กห.ยันทำงานร่วม3ปท. เตือนไทยสูญเสียอิสระ

"หลิว จงอี้" เข้าพื้นที่เมียวดีพบเหยื่อชาวจีนและต่างชาติที่ศูนย์บัญชาการ BGF กว่า 900 คน ขณะที่ "หม่อง ชิตตู" ระบุจะกวาดล้างให้จบสิ้นในเดือนนี้ มีเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกร่วม 2 พันคน ด้าน "ภูมิธรรม" ยันทำงานร่วมกับ รมช.ความมั่นคงจีน เป็นข้อตกลงร่วม 3 ประเทศแบ่งหน้าที่กันทำ นักวิชาการเตือนหากไทยให้จีนควบคุม สั่งการ เราอาจสูญเสียอิสระในการบริหารจัดการปัญหา

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 นายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาที่ศูนย์บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) พร้อมกับทางการเมียนมา ที่มี พล.ต.อ่อง จ่อจ่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลมาร่วมต้อนรับ และนำนายหลิว จงอี้ เยี่ยมชาวต่างชาติที่ BGF ช่วยเหลือออกมาได้จากเมืองสแกมเมอร์ในชเวก๊กโก่ และนำมารวมกันที่ศูนย์พักคอยที่ศูนย์บัญชาการ BGF ซึ่งมีประมาณกว่า 900 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวต่างชาติบางส่วน เช่น มาเลเซีย, ปากีสถาน, อินเดีย, เคนยา  และรวันดา

โดยนายหลิว จงอี้ เดินทางมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของทหารเมียนมาและกองกำลัง BGF

ขณะที่พันเอกหม่อง ชิตตู  ผู้นำ BGF ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยว่า ตั้งแต่มีกระแสข่าวว่ามีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และค้ามนุษย์ในจังหวัดเมียวดี BGF ก็ได้กวาดล้างตั้งแต่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมาและจะทำไปเรื่อยๆ นอกจากคนจีนยังมี อินเดียและแอฟริกาที่ตนไม่รู้จักชื่อ เมื่อรวบรวมมาได้ตำรวจเมียนมาจะทำการบันทึกข้อมูล ซึ่งตอนนี้ BGF จะรับผิดชอบกวาดล้างในเคเคปาร์ก, เมียวดี, ชเวก๊กโก่ ทั้งหมดส่งมาที่เมียวดี เป็นหน้าที่ของกรมตำรวจเมียนมา เพราะรัฐบาลกลางเนปยีดอส่งตำรวจมาทำคดีบันทึกประวัติ

สำหรับขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ตำรวจเมียนมาดำเนินการ จากการประชุม 3 ฝ่ายจะให้แต่ละประเทศมานำคนกลับไป แต่กลับอย่างไรตนไม่ทราบ

พันเอกหม่อง ชิตตู กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบนอกจากจีนยังมีญี่ปุ่น เวียดนามและไทยด้วย ส่วนคนจีนทราบว่าทางการจีนจะเอาเครื่องบินมารับที่สนามบินแม่สอด ส่วนประเทศอื่นๆ จะประสานผ่านสถานทูตแต่ละประเทศ โดยความตั้งใจของ BGF จะกวาดล้างให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งระหว่างปฏิบัติการพบปัญหาว่า การรวบรวมคนกว่า 2,000 คน และในการส่งตัวรอบแรกวันที่ 20 ก.พ. 68 มีแค่คนจีนเท่านั้นที่จะถูกรับตัวกลับไป ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียไม่มีการพูดถึง จึงอยากเรียกร้องว่าการเอาคนมารวบรวมมีปัญหาการจัดการในพื้นที่พอสมควร ร้องขอรัฐบาลไทยที่มีประเทศต่างๆ มารับคนตัวเองประสานผ่านสถานทูตต่างๆ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เมียนมาได้ทำหนังสือมายังฝ่ายทหาร และกระทรวงการต่างประเทศของไทย หลังจากนี้จะนำตัวทุกคนเข้าสู่กระบวนการของเมียนมาในการจัดการทั้งหมด ซึ่งไทยจะเป็นเพียงผู้สนับสนุน ถ้าอะไรที่คิดว่าจะผ่านประเทศไทยก็ให้มีการประสานมา เราก็พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งตอนนี้เรารับผิดชอบในการปราบตัวการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ส่วนกระแสวิจารณ์การลงพื้นที่ของนายหลิว จงอี้ ว่าเหมือนมาจัดการเรื่องนี้โดยไม่ผ่านรัฐบาลไทย รองนายกฯตอบว่า เขาไม่ได้จัดการเอง เพราะได้ตกลงกันตั้งแต่ที่เขามาเยี่ยมแล้ว โดยหลังจากที่เขาได้พบกับ รมว.มหาดไทย เมียนมา และได้พูดคุยผ่านโทรศัพท์กับตนแล้ว ในวันที่ 19 ก.พ.นี้จะพบกับนายนายหลิวอีกครั้ง เพื่อสรุปการทำงานและหารือกันต่อ ซี่งเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เราทำงานร่วมกันมา 2 เดือนแล้วระหว่างไทย เมียนมา และจีน

ส่วนการออกหมายจับพันเอกหม่อง ชิตตู จะยังดำเนินการต่อไปหรือไม่ หลังจากที่เขาออกมาช่วยจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นายภูมิธรรมกล่าวว่า การออกหมายจับหรือไม่ ยังไม่ใช่ประเด็นของเรา เรื่องหม่อง ชิตตู เป็นเรื่องเก่า ที่มีการประสานงานกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ดีเอสไอได้ประสานงานไป เรื่องนี้ยังดำเนินต่อไปอยู่ หม่อง ชิตตู ก็ทำหน้าที่ของเขาโดยประสานงานกับจีน เราคงพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้

ด้าน พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม  ชี้แจงถึงดรามากรณีของนายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ ประเทศจีน เดินทางเข้าออกไทย-เมียนมาในพื้นที่ อ.แม่สอด และข้ามไป จ.เมียวดีบ่อยครั้งได้อย่างไรว่า เพราะนายหลิว จงอี้ เป็นบุคคลซึ่งรัฐบาลจีน โดยความเห็นชอบของรัฐบาลไทยให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในราชอาณาจักร ตามมาตรา 15 (3) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 11 และมาตรา 18 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

สรุปคือถ้ารัฐบาลจีนส่งมาแล้วรัฐบาลไทยอนุญาต ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลไทยเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ส่วนการข้ามแดนจากไทยไปเมียนมา จากเมียนมากลับมาไทย มีมาตรา 15 (3) ยกเว้นไว้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 18 วรรคสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเจ้าหน้าที่ ตม.เป็นคนอำนวยความสะดวก พาออกไปแล้วพากลับเข้ามา ไม่ถือเป็นความผิด

วันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าข้ามสินค้าหมายเลข 34 (ท่าศาลเจ้า) บจก.ห้าแยกกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นท่าข้ามเอกชนขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของอำเภอแม่สอด

โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อมูลท่าข้ามธรรมชาติที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวัง เนื่องจากมีข้อมูลว่าขนย้ายของต้องสงสัยที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจเอื้อต่อการทำธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ อีกทั้งช่วงที่ไม่ให้ขนส่งน้ำมันแต่อาจมีการลักลอบ และจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการขนย้ายเคมีภัณฑ์ที่เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดล็อตใหญ่ แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นท่าใด

เมื่อถามถึงกรณีการเดินทางมาของนายหลิว จงอี้ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าประเทศจีนต้องทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง แต่ตนยังเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะร่วมมือป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากนี้อยากให้หลายประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ร่วมแบ่งปันข้อมูล แต่ไทยสามารถเป็นแนวหลัก และต้องไม่ใช่มุ่งแค่ที่จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา แต่รวมถึงเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชาด้วย ด้วยความที่รัฐบาลไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ก็ควรใช้สัมพันธ์ที่ดีนั้นไปปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ณ ขณะนี้ตนไม่อยากสรุปว่า รัฐบาลไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์  แต่สมควรอย่างยิ่งที่ต้องยกให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

สุดท้ายนี้ ฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  นายทวี สอดส่อง ให้ติดตามเรื่องหมายจับ หม่อง ชิตตู เพราะถือว่าการที่ออกหมายจับนี้มีความจำเป็นต่อการรักษาความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทย

รศ. ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายกสมาคมภูมิภาคศึกษา เปิดเผยว่า นี่เป็นการเริ่มส่งสัญญาณว่าการเข้ามาของจีนนั้น อาจหมิ่นเหม่ต่อการทำให้ไทยขาดอิสระในการบริหารจัดการชายแดนและความมั่นคงภายใน เพราะมีตัวอย่างของประเทศที่เคยมีปัญหาระหว่างชายแดนขึ้น (เมียนมาและปากีสถาน) และรัฐบาลจีนไม่มีความเชื่อมั่นในการจัดการ จนเสนอแนวคิดจัดส่งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของจีนเข้าไปในพื้นที่ ทำให้หมิ่นเหม่ต่อหลักอธิปไตยของหลายประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยให้จีนควบคุมสั่งการ เราก็อาจจะสูญเสียอิสระในการบริหารจัดการกับปัญหา เราอาจจะดึงจีนเข้ามาช่วยได้ แต่ต้องช่วยในสัดส่วนที่เหมาะสม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สอบพยานคดีฮั้วสว.ทุกราย!

“แสวง” แจงทำหน้าที่คุมเลือก สว.ตามกฎหมาย ด้าน “กกต.” ยกคำร้องเลขาธิการ กกต.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ “ดีเอสไอ"