เลขาฯ กฤษฎีกาชี้ชัดยกเลิก "เอ็มโอยู" ฝ่ายเดียวได้แต่ไม่ควร หวั่นกระทบความสัมพันธ์ ต้องเจรจากัน วอนอย่าใช้คำว่า “พื้นที่ทับซ้อน" จะเสียประโยชน์ แนะให้ใช้ “พื้นที่อ้างสิทธิ” ตาม “รัฐบาลบิ๊กตู่” รมว.กต.ยืนยันเอ็มโอยู 44 เป็นกรอบเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ไม่มีผลกระทบต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่ายจนกว่าจะตกลงกันได้ “บิ๊กป้อม” รูดซิปปาก แต่สั่ง พปชร.ทำหนังสือเปิดผนึกจี้นายกฯ- ครม.ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ชี้สุ่มเสี่ยงเสียดินแดน เตือนผ่านรัฐสภาใช้บังคับไม่ได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 พฤศจิกายน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 สามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้หรือไม่ว่า ตามหลักการทำเอ็มโอยูมีจุดเริ่มต้นมาจากสองประเทศว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราเป็นคนริเริ่มทำและทำฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำ ถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ควรหรือไม่คือ ไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เราเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงการอ้างพื้นที่ทับซ้อน นายปกรณ์อธิบายว่า เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใคร จะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้นเอ็มโอยูที่ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่าอันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ
ถามอีกว่า การใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายปกรณ์ยอมรับว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล ตนแนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีของใคร เป็นของใครแน่ จะแบ่งกันอย่างไร การใช้คำว่าทับซ้อนคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้
"แต่หากเราคุยกันเป็นพื้นที่ต่างคนต่างอ้างสิทธิ มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ผมพูดในแง่ทางวิชาการ ไม่มีการเมือง ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิมาตลอด ไม่เคยใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน" นายปกรณ์กล่าว
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 44 ว่า MOU 44 มีที่มาจากการที่ไทยและกัมพูชาต่างไม่ยอมรับการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทางทะเลที่แต่ละฝ่ายประกาศ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศระบุให้ในกรณีเช่นนี้ ประเทศที่อ้างสิทธิจะต้องเจรจาทำความตกลงเพื่อหาทางออกด้วยกัน โดยสาระสำคัญของ MOU 44 นั้น คือการกำหนดกรอบและกลไกการเจรจา โดยให้ทั้งประเทศไทยและกัมพูชาต้องตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC ขึ้น เพื่อทำการเจรจาพร้อมกันไปใน 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยไม่สามารถแยกการเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศวางไว้ ทั้งนี้ การยกเลิก MOU 44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด
MOU ไม่มีผลต่อเขตอธิปไตย
รมว.การต่างประเทศอธิบายว่า MOU 44 มีลักษณะเป็นข้อตกลงชั่วคราว หรือ Provisional Arrangement ซึ่งเป็นเพียงการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะวางกรอบและกลไกการเจรจากันเท่านั้น การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะไม่เกี่ยวกับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด เพราะเกาะกูดเป็นของไทยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น MOU 44 มีมาตรการป้องกันที่รัดกุม หรือ Safeguard Clause ในข้อ 5 ที่ระบุเป็นเงื่อนไขบังคับว่า “จนกว่าจะได้มีการตกลงการแบ่งเขตทางทะเลให้แล้วเสร็จ MOU และการดำเนินการต่างๆ ตาม MOU นี้ จะไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย”
"เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเจรจาตามกรอบ MOU 44 นี้ จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่าย จนกว่าจะสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทำความตกลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกัน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อนด้วย ซึ่งหมายถึงว่า ความตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย จึงแปลกใจต่อผู้ที่พยายามโยงเรื่องเกาะกูดเข้ากับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนี้" นายมาริษกล่าว
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ปฏิเสธการตอบคำถามถึงกรณีการตั้งคณะกรรมร่วมเทคนิค (เจทีซี) ของฝ่ายไทย เพื่อเจรจาการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ต้องมีต้องมีบุคลากรของกระทรวงพลังงานเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ โดยตอบเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ ต้องถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามหลักการแล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการหรือไม่ นายพีระพันธุ์ย้ำคำเดิมว่า ไม่ทราบ ตนไม่เคยเกี่ยวข้อง เมื่อถามย้ำว่า การแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล รมว.พลังงานจะต้องเข้าไปร่วมพูดคุยหรือไม่ นายพีระพันธุ์ยังคงย้ำอีกครั้งว่า ไม่ทราบ
