นายกฯ เรียกแกนนำรัฐบาลถกแก้ รธน. 4 พ.ย.นี้ ปธ.วิปรัฐบาลรับหาก กมธ.ตกลงไม่ได้เสี่ยงแก้ รธน.ไม่ทัน "สส.เพื่อไทย" ชง กมธ.ร่วมฯ ลดเกณฑ์ประชามติเหลือ 2 ชั้น อาจใช้สิทธิ์เพียง 20-30% "รทสช." เบรก พท. ยันคำวินิจฉัยศาล รธน.ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง "พริษฐ์" ขานรับ "ชูศักดิ์" เป็นนิมิตหมายที่ดีเห็นด้วยทำประชามติ 2 ครั้ง “ไพบูลย์” โต้ “ชูศักดิ์” อ้างคำวินิจฉัย รธน.ส่วนตนไม่ได้ต้องยึดคําวิฉัยกลาง ขณะที่ "สว." พร้อมรับฟังเหตุผล ชี้ ปชช.ต้องได้ประโยชน์จริง
เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอาจทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้นั้น ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมาหารือถึงเรื่องดังกล่าว ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ในวันที่ 4 พ.ย. เวลา 13.30 น.
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงแนวโน้มการแก้รัฐธรรมนูญที่มีอุปสรรคมากมายจนอาจแก้ไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่กฎหมายประชามติที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จะตกลงเรื่องการลดเงื่อนไขเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติได้หรือไม่ ถ้าตกลงกันได้ก็น่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ทัน ถ้าตกลงกันไม่ได้จนต้องพักร่างกฎหมาย 180 วัน เพื่อรอให้ สส.ยืนยันร่างเดิมเข้าไปใหม่ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลนี้
"แต่ไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทย ทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้ยึกยัก กระบวนการแก้ไขไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังมีขั้นตอน สว.เกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพยายามทำทุกทาง แก้รัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้ การแก้รายมาตราก็ทำ แต่มีปัญหาติดขัด ขณะนี้ขอให้รอการพิจารณา กมธ.ร่วมฯ ก่อนว่าจะพอตกลงผ่อนปรนลดเงื่อนไขการทำประชามติได้หรือไม่" นายวิสุทธิ์กล่าว
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงการประชุม กมธ.ร่วมฯ ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติว่า จะหารือเรื่องหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น การทำประชามติ ตนจะขอหารือลดหลักเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่กำหนดต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้มีจำนวนลดลง
"การกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติต้องไม่น้อยกว่า 50% ถือว่ามากไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำประชามติเรื่องที่ประชาชนไม่สนใจ อาจทำให้ประชามติเป็นโมฆะได้ ควรปรับลดลง แต่จะลดลงเท่าไร ให้มาหารือในที่ประชุม เช่น อาจปรับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30% จะทำได้หรือไม่ เป็นการหาแนวทางประนีประนอม"
ลุ้นถก กมธ.ทิศทางจะชัดเจน
เมื่อถามว่า กรณีทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก สว.จะยอมหรือไม่ให้ลดเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงมา นายประยุทธ์กล่าวว่า ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ยังไม่รู้ สว.จะตอบรับหรือไม่ ยังไม่เคยคุยกันนอกรอบประเด็นนี้ เดาใจ สว.ไม่ถูก แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วน่าจะหาหลักเกณฑ์ตกลงรอมชอมกันได้ในชั้น กมธ.ร่วมฯ ถ้าตกลงไม่ได้ เรื่องจะบานปลาย ต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนตัวเอง อาจจะต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ 180 วัน เพื่อยืนยันเนื้อหาตามร่างเดิมของ สส.ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
เมื่อถามว่า หากต้องพักกฎหมาย 180 วัน เพื่อยืนยันร่างเดิมของ สส. จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายประยุทธ์ตอบว่า อย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าไปไกล รอดูในชั้น กมธ.ร่วมฯ ก่อน คิดว่าการประชุมในวันที่ 6 พ.ย. น่าจะมีทิศทางชัดเจนขึ้น
ถามว่า พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือไม่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ นายประยุทธ์ตอบว่า ต้องใช้เหตุผลคุยกัน ยังไม่ฟันธงจะยอมตามที่ สว.เสนอมา ขอรอมชอมกันก่อน ส่วนแนวทางนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะให้ทำประชามติ 2 ครั้งนั้น เรามีเป้าหมายเช่นนี้ แต่จะใช้วิธีใดดำเนินการยังไม่รู้ ต้องคุยกันให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งนี้ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ ไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ก็คงไปห้ามความคิดใครไม่ได้
ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทย สร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอแนวทางเพื่อเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการลดทำประชามติเหลือ 2 ครั้งว่า เรื่องนี้เคยเสนอเข้าสู่สภาแล้ว และที่ประชุมเคยมีมติว่าเราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติว่า หากจะแก้ไขมาตราใด ต้องมีการทำประชามติอีกครั้งด้วย ดังนั้นหลักการของพรรค รทสช.คือต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไม่ทันภายในสมัยนี้ จะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า พรรค รทสช.ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
"หากแก้ไขไม่ทัน เราก็ต้องชี้แจงกับประชาชนว่าเหตุผลเกิดจากอะไร คิดว่าประชาชนจะเข้าใจ ดีกว่าไปดันทุรังแก้โดยที่ผิดกฎหมายและถูกร้อง ก็จะเป็นปัญหาได้ในภายหลัง" นายอัครเดช กล่าว
นายอัครเดชกล่าวอีกว่า หากพรรค พท.มีข้อเสนอใหม่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้นำมาหารือพรรค รทสช. จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคและ สส. มีมติว่าจะไปในทิศทางใด
ปชน.ขานรับแนวทาง 'ชูศักดิ์'
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท.และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับการทำประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง โดยยึดหลักจากเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ 6 เสียงว่า ถ้าเรายึดตามแผนเดิมที่รัฐบาลที่ประกาศไว้ว่าจะมีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยจะไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติครั้งที่ 1 ให้เสร็จก่อน ถ้าเกิดรัฐบาลยังทำตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ จะมีโอกาสสูงมากที่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"หนทางเดียวที่จะทำให้เราสามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดย ส.ส.ร. คือการลดขั้นตอนการทำประชามติเหลือแค่ 2 ครั้ง เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย มั่นใจว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่นายชูศักดิ์ออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกัน"
นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าถ้าต้องการให้แผนดังกล่าวเป็นจริง จะมี 2 บุคคลสำคัญที่จะต้องมีการหารือ คนแรกคือประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะการเดินตามแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง ในขั้นตอนแรกจะต้องมีการเริ่มพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในที่ประชุมรัฐสภา บุคคลต่อมาที่ต้องหารือคือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร เพราะถ้าเกิดประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาแล้วจะได้รับความเห็นชอบจากทั้ง สส.และ สว. การพูดคุยกับนายกฯ จะทำให้เราพยายามแสวงหาความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในซีกรัฐบาลและนำเอาเสียงตรงนี้ไปพูดคุยกับฝ่าย สว.ด้วย
เมื่อถามว่า การพูดคุยกับทั้ง 2 ฝ่ายแบบนี้จะทำให้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 ได้ นายพริษฐ์กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชน รวมถึงเป็นวาระที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนให้การสนับสนุนด้วย จึงหวังว่าทางรัฐบาลจะให้ความร่วมมือเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จึงหวังว่าทางประธานรัฐสภาจะมีการตอบรับจดหมายขอเข้าพบที่ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดการพูดคุยหาทางออกกับทั้งสองฝ่าย
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมากล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถ้าไม่สำเร็จไม่ใช่ความผิดของพรรค นายพริษฐ์กล่าว่า ทุกนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาถือเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ต่อพี่น้องประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัตินโยบายตามที่ตนเองพูดไว้ให้สำเร็จ ถ้าเกิดไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ พรรคการเมืองดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบกับเสียงของตนเองที่ให้กับพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ของพรรคเพื่อไทย ไม่ควรเป็นการออกมาบอกว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จอย่าโทษพวกเขา แต่ทางพรรคควรจะมาขบคิดแผนใหม่เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง และเป็นไปตามเป้าหมายที่เคยให้สัญญากับทั้งรัฐสภาและพี่น้องประชาชน
อ้างคำวินิจฉัยส่วนตนไม่ได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักฯ เสนอแนวทางเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจลดการทําประชามติเหลือ 2 ครั้ง เพราะคำวินิจฉัยส่วนตนของศาล รธน.มี 6 เสียงที่บอกว่าเพียงพอแล้วว่า การไปนำคำวินิจฉัยส่วนตนมาใช้พิจารณาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าให้มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งศาลได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่าก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ดังนั้น มองว่าการจะใช้เรื่องนี้เพื่อทำประชามติ 2 ครั้ง จึงไม่ถูกต้อง หากดําเนินการไปก็จะมีปัญหาเหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทยยืนยันจะใช้แนวทางดังกล่าว จะขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าสภาจะไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม เพราะครั้งก่อนประธานสภาฯ ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาพิจารณา ซึ่งเขาไม่กล้าบรรจุเป็นวาระ เพราะถือว่าเป็นญัตติที่ไม่ชอบ ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า นอกจากการทำประชามติ 3 ครั้งแล้ว มีทางอื่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ต้องแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ถึงจะไม่ต้องทำประชามติก่อน
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะโฆษกคณะ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงกรณีนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะเสนอต่อที่ประชุมร่วมฯ วันที่ 6 พ.ย. ให้ปรับลดหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหลือจำนวนผู้มาออกเสียงทำประชามติ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 50 เปอร์เซ็นต์ว่า ที่ประชุม กมธ.ร่วมฯ พร้อมรับฟังเหตุผล แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมด้วย เจตนารมณ์ สว.ในการระบุเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการทำประชามติให้มากที่สุด
"โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ จึงกำหนดต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง หากจะลดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร เอาเหตุผลมาคุยกัน สว.ไม่ได้ติดขัดเรื่องจำนวนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ" นายวุฒิชาติกล่าว
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในความเป็นจริงถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างไปมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลเกรงว่าถ้าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน จะมีกระแสกดดันให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงจำเป็นต้องเกี่ยงเวลาออกไป จนในที่สุดก็แก้ไขไม่ทัน ไม่เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างแน่นอน
มีแกนนำพรรคการเมืองบางพรรค เสนอให้เปิดอกคุยกัน และให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าแก้ไขทั้งฉบับ ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ต้องทำประชามติ และแต่ละพรรคก็ตั้งป้อม มีทั้งจะแก้ทั้งฉบับ บางพรรคจะยกเว้นหมวด 1 กับหมวด 2 บางพรรคก็อยากให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% ซึ่งจุดยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจน
"พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะมีอำนาจเต็มและมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งร่วมรัฐบาลบางพรรค ก็มีคอนเนกชันกับสมาชิกวุฒิสภา ถ้าหากมีการพูดคุยกัน จับมือกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ก็สามารถทำสำเร็จได้ไม่ยาก เว้นแต่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะ "ปากว่าตาขยิบ" เท่านั้น" นายเทพไทระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน