‘จุรินทร์’สั่ง55ฉก. จับตาสินค้าแพง ห้ามฉวยขึ้นราคา

"จุรินทร์" หัวโต๊ะวอร์รูมแก้ของแพง สั่งมอนิเตอร์ทุกรายการ ส่งชุดเฉพาะกิจ 55 ชุดตรวจสอบ เจอฉวยขึ้นราคาเอาผิดตาม กม.ขั้นเด็ดขาดทันที แนะ ปชช.แจ้งสายด่วน 1569 คนเลี้ยงหมูตัดพ้อตกเป็นจำเลยสังคม ตรึงหมู 110 บาท 3 สัปดาห์ แบกภาระล้น ขอรัฐปล่อยกลไกตลาดทำงาน

ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า  แก้ไขปัญหาและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ครั้งที่ 2/2565 พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้ลงนามแต่งตั้งให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในระดับส่วนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานในส่วนภูมิภาคและระดับจังหวัด ประเด็นที่เป็นอำนาจหน้าที่สำคัญที่ตนได้มอบหมายให้วอร์รูมดำเนินการ ใน 3 ข้อ 1.ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการโดยใกล้ชิด 2.ให้ลงมือแก้ปัญหาทันทีที่พบปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องปริมาณและราคาสินค้า 3.เมื่อพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานจากปลัดกระทรวงว่ามีการจัดให้มีชุดเฉพาะกิจในรูปแบบบูรณาการของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง จำนวน 55 ชุด เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าพบการกระทำความผิด ไม่ปิดป้ายราคาสินค้า หรือขายเกินราคาป้ายที่ปิดไว้ รวมทั้งถ้าพบการกักตุนหรือการค้ากำไรเกินควร ให้มีการดำเนินการโดยเคร่งครัด ซึ่ง 55 ชุดนี้ไม่นับรวมในส่วนของภูมิภาคและจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินการ

วันนี้ได้ลงนามประกาศให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุมตามกระบวนการคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งถือว่าจะมีผลบังคับใช้ต่อไปในทันที และจะมีการกำหนดมาตรการให้ผู้ที่ครอบครอง ผู้ผลิตแปรรูปต่างๆ แจ้งต้นทุนและการครอบครองว่ามีสต๊อกจำนวนเท่าไหร่ เป็นมาตรการที่จะตามมา ขณะนี้ได้มีการประชุม โดยกรมการค้าภายในร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร โรงชำแหละ ห้างค้าปลีก ค้าส่ง สรุปร่วมกันว่าจะตรึงราคาไก่หน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท เท่าที่ตรวจสอบยังไม่ถึง 40 บาท อยู่ในช่วงราคาประมาณ 38-39 บาทต่อกิโลกรัม" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ระบุ

นอกจากนี้ มีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับห้างแม็คโคร โลตัส และบิ๊กซี ช่วยตรึงราคาเนื้อไก่สำหรับการบริโภคด้วย

นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมร่วมกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายทั้งหมดในหลายหมวดสินค้า และมีการตรึงราคาสินค้าในหมวดสำคัญในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนหลายหมวด เช่น 1.ซอสปรุงรส 2.หมวดน้ำอัดลม 3.หมวดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4.หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า 5.ไข่ไก่ จะตรึงราคาไข่คละหน้าฟาร์มไม่เกินฟองละ 2.90 บาท สำหรับหมูตรึงราคาหน้าฟาร์มไว้ที่กิโลกรัมละ 100-110 บาท จะส่งผลให้หมูเนื้อแดงซึ่งเป็นหมูที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางในการเทียบราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-210 บาท ทั้งนี้ หากพบว่ามีผู้ค้ารายใดฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบพร้อมกับดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดทันที

วันเดียวกัน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เกษตรกรทั่วประเทศให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ยืนราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ หลังจากนั้นจะหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิตและการบริโภคให้สอดคล้องกัน โดยมุ่งดูแลค่าครองชีพของคนไทยเป็นอันดับแรก แม้ว่าเกษตรกรจะมีภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บางฟาร์มสูงถึง 110-120 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ค่าบริหารจัดการด้านการป้องกันโรคที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องก็ตาม แต่ทุกคนเห็นถึงความเดือดร้อนของคนไทยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงมีมติร่วมกันดูแลระดับราคาไว้เช่นนี้ต่อไป ทั้งนี้ราคาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ตายตัวเสมอไป เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่อนตัวตามความต้องการของตลาดมาอยู่ที่ 104-108 บาทต่อกิโลกรัม

 “คนเลี้ยงหมูร่วมกันรักษาระดับราคาหมูเป็นไว้ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 และจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกษตรกรกลับตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นเหตุให้ราคาเนื้อหมูหรือสินค้าอื่นๆ แพงขึ้นตามกัน ทั้งๆ ที่เกษตรกรขายหมูหน้าฟาร์มได้ที่ราคาเดิมมาตลอด เป็นการขายขาดให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยไม่ได้มีผลกำไรหรือเกี่ยวข้องกับราคาที่ปรับสูงขึ้นก่อนจะถึงมือผู้บริโภค จึงอยากขอความเข้าใจและความเห็นใจจากผู้บริโภค และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองที่กลไกตลาดเป็นสำคัญ ขอให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดเป็นตัวบ่งชี้ราคาสินค้าอย่างเสรี” นายสิทธิพันธ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง