"โรม" เปิดข้อมูล ที่ประชุม สมช.เคาะส่งกลับชาว "อุยกูร์" ตามที่จีนขอตั้งแต่ 17 ม.ค.68 ชัดเจนมีประเทศที่สามขอรับตัว แต่ไทยยันส่งให้จีน เชื่อ 3 รมต.เดิมเกมอยู่เบื้องหลัง สมช. เตือนข้าราชการอาจซวย จี้ขอวงจรปิด ตม.-รถขนส่ง พิสูจน์สมัครใจกลับจริงหรือไม่
ที่รัฐสภา วันที่ 6 มีนาคม นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้เชิญนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาชี้แจงเรื่องการส่งอุยกูร์กลับประเทศจีน แต่ปรากฏว่ามีเพียงนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มาชี้แจง
จากนั้นนายรังสิมันต์ได้เปิดการประชุม โดยนายรัศม์กล่าวชี้แจงว่า การที่จีนให้คำมั่นกับทางการไทยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เรามี ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรามีกับจีน และการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนชาวไทย รวมทั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับชาวอุยกูร์เหล่านั้น โดยทั้งหมดได้ทำไปบนพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
นายรัศม์ให้สัมภาษณ์ว่า การชี้แจงในวันนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อหาข้อเท็จจริงและทางออกที่ดีให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะการตัดสินใจของทางการไทยในการส่งกลับชาวจีนจำนวน 40 คนกลับไปที่จีน ซึ่งเป็นคำร้องจากจีน โดยมีหนังสือยืนยันและให้การรับรองให้กลับคืนสู่สังคมปกติ ซึ่งถือว่าคำมั่นของจีนนี้เป็นสิ่งยืนยัน ที่จะไม่ทำให้ทั้ง 40 คนนั้น กลับไปสู่อันตราย จึงเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลไทยส่งกลับไป แม้ว่าอาจจะมีบางประเทศที่มีคำขออยากจะรับตัวคนเหล่านี้ไป เรื่องนี้รัฐบาลเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการส่งตัวกลับไปยังจีน
นายรัศม์กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้เป็นประเด็นกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีความเข้าใจดี และเป็นมิตรกับประเทศเรา แต่เราเห็นว่า หากประเทศที่ 3 ยินดีที่จะรับคนจีนเหล่านี้ไปจริง ก็ควรช่วยหารือเจรจากับจีน เพื่อยินดีให้ประเทศไทยส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 ส่วนข้อกังวลว่าการส่งตัวไปในครั้งนี้จะปลอดภัยจริงหรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องยึดมั่นคำพูดของมิตรประเทศเรา ซึ่งคือจีน และเรื่องนี้เป็นเพียงสมมติฐาน ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล และเราจะต้องพิสูจน์กันต่อไป ทั้งไทยและจีนจะร่วมมือกันในเรื่องนี้ และจีนได้ให้คำมั่นเช่นเดียวกันว่าจะให้มีการติดตามไปดู และเราได้รับคำเสนอแนะจากกรรมาธิการฯ บางคนที่เสนอมา โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเชิญจุฬาราชมนตรีเป็นผู้แทนไปร่วมติดตามต่อไป
นายรังสิมันต์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ เราได้ข้อมูลว่าในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในวันที่ 8 ม.ค.68 มีหนังสือจากทางการจีนส่งถึงไทย เพื่อขอตัวคนอุยกูร์อย่างเป็นทางการ ซึ่ง สมช.มีการประชุมและลงมติวันที่ 17 ม.ค.68 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ เท่าที่ทราบมีการประชุมโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเกิดขึ้นหลังมีมติส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับจีนแล้ว ครั้งนั้นมีการยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวกลับไปที่ประเทศจีนอย่างแน่นอน
เมื่อไปดูในรายละเอียดในการประชุมของ สมช. มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเรื่องนี้ อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งเป็น 3 คีย์แมนสำคัญที่ตัดสินใจเรื่องนี้ โดยเหตุผลในการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับ ไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร กลายเป็นเรื่องที่ สมช.พูดว่าอยู่ในห้องกัก ตม.(สวนพลู) ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจึงถาม ตม.ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าข่าย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือไม่ ซึ่ง ตม.ปฏิเสธ และที่ผ่านมาไม่ได้มีการสร้างกลไกแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ที่ประเทศไทยเรื่อยๆ
ส่วนกรณีประเทศที่ 3 ที่มีการให้ข้อมูลว่าประเทศที่ 3 ไม่ได้จริงจังต่อการรับคนอุยกูร์ไปอยู่ด้วย เมื่อพูดคุยรายละเอียดข้อเท็จจริงพบว่าไทยไม่เคยทำหนังสืออย่างเป็นทางการในการสอบถามประเทศที่ 3 เช่นกัน เราไม่เคยทำหน้าที่เชิงรุกในการประสานงาน อาจจะมีการพูดคุยด้วยวาจา แต่ไม่ได้มีการประสานอย่างจริงจัง หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าประเทศที่จริงจังที่สุดในการขอรับคนอุยกูร์คือประเทศจีน แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้จริงจังกับประเทศใด ปล่อยให้มันคาราคาซังแบบนี้ ข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ค่อนข้างชัดว่ามีประเทศที่ 3 มากกว่า 1 ประเทศพร้อมรับชาวอุยกูร์ทั้งหมด แต่ปัญหาคือไทยไม่เคยตอบรับหรือมีหนังสือส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศที่ 3 รัฐบาลไทยจึงส่งพวกเขากลับจีน
ขณะที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัย คณะกรรมาธิการฯ มีมติขอข้อมูลกล้อง CCTV รายชื่อคนอุยกูร์ทั้งหมดพร้อมรูปถ่ายที่จะยืนยันได้ว่าเขาสมัครใจกลับหรือไม่ ส่วนรถที่ใช้ในการขนไปส่งที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง ในรถคันดังกล่าวจะมีกล้องวงจรปิดด้วย เราจะขอข้อมูลส่วนนี้มา ซึ่งจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ อากัปกิริยาว่ามีความเต็มใจหรือไม่ อีกทั้งต้องดูว่าคนอุยกูร์ล็อตเก่าคนที่กลับไปก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการส่งกลับชาวอุยกูร์เป็นการละเมิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เจ้าหน้าที่อาจซวยไปด้วย ตนเป็นห่วงเลขาฯ สมช. หน้าตาท่านเปิดเผยชัดเจน เป็นไปได้ว่ารัฐบาลยืนอยู่หลังคนทำงาน ยืนอยู่หลัง สมช. แบบนี้ไม่แฟร์
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น รวมถึงไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาวด้วย จากการแถลงของนายภูมิธรรม ในช่วงค่ำวันที่ส่งคนอุยกูร์กลับจีน ได้ใช้คำว่าไม่มีประเทศไหนเลยในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาที่ติดต่อขอรับตัวชาวอุยกูร์ นอกจากจีน แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่ามีการติดต่อโดยข้าราชการระดับรองอธิบดีของกระทรวงการต่างประเทศ มีอย่างน้อย 3 ประเทศที่ติดต่อขอรับตัว ดังนั้นการที่รัฐบาลพูดว่าไม่มีความจริงจังเพราะไม่มีหนังสือนั้น ในหลักการดำเนินการทางการทูตจะเริ่มต้นด้วยการติดต่อกับรัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศด้วยวาจา ถึงจะดำเนินการขั้นต่อไปในการทำจดหมายทางการทูต วันนี้จึงถามนายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยเคยทำหนังสือไปยังประเทศอื่นหรือไม่ เนื่องจากสหรัฐอเมริการะบุชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐเคยยื่นเงื่อนไขในการแก้ปัญหาอุยกูร์ และอยากให้รัฐบาลไทยพิจารณา
อีกทั้งนายรัศม์ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ไทยได้เจรจาปากเปล่า และไม่เคยทำหนังสือใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัว ในขณะที่ท่านบอกว่าประเทศอื่นไม่จริงจัง ประเทศไทยก็ไม่ได้จริงจังกับเขาก่อน เพราะทางการทูตต้องทำเท่ากันทั้งสองประเทศ หากรัฐไทยบอกว่าประเทศอื่นไม่จริงจัง และประเทศอื่นต้องไปเจรจากับจีนด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ไทยเจรจาคนเดียว จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง นี่คือคำพูดจากผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจริงหรือไม่
“การทูตไทยไม่จำเป็นต้องให้ประเทศอื่นเป็นเอเยนต์ตัวแทนในการเจรจากับจีน เรามีเกียรติศักดิ์ศรีมากเพียงพอในการเจรจาด้วยตนเอง วันนี้จึงต้องถามกลับว่า การส่งตัวกลับจีน ท่านทำทั้งที่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ แต่ท่านไม่จริงจังพิจารณาทางเลือกนั้น"
รวมถึงกรณีที่นายรัศม์ยืนยันหนักแน่นว่า จะต้องเชื่อรัฐบาลจีน เนื่องจากเขารับรองความปลอดภัย จึงถามกลับว่า 10 ปีที่แล้ว รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่ารัฐบาลจีนยืนยันความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ทั้ง 109 คน แต่คำถามคือ 109 คนนั้น วันนี้อยู่ที่ไหน รัฐบาลไทยเคยติดตามตรวจสอบก่อนส่งไปหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
23-24เม.ย.อิ๊งค์ไปเขมร คปท.จี้ปมวาระซ่อนเร้น
“แพทองธาร” เตรียมเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ 23-24 เม.ย.นี้
เมืองคอนระอุ! ชินวรณ์สุดทน แฉ‘ซื้อเสียง’ดุ
ชิงเก้าอี้ สส.เมืองคอนระอุ “ชินวรณ์” ปูด 2 พรรคซื้อเสียงแล้ว หัวคะแนนใหญ่ได้ 3 หมื่นบาท
ไหมแนะรบ.ทบทวนงบปี2569
“รทสช.” มาแต่ไก่โห่หนุนงบปี 69 เชื่อไร้ปัญหาไม่มีสะดุด “เจ๊ไหม” แนะรัฐบาลนำร่างไปทบทวน
บี้‘นายกฯ’แจงตึกถล่ม อุตฯตรวจเหล็กเส้นซํ้า
"องค์กรต้านโกง" ขีดเส้น 28 เม.ย. บี้ "นายกฯ อิ๊งค์" เคลียร์ปมตึกถล่มให้ชัด 5 ประเด็น
ปรับรมต. เศรษฐกิจ โพลหนุนขยับ‘พณ.-กษ.’/วิสุทธิ์ปัดแลกเก้าอี้‘ภท.’
แกนนำ พท.ยันไร้สัญญาณปรับ ครม. ไม่รู้มีดีลแลกเก้าอี้ รมต. "พท.-ภท." ย้ำเป็นอำนาจตัดสินใจของ "นายกฯ" แต่ยอมรับ สส.พท.อยากให้ปรับกระทรวง ศก. แก้ปัญหาการค้าขาย
ทีมกู้ภัยตึกสตง. ‘พันเอก’ดับสลด
นายทหารยศพันเอกร่วมปฏิบัติการหาผู้สูญหายในซากตึก สตง. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