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เดินทางกลับจากพรรค ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารและ สส.พรรคประจำสัปดาห์ โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีเอ็มโอยู 44 ซึ่ง พล.อ.ประวิตรเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 แต่ พล.อ.ประวิตรเม้มปากเงียบ ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน
จากนั้น พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. แถลงว่า พล.อ.ประวิตรมีนโยบายชัดเจนว่าจะทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการยกเลิก MOU 2544 และรักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดินไทย ที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ด้านนายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า ได้หนังสือเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้ เนื้อหาระบุว่า ตามที่นายกฯ ได้มีดำริให้เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชาตาม MOU 2544 เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียม พปชร.ได้ศึกษาผลกระทบแล้ว พบว่ากรณีไทย-มาเลเซีย และไทย-เวียดนาม ทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามกฎหมายสากล ต่างกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เนื่องจากแผนที่แนบ MOU 2544 ได้ปรากฏเส้นเขตแดนของประเทศกัมพูชาที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และรวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ทะเลอาณาเขตของเกาะกูดด้านทิศใต้ รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลางอ่าวไทย เข้าเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชานำมาใช้เป็นกรอบการเจรจา ทั้งที่เมื่อปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยได้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยไว้แล้ว
ไม่ผ่านรัฐสภาบังคับใช้ไม่ได้
"การยอมรับเส้นเขตแดนของฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวอ้างโดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด นอกจากนี้ MOU 2544 อาจเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 178 ถึงแม้จะใช้ชื่อว่า "MOU" โดยมิได้ใช้คำว่าหนังสือสัญญาก็ตาม ดังนั้นการที่ MOU 2544 จัดทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ จะทำให้นายกฯ และ ครม.ต้องรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้"
นายชัยมงคลกล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตรและ สส.พปชร. จึงขอเรียกร้อง 3 ข้อประกอบด้วย 1.ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยกเลิก MOU 2544 อย่างเร่งด่วน รวมไปถึงให้ดำเนินการแก้ปัญหาเขตอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูด ต้องยึดตามกฎหมายทะเลที่เป็นสากล และดำเนินการเจรจาเฉพาะเรื่องเขตแดนทางทะเลให้เสร็จสิ้นก่อน โดยต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องเขตแดนทางทะเลและอำนาจอธิปไตยของชาติยิ่งไปกว่าผลประโยชน์อื่นใด โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไป 2.ให้นายกฯ สั่งการให้บุคคลและหน่วยงานรัฐ หยุดกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดข้อผูกพันตามกฎหมายอันจะนำมาซึ่งการเสียดินแดนอธิปไตยทางทะเลและผลประโยชน์ในทรัพยากรฯ ของชาติและของประชาชน 3.ให้ระลึกถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่ได้ถวายสัตย์ฯ ไว้ว่า "จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและของประชาชน และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายปาณวัฒน์ มุสิกะพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พรรคเพื่อราม พร้อมเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ ครม.พิจารณาและปฏิบัติกรณีเกี่ยวกับผลประโยชน์ในน่านน้ำเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา (เกาะกูด)
โดยระบุว่า ให้รัฐบาลคำนึงถึงและยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 มาตรา 121 วรรคสองอย่างเคร่งครัด ด้วยความรอบคอบและโปร่งใสทุกขั้นตอน ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มธุรกิจและผู้ได้รับประโยชน์จากสัมปทานใดๆ ในพื้นที่เจรจาร่วมเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ให้รัฐบาลนำประเด็นเจรจานี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา ตามมาตรา 178 วรรค 2 และ 3 เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางด้านนโยบายสาธารณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยที่การตัดสินใจใดๆ จะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภาอย่างเคร่งครัด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รบ.เผย ’กฤษฎีกา’ แจงครม.ไม่ได้แย้ง พรบ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ แค่ให้ข้อสังเกตไปปรับแก้
เลขาฯ กฤษฎีกา แจง ที่ประชุมครม. พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้เห็นแย้งหรือเห็นต่าง เป็นเพียงข้อสังเกตที่สามารถนำไปปรับแก้เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลได้
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง