฯ อิ๊งค์” แจงยิบเหตุใช้ไอแพดเวทีผู้นำ เพราะบางคำเป็นศัพท์อังกฤษ-คำเฉพาะกฎหมายต้องเป๊ะ "ภูมิธรรม" โดดป้องผู้นำทั่วโลกก็อ่าน อย่าใช้อคติจับผิด นายกฯ เซ็นตั้ง “ณัฐวุฒิ-ธีระพงษ์” นั่งที่ปรึกษาของนายกฯ

เมื่อวันจันทร์ มีกระแสข่าวว่านายเนวิน​ ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอล​ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด​ ได้เข้าพบนายทักษิณ​ ชินวัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ที่บ้าน​จันทร์​ส่อง​หล้า​ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีอีก​ 1 คนเข้าไปด้วย ซึ่งแหล่งข่าวยืนยันว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 

วันเดียวกัน นายอนุทินได้เดินทางมาที่ทำเนียบฯ เพื่อร่วมประชุม​คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 4/2567 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น 3 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งปกตินายอนุทินจะขึ้นไปที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 และมักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อน แต่ครั้งนี้กลับตรงไปที่ตึก สมช.เลย ขณะที่ภายหลังประชุมเสร็จ นายอนุทินก็เลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีก โดยได้ไปใช้ประตูชั้นใต้ดินแทน ก่อนจะนั่งรถยนต์ไปยังตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อร่วมประชุมเรื่องความปลอดภัยทางถนนกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยจุดนี้ได้เจอสื่อมวลชนและตอบคำถามเพียงสั้นๆ ว่า “ขอไปประชุมก่อน” และภายหลังประชุมร่วมกับนายกฯ เสร็จ นายอนุทินได้ลงด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า โดยให้รถเทียบบริเวณประตู ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามตะโกนเรียกเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่นายอนุทินหันมาโบกมือปฏิเสธและยิ้มให้เพียงอย่างเดียว ก่อนออกจากทำเนียบฯ ไปทันที โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

ต่อมาช่วงบ่าย นายอนุทินกลับมาที่ทำเนียบฯ อีกรอบ พร้อมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพานายเนวินเข้าพบนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยนายอนุทินได้อุทานพร้อมกับย้อนถามว่า “มีข่าวด้วยเหรอ”

ผู้สื่อข่าวพยายามซักว่า มีกระแสข่าวว่านายอนุทินก็ได้เข้าไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย โดยนายอนุทินส่ายหน้าพร้อมพูดว่า “ไร้สาระ” จากนั้นนายอนุทินได้ก้าวขึ้นรถยนต์ที่จอดเทียบอยู่ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องจริงใช่หรือไม่  นายอนุทินย้อนถามว่า “ใครเป็นคนออกข่าว” พร้อมกับส่ายหน้า จากนั้นเดินทางออกจากทำเนียบฯ ไปทันที

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นได้ยินเลย มาจากไหนก็ไม่รู้

ทั้งนี้ ในยุคที่นายทักษิณเป็นนายกฯ นายเนวินถือว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดคนสำคัญ โดยได้ย้ายจากพรรคชาติไทยมาสังกัดพรรคไทยรักไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2548 และในช่วงที่มีม็อบเสื้อเหลืองขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ นายเนวินก็ได้จัดตั้งกลุ่มมวลชนเสื้อแดงออกมาปกป้องนายทักษิณ ซึ่งเชื่อว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนำม็อบคาราวานคนจนมาปิดล้อมตึกของเครือเนชั่นที่เขตบางนา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549

ต่อมาปี 2551 พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งพรรคพลังประชาชนเป็นพรรคอันดับ 1 มี สส. 212 เสียง ส่วนพรรคอันดับ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 165 เสียง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เจรจากับ สส.กลุ่มของนายเนวินและพรรคเล็กได้ สส. 32 เสียง เพื่อให้มายกมือสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ

โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2551 นายเนวินในฐานะแกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้เปิดแถลงข่าวสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ พร้อมกับเกิดภาพจับมือกอดกันกลายเป็นตำนานงูเห่าภาค 2 และเกิดวลีที่ว่า "มันจบแล้วครับนาย" ซึ่งเป็นคำพูดของนายเนวินที่ตอบกลับสายโทรศัพท์ที่นายทักษิณโทร.มาตำหนิว่า "ไม่สำนึกบุญคุณ"

ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค. 2552 ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายเนวินได้เปิดแถลงข่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า การชุมนุมของคนเสื้่อแดงไม่ใช่แค่ไล่รัฐบาลเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ และเรียกร้องให้ทักษิณสั่งคนของตัวเองหยุดก้าวล่วงพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจงรักภักดี และขอให้หยุดการสนับสนุน หยุดการเคลื่อนไหว หยุดการทำให้บ้านเมืองแตกแยก

ดังนั้น จากกระแสข่าวนายเนวินซึ่งเป็นครูใหญ่พรรคภูมิใจไทยเข้าพบนายทักษิณ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของพรรคเพื่อไทย ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งนี้ จึงคาดการณ์กันว่าต้องมีวาระที่สำคัญทางการเมืองอย่างแน่นอน อาจเป็นการเคลียร์ใจที่เคยขัดแย้งกันในอดีต และอาจเป็นการปิดตำนานวลี "มันจบแล้วครับนาย" 

เลื่อนถกนิรโทษกรรม

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญฯ ว่า สัปดาห์นี้จะยังเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องรอหารือกับทุกฝ่ายให้ตกผลึก เพราะเข้าใจว่าขณะนี้มีร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอต่อสภาฯ ไว้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่ได้กำหนดวันเวลาว่าจะหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเมื่อใด แต่เรื่องที่เลื่อนจำเป็นต้องหารือร่วมกันก่อน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายภาคส่วนเรียกร้องให้สภาฯ เร่งพิจารณารายงานเพื่อนำไปสู่การตรากฎหมายนิรโทษกรรม นายชูศักดิ์กล่าวย้ำว่า “ต้องหารือร่วมกันก่อน”

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษากมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ให้สัมภาษณ์คำถามที่ว่า วุฒิสภาส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วหรือไม่ ว่า ตนเข้าใจว่าส่งมาแล้ว ซึ่งคงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้ว สส.จะเห็นอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่การตั้ง กมธ.ร่วมกันระหว่าง สส.กับ สว. ซึ่งข้อบังคับระบุว่าต้องตั้ง กมธ.ฝ่ายละเท่ากัน  โดยที่ผ่านมาก็มีการตั้ง กมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน และในส่วนของ สส.ก็ต้องเป็นไปตามอัตราส่วนของสมาชิกที่ประกอบด้วยรัฐบาลและฝ่ายค้าน

เขากล่าวว่า ทั้งนี้เข้าใจว่านายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้กำหนดแล้วว่าพรรคนั้นมีกี่คน พรรคนี้มีกี่คน ฝ่ายค้านกี่คน  และต้องส่งให้วุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาก็ต้องส่งมา 10 คนเช่นกัน เพื่อมาประชุมร่วมกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ผลที่ไปศึกษามาว่าทำประชามติสองครั้ง ได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือ เป็นเพียงความเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเช่นนี้แล้ว ท้ายที่สุดเราจะแก้ปัญหาอย่างไร บางความเห็นก็บอกว่าให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น จึงเกิดการเสนอว่าให้ทำประชามติสองครั้ง แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นความเห็นของฝ่ายที่เขาสนใจที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อถามว่า ตามโรดแมปของรัฐบาลที่อยากทำประชามติช่วงแรกพร้อมกับการเลือกนายก อบจ.ในเดือนกุมภาพันธ์นั้น หากดูเกมการแก้ประชามติแล้วมองว่าจะทันใช้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ 180 วันนั้น หากความว่าตกลงกันไม่ได้ซึ่งก็ต้องรอไว้ 180 วัน แบบนี้ไม่ทันแน่นอน ฉะนั้นหากจะให้ทันเหมือนที่นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้สัมภาษณ์นั้น ก็อาจจะมีแนวทางอื่นที่ กมธ.ร่วมต้องไปพิจารณา ซึ่งหาก กมธ.ร่วมเห็นพ้องก็จะไปสู่การพิจารณาร่างกฎหมายได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน อาจจะใช้เวลาแค่บวกลบ 1 เดือนนิดหน่อย ซึ่งจะสามารถทำให้เสร็จได้ แต่ก็แล้วแต่ว่า กมธ.ร่วมกันจะพิจารณาอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็จะทันใช้ในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์

ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ ถนนพระรามที่ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้ไอแพดกับบทบาทผู้นำของนายกฯ  รวมถึงการตอบคอมเมนต์แล้วนำไปแขวนที่อินสตาแกรม  จนมีคนตั้งคำถามถึงภาวะผู้นำว่า จริงๆ แล้วการทำงานของตนกระแสเป็นเรื่องหนึ่ง การทำงานให้สำเร็จเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าบางทีเข้าใจตัวเอง บางทีรู้สึกว่าถูกเข้าใจผิด  หรือว่าข้อมูลยังไม่ครบก็อยากอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น จริงๆไม่ได้คิดว่าเป็นการแขวนหรืออะไร ทุกคนสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้อยู่แล้ว เพียงแต่ตนอยากอธิบายในหัวข้อนี้ว่า บางทีเราด่วนตัดสินคนอื่นเกินไป มันต้องมีข้อมูลด้วยในการจะพูดแบบนี้ ซึ่งตนได้ชี้แจงไป

นายกฯ ใช้ไอแพดกันทั่วโลก

"ไอแพดเป็นเรื่องที่ทุกคนใช้กันทั่วโลก จะใช้ไม่ใช้ก็แล้วแต่บุคคล แต่การประชุมหลักๆ ระหว่างประเทศก็ควรจะใช้ จะเป็นกระดาษหรือไอแพดก็ได้ เพราะจะได้ครบประเด็นและถูกต้อง นี่คือสิ่งที่อยากสื่อ และกระแสจากการทำงานเป็นผลพลอยได้ เมื่อกระแสดีแน่นอนทุกคนมีกำลังใจ ไม่ว่าจะภาคส่วนไหน ทั้งข้าราชการ ดารา นักการเมือง  นายกฯ ก็เช่นกัน หากกระแสดีมันมีกำลังใจ มันเป็นมนุษย์  ถ้ากระแสลบก็เสียใจเป็นธรรมดา แต่เสียใจแล้วต้องไปต่ออย่างไร ต้องทำให้นโยบายไปต่ออย่างไร จะอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ เพราะเรามีเทอมของเราที่ต้องทำให้ดีที่สุด จึงขอโฟกัสในการผลักดันเรื่องต่างๆ ต่อไป" น.ส.แพทองธารกล่าว

เมื่อถามว่า การเปิดงานสัมมนา ASEAN Economic  Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing  Opportunity วันนี้ดูเหมือนนายกฯ จะไม่ใช้ไอแพดมากเกินไป น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ใช้คะ แต่มันไม่เหมือนกัน  เวลาไปพูดที่ต่างประเทศ มันเป็นภาษาอังกฤษ มีคำศัพท์เฉพาะในเรื่องกฎหมาย รวมถึงความอ่อนไหวระหว่างประเทศ ซึ่งจริงๆ บางคำตนรู้ตอนมาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ว่าคำศัพท์นี้ต้องใช้ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นภาษาไทยเรารู้อยู่แล้วจะสบายกว่าเยอะ อย่างตอนกล่าวในงานสัมมนานี้ตนใช้ไอแพดในการดูหัวข้อ เช่นเดียวกับเวลาไปคุยระหว่างประเทศก็จะใช้แบบนี้เช่นกันเพื่อดูหัวข้อ แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายที่อ่อนไหว ตนอ่านทั้งประโยคเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อันนี้สำคัญมากเพราะหากผิดทีเป็นลมเลย แต่เมื่อมีการพูดคุยสอบถามเรื่องการลงทุนจะอย่างไร  เราก็ปิดไอแพดแล้วขายของเราไปต่อ แต่สปีชที่นั่งโต๊ะประชุมใหญ่ต้องอ่านทุกคน อันนี้ทั่วโลกทำ เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาหลายหน้า แล้วตนต้องอ่านตามนั้นให้ที่ประชุมรับรู้ตรงกัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ควรสนใจสาระมากกว่ารูปแบบ เพราะสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่แต่ละประเทศจะต่อรองกัน มันอยู่ที่สาระ ไม่ได้อยู่ที่ใช้ไอแพดหรือไม่ใช้ จะเปิดดูหรือไม่เปิดดู ที่จริงแล้วตามวัตรปฏิบัติที่ทำกันมาก็ไม่ได้มีปัญหา เปิดดูเพราะสปีชหรือการพูดที่เป็นทางการมากๆ ไม่มีใครพูดสด อ่านกันทั้งนั้น บางทีเห็นผู้นำระดับโลกยืนพูดมีพร็อมเตอร์ (prompter) ให้เห็นทั้งนั้น

"อย่าใช้อคติมาจ้องเล่นเรื่องรูปแบบ มันไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ แต่ถ้าเอาสาระไปเจรจา แล้วได้เปรียบเสียเปรียบ ประโยชน์ต่อประเทศมันเกิดหรือไม่เกิด อันนั้นมันน่าคุยกว่า อยากเชิญชวนมาแก้ไขด้วยสาระเพื่อแก้ไขปัญหา มากกว่าจะมาคอยจับผิดจับถูกว่าสำเนียงเป็นยังไง เสียงเป็นยังไง แต่งตัวเป็นยังไง ในสายตาผมมันไร้สาระ" นายภูมิธรรมกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 348/2567 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม โดยระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 นั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ดังนี้ 1.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส 2.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ยันไม่ใส่ใจคำพูด 'ทักษิณ' โชว์ห้าวตะเพิดพรรคร่วมฯ ขอฟังแค่นายกฯอิ๊งค์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการข่าวเที่ยง ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนาพรรคเพื่อ