21ส.ส.เปิดตัวพรรคใหม่10กพ.

ผู้นำฝ่ายค้านฯ สุดหลอน อ้างได้กลิ่นเตรียมทำ “รัฐประหาร” โชยเข้าจมูก ฟันฉับ 21 ส.ส. ตัวแปรสำคัญในสภา "ก๊วนธรรมนัส" นัดเปิดตัวพรรคเศรษฐกิจไทยก่อนวาเลนไทน์ พูดหล่อโหวตเพื่อประชาชนไม่ยอมถูกมัดมือ  หางโผล่แต่หัววัน ทวงโควตาเก้าอี้กรรมาธิการคืนให้แก๊ง 21 เสียง

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 1 ใน 21 อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่ถูกขับออกจากพรรค ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เปิดเผยว่า เตรียมแถลงเปิดตัวเข้าสังกัดพรรคการเมืองพรรคใหม่ในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ หรือราวๆ วันที่ 10 ก.พ.นี้ ก่อนการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่คาดว่าจะมีขึ้นวันที่ 16-18 ก.พ. และหลังจากเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่แล้ว จะต้องมีการปรับระบบต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงที่นั่ง ส.ส.ในห้องประชุมและสัดส่วนที่นั่งในคณะกรรมาธิการต่างๆ เนื่องจากทางกลุ่มมี ส.ส.จำนวน 21 คน โดยยืนยันว่าเราทำหน้าที่ ส.ส.พิจารณาร่างกฎหมายโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่มัดมือให้ยกมือ เพราะการโหวตต้องมีเหตุและผล และไม่มีการตั้งธงการโหวตเพื่อนำไปต่อรองทางการเมือง

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี 21 ส.ส.ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ กระทบเสียงในสภาว่า เป็นข้อเท็จจริง เนื่องจากสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สัดส่วนของเสียงข้างมากเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น 21 คนจึงเป็นตัวแปรในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมีผลต่อองค์ประชุมมาก ซึ่ง ส.ส.สภาในขณะนี้มีอยู่ 473 คน กึ่งหนึ่งคือ 238 คน หาก 21 เสียงแปรไปด้านใดด้านหนึ่ง จะเกิดการแปรปรวนอย่างมาก ถ้าเจตนารมณ์ของกลุ่ม 21 ส.ส. ไม่ทำหน้าที่ให้กับเสียงข้างมากที่เป็นอยู่ จะทำให้เสียงข้างมากทำงานไม่ได้ ซึ่งฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่จะเป็นองค์ประชุมให้ตั้งแต่แรก ถ้าจะทำหน้าที่ในระบบเสียงข้างมาก ต้องเป็นเสียงข้างมากที่แท้จริง เราไม่สนับสนุนเสียงข้างน้อยเข้ามาปกครองประเทศ เพราะขัดรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย ต้องปกครองด้วยเสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย

เมื่อถามว่า ถ้ากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบ จะเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ด้วยสามัญสำนึกไม่ควรเรียกร้อง แม้กฎหมายนั้นไม่ใช่กฎหมายสำคัญทางการเงินก็ตาม นั่นหมายความว่าคุณไม่มีความพร้อมในการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ควรจะรับผิดชอบต่อประชาชน 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 2.ยุบสภา ซึ่งเรามีความพร้อมที่จะให้นายกฯ ประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

"แต่ไม่ควรใช้วิธีที่ 3 คือการรัฐประหาร เพราะผมได้กลิ่นว่าจะใช้แนวทางนี้ ซึ่งเราขอคัดค้านและเรียกร้องผู้ที่มีอำนาจ อย่าได้คิดวิธีการนี้ เราไม่มีอำนาจไปยับยั้ง แต่ประเทศจะล่มจมเสียหายมาก นี่คือสิ่งที่จะทำบาปให้ประเทศ ซึ่งประชาชนต่างเจ็บช้ำมามาก การลุกฮือการต่อต้านเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุ

ถามต่อว่า การรัฐประหารจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อบ้านเมือง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้ามีการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อใด สภาวะที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้จะแย่ยิ่งกว่าเดิม ถ้าหวังว่ายึดอำนาจแล้วจะเข้ามาบริหารจัดการประเทศที่ผุพังเช่นนี้ได้ จะนำเงินที่ไหนมาบริหาร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลถังแตกไม่มีเงิน เพราะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เลย

 “ต่างประเทศไม่ยอมรับ ไม่มีความเชื่อมั่น แล้วใครจะคบค้าสมาคมกับประเทศไทย ไปซาอุฯ โชว์ว่าเป็นผลงาน แต่ความจริงคือซาอุฯ ต้องการเปิดประเทศ เพราะเขาเห็นช่องทางว่าปิดประเทศแบบนี้เดินต่อไม่ได้ ขนาดซาอุฯยังคิดเป็น คนขี่อูฐยังคิดเป็น แต่คนขี่ควายคิดไม่เป็น ไม่รู้เอาสมองควายมาใส่หรือเปล่า ผมไม่เข้าใจ” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว

ถามอีกว่ามีปัจจัยใดที่จะนำสู่รัฐประหาร นพ.ชลน่านกล่าวว่า มันเป็นการสืบทอดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะวิธีการอื่นใช้ไม่ได้ ยุบสภาก็ไม่กล้ายุบ เพราะประชาชนจะตัดสิน จะเปลี่ยน ครม.ก็อาย ไม่กล้า ประเภทยอมหักไม่ยอมงอ ตัวเองตาย ประเทศชาติตาย เขาทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้นช่องทางประนีประนอมเกิดขึ้นยาก ดังนั้นการรัฐประหารคือวิธีการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ส่วนมูลเหตุที่จะใช้อ้างนั้นง่าย สำหรับประเทศชาติบ้านเมืองนี้ เขาสามารถบริหารจัดการและทำให้เกิดสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพราะทำมาตลอด

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การที่สภาล่มบ่อยๆ สะท้อนถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของรัฐบาล เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความสามัคคี ก็ไม่ต่างจากภูเขาไฟที่ กำลังจะระเบิด ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ พลเอกประยุทธ์ควรเร่งคืนอำนาจให้ประชาชน กำหนด ไทม์ไลน์เลยว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อไหร่ เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน ประชาชนยิ่งหมดศรัทธาในรัฐบาล อย่าลากอำนาจต่อไปเลย จะส่งผลให้ประชาชนลำบากมากขึ้น

ต่อมาที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการนโยบายยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุได้กลิ่นรัฐประหารโชยมาว่า วันนี้ปัญหาต่างๆในประเทศเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่า จากประสบการณ์ของตน ทุกครั้งตั้งแต่เล็กจนโต เห็นการปฏิวัติมาแต่ละครั้งไม่เคยมีกลิ่นโชยสักครั้ง และทุกครั้งที่ได้กลิ่นก็มักจะไม่มี แต่ทุกครั้งที่มีมักจะไม่มีกลิ่น

นายวราวุธกล่าวอีกว่า เข้าใจดีว่าพรรคใหญ่แต่ละพรรคจะมีเงื่อนไขหลายอย่าง เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาเราเคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลายครั้ง และเคยมีปัญหาหลายอย่าง จึงเข้าใจข้อจำกัดของพรรคพลังประชารัฐดี ขอเป็นกำลังใจให้แก้ไขปัญหา ความมั่นคง และเสถียรภาพของรัฐบาลเท่าที่จำได้ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.62 ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าง่อนแง่นตั้งแต่เดือน ก.ค.62 และก็ง่อนแง่นมาจนถึงเดือน ม.ค.65 คิดว่าจะง่อนแง่นไปจนถึงเดือน ม.ค.66 จนครบสมัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติง่อนแง่นไปง่อนแง่นมา บางครั้งเราเห็นรัฐบาลที่มั่นคงๆ อยู่แค่ปีกว่าก็ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น การเมืองเป็นเรื่องที่เรามีปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ต้องแก้ไข และทำให้ดีที่สุดก่อน ส่วนสิ่งใดที่จะเกิดก็แก้กันไป

เมื่อถามว่า หากเสียงในสภาไม่พอที่จะผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาล จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา หรือลาออกหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักการเมือง เราไม่เคยกลัวเรื่องยุบสภาหรือเลือกตั้งอยู่แล้ว พร้อมที่จะดำเนินการ ส่วนเรื่องที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของพรรคใหญ่หรือวิปรัฐบาล แต่สำหรับพรรคชาติไทยที่มีอยู่ 12 เสียง ยืนยันว่าเรามีทิศทางเดียวกันที่จะสนับสนุนรัฐบาล

วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือขอให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเศรษฐกิจไทย โดยนายเอกชัยบอกเหตุผลโดยสรุปว่า มติการขับ ส.ส.พปชร.เมื่อ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องเข้าข่ายการครอบงำพรรคเศรษฐกิจไทย ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้ กกต.ดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการของ 2 พรรคดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง