“อิ๊งค์” แจงคุย ภท.เรื่องปกติ เล็งนัดรองนายกฯ พรรคอื่นคุยเพิ่ม ยันแดง-น้ำเงินไม่ขัดแย้ง แค่เห็นไม่ตรงกัน ปัดล็อบบี้ประธานสภาฯ เอาชื่อพ่อออก แต่ไม่ควรมีชื่อคนนอก “วันนอร์” อ้างถ้าถูกฟ้องร้องประธานกลายเป็นจำเลย แจงหนังสือถึงผู้นำฝ่ายค้านฯ ถูกต้อง เรียก "เท้ง" หารือตั้งแต่บ่าย 6 มี.ค. ส่วน 7 มี.ค.เป็นขั้นตอนหนังสือ แกนนำ ปชน.ลั่นไม่ตัดชื่อ "พ่อนายกฯ" ออก โต้ ปธ.สภาฯ ไม่มีน้ำหนัก ยันผู้อภิปรายพร้อมรับผิดชอบอยู่แล้ว จี้ "อุ๊งอิ๊ง" กล้าโชว์ภาวะผู้นำเหมือนสมัย "ยิ่งลักษณ์" ด้าน "พปชร." อัด "วันนอร์" อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ย้ำ "ลุงป้อม" ร่วมซักฟอกแน่ "เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. สอบ "วันนอร์" ใช้อำนาจมิชอบ ผิดตรวจสอบญัตติเกิน 7 วันแล้ว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีร่วมหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้ากับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายเนวิน ชิดชอบ ว่าคุยทุกเรื่องที่จำเป็น ทั้งในเรื่องนโยบายและพูดคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไร เดินอย่างไรต่อ ควรเดินอย่างไรกันดี เป็นสิ่งที่ได้ปรึกษากัน ส่วนที่วันนั้นเป็นการพูดคุยแค่กับพรรคภูมิใจไทยนั้น อย่างที่เคยบอก เรานัดคุยกัน หากคุยทีละพรรคทีละกลุ่มจะคุยรายละเอียดได้มากกว่า วันนั้นนายอนุทินไปเจอนายทักษิณก่อนอยู่แล้ว ซึ่งเจอกันเรื่อยๆ อยู่แล้ว
"ฉะนั้นการไปไม่ได้แปลกใหม่ ไม่ได้มีสัมภาษณ์หรือถามอะไรเกิดขึ้น ไปเรื่อยๆ กันอยู่แล้ว และความจริงอยากให้นัดกันบ่อยด้วยซ้ำ เพื่ออัปเดตว่าเนื้องานไปถึงไหน เพราะนายอนุทินนอกจากเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังเป็น รมว.มหาดไทย มีอีกหลายอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ฉะนั้นต้องพูดคุยกัน และความจริงยังมีรองนายกฯ อีกหลายท่านที่ต้องคุยแยกเช่นกัน เพราะมีความรับผิดชอบภายใต้รองนายกฯ เยอะ การพบกันไม่มีอะไรเกินความคาดหมาย"
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้จะเห็นความร่วมมือระหว่าง พท.กับ ภท.เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นหรือไม่หลังการพบกันครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้เหมือนขัดแย้งกัน น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จริงๆ ไม่ได้มีอะไรที่ขัดแย้งกันที่เป็นเรื่องเป็นราว มีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันอย่างที่เคยบอกไป เราก็เลยมาตกลงกันว่าเราจะเดินอย่างไรกันต่อ เพราะมันไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่ขัดแย้ง เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน บางเรื่องผู้ประสานงานระหว่างกลางของ ภท.กับ พท. บางทีไม่ได้ประสานกันชัดเจน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ เพราะบางทีตนกับนายอนุทินคุยกันแล้วแบบหนึ่ง แต่พอไปประสานลงไปข้างล่างก็อีกแบบหนึ่ง มันก็มีความผิดพลาดทางการสื่อสารด้วย ฉะนั้นต้องจัดกันใหม่ว่าใครจะคุยแบบไหน เพราะบางทีงานแบบนี้ต้องคุยกันหลายคน
เมื่อถามถึงกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือให้พรรคร่วมฝ่ายค้านนำชื่อบุคคลที่สามคือนายทักษิณออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อบบี้ให้เอาชื่อออกหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎ กระบวนการ และระบบของรัฐสภา ถ้าจะล็อบบี้อะไรแบบนี้ได้สบายเลย ล็อบบี้ไม่ได้หรอก ทุกอย่างเป็นตามกฎที่เขาตั้งไว้ หากไม่มีกฎไม่มีหลักเราก็เอาชื่อใครเข้าก็ได้ จะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ยืนยันทุกอย่างเป็นตามกฎ ไม่มีการล็อบบี้
“ไม่ควรนะคะ ถ้าจะพูดถึงใครคนนั้นต้องมีสิทธิ์โต้ตอบชี้แจง ถ้าเขาไม่อยู่ในนั้นแล้วพูดถึงเขาปาวๆ ผ่านทีวีแล้วเขาจะทำอย่างไร ซึ่งมันไม่สมควร แต่ไม่ทราบจริงๆ อย่างที่บอก กฎหมายไม่แน่น ก็ให้ประธานสภาฯ ว่าไปตามนั้นเลย” น.ส.แพทองธารกล่าวเมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการนำชื่อคนนอกมาใส่ในญัตติ
ถามว่า ในฐานะนายกฯ เจนวาย พร้อมใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า พร้อม เดี๋ยวจะคอยหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ว่าฝ่ายค้านจะถามอะไรและอภิปรายเรื่องอะไร จะพยายามเตรียมคำตอบให้ครบ เพราะไม่อยากไปถึงแล้วคำตอบไม่ครบ ส่วนกรอบวันอภิปรายนั้น ตนยังไม่ทราบว่าตกลงกี่วันกันแน่
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีให้ฝ่ายค้านกลับไปแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ฝ่ายค้านสามารถโต้แย้งได้โดยจะต้องดูเหตุผลข้อโต้แย้งที่จะนำส่งกลับมา หลังจากนั้นตนจะปรึกษากับฝ่ายกฎหมายต่อไป ส่วนชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในข้อบังคับสภาระบุไว้อยู่แล้วว่าห้ามกล่าวถึงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น แค่กล่าวเขาก็ห้ามอยู่แล้ว แต่นี่เขียนเป็นญัตติชัดเจนยิ่งกว่ากล่าว แบบนี้จะนำไปสู่การประท้วงวุ่นวายในสภา ประธานเองก็ต้องรับผิดชอบในฐานะที่อนุญาตให้ญัตติที่มีชื่อบุคคลภายนอกเข้าไป ถ้ามีการฟ้องร้อง ประธานก็ต้องเป็นจำเลยในการฟ้องร้องด้วย ไม่อยากให้มีเหตุการณ์อะไรที่มันเกิดขึ้นในลักษณะนี้
'วันนอร์' อ้างกลัวถูกฟ้อง
เมื่อถามว่า มีประเด็นเรื่องหนังสือด่วนที่ทำถึงผู้นำฝ่ายค้านฯ เลย 7 วันที่ยื่นญัตติไปแล้ว ทำให้ประธานไม่มีอำนาจสั่งให้แก้ไขญัตติ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ได้เลย เขาจะนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้น นับจากวันที่ยื่นเป็นวันที่ 1 และตนได้แจ้งนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ไปตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. มารับทราบตามที่เจ้าหน้าที่รายงานมาทุกอย่างแล้ว รวมถึงมีประชุมฝ่ายกฎหมายแล้วว่าขอให้รับทราบให้เอาไปแก้ไขด้วย ในเรื่องชื่อบุคคลภายนอก ซึ่งถือว่ารับทราบแล้ว
"เมื่อผู้นำฝ่ายค้านฯ ไม่ได้นำญัตติกลับไป ผมก็ทำหนังสือออกไปว่าขอให้แจ้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ให้รับทราบแล้ว ก็ถือว่ารับทราบแล้ว วันที่ 6 ช่วงบ่ายๆ ผมก็แจ้งไปแล้ว วันที่ 7 มี.ค.นี้เป็นขั้นตอนหนังสือเท่านั้น การจะแจ้งให้ทราบ แจ้งด้วยวาจาก็ได้ หรือแจ้งเป็นหนังสือ ได้มีการเชิญมาให้ความเข้าใจ ผมต้องการสร้างความเข้าใจกันก่อนกับผู้นำฝ่ายค้านฯ หากจะเอาไปแก้ก็เอาไปแก้ แต่หากไม่แก้ก็ต้องยืนยันกันตามที่ได้คุยไปแล้ว"
ส่วนที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ระบุว่าประธานสภาฯ ทำให้ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายรองรับ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของนายพริษฐ์ ทุกคนคิดเห็นได้ ประธานก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและอาศัยข้อกฎหมายประกอบต่างๆ ก่อนตัดสินใจ ส่วนวิป 3 ฝ่ายเป็นเรื่องของการตกลงเรื่องอื่น แต่อำนาจในการบรรจุวาระเป็นของประธาน มีอำนาจบรรจุหรือไม่บรรจุก็ได้ ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้ตัดสินอย่างเดียว ก็ฟังจากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกฎหมาย ข้อบังคับการประชุม เลขาธิการสภาฯ รวมไปถึงนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาเรื่องญัตติ กระทู้
"เขาให้ความเห็นมาเรียบร้อยแล้วว่าการกล่าวถึงบุคคลภายนอกจะเป็นประเด็น เรื่องข้อบังคับและความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม ก็แจ้งมาให้ประธานทราบ ประธานก็เห็นด้วยตามนั้น จึงเรียกผู้นำฝ่ายค้านฯ มารับทราบตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 6 มี.ค.” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค ปชน. กล่าวยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องแก้ไขญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยการให้ตัดชื่อบุคคลภายนอก (นายทักษิณ ชินวัตร) ออกจากญัตติแต่อย่างใด เพราะจากหนังสือที่นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งถึงผู้นำฝ่ายค้านฯ และการให้สัมภาษณ์ของประธานสภาฯ ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ที่บอกให้ฝ่ายค้านแก้ไขญัตติฯ ดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่าตัวญัตติที่ยื่นไปทางพรรค ปชน.ได้พิจารณาอย่างดีแล้ว เพราะประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านเน้นคือการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ ซึ่งมีหลายมิติ ซึ่งมิติหนึ่งคือการที่มีบุคคลภายนอกเข้ามา มีส่วนในการสั่งการหรือครอบงำการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงตัวนายกฯ ปล่อยให้มีการดำเนินการดังกล่าว
ฝ่ายค้านยันไม่แก้ญัตติ
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ในเชิงกฎหมายและตัวข้อบังคับการประชุมสภาฯ ก็เขียนไว้เพียงว่า ตัวญัตติเปิดอภิปรายฯ ความถูกต้องสมบูรณ์อยู่ที่จำนวน สส.ที่เข้าชื่อว่าจำนวนครบหรือไม่ ประเด็นที่อ้างถึงในญัตติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประธานสภาฯ ควรให้น้ำหนักกับประเด็นเหล่านี้มากกว่า ไม่ใช่มาตีความเชิงรายละเอียด เพราะเมื่อบรรจุวาระแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบของผู้อภิปรายหรือตัวผู้เสนอญัตติเองหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ที่ก็มีกระบวนการอยู่ว่าจะโต้แย้งอย่างไร ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติก็เป็นแบบนี้มาตลอด
"เราเลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ประธานสภาฯ กังวลคืออะไรกันแน่ เพราะตัวประธานสภาฯ บอกว่าเกรงจะเกิดความเสียหายกับบุคคลภายนอก และเกรงว่าตัวเองจะถูกฟ้องร้องเป็นคนแรก ซึ่งคิดว่าอันนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เบื้องต้นที่ทางคนในพรรคประชาชนหารือกันเบื้องต้นก็เห็นกันว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขญัตติแต่อย่างใด ซึ่งในสัปดาห์นี้ ทางผู้นำฝ่ายค้านฯ จะทำหนังสือโต้แย้งถึงประธานสภาฯ"
รองหัวหน้าพรรค ปชน.กล่าวว่า ในกลางสัปดาห์นี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ได้นัดประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อกำหนดวันการอภิปรายว่าจะใช้กี่วัน ที่ฝ่ายค้านก็จะยืนยันว่าขอเวลาการอภิปรายเต็มที่ แต่จะได้กี่วันก็มาตกลงกัน ตอนนี้จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาหยุดหรือกลับไปพิจารณาย้อนหลังว่าญัตติยื่นอภิปรายถูกหรือไม่ถูก เพราะญัตติควรถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ได้แล้ว หากเกิดจะถูกดึงเรื่องจนไม่สามารถเปิดอภิปรายฯ ได้ในสมัยประชุมนี้ จะทำให้ฝ่ายค้านเสียโอกาสในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
เมื่อถามว่า ประธานสภาฯ ก็ยืนยันสองรอบว่าหากไม่แก้ไขญัตติยังไงก็จะไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม รองหัวหน้าพรรค ปชน.กล่าวว่า เราก็อยากฟังเหตุผลที่แท้จริง เพราะการจะพิจารณาความบกพร่องของญัตติต้องดูที่การอ้างถึงข้อกฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ คำถามจริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวประธานสภาฯ คนเดียว คำถามอาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีด้วยว่าเมื่ออ่านญัตติแล้วพร้อมให้ตรวจสอบ แต่ถ้าถึงทางตันจริงๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดจะมาหารือกันอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวว่า ขณะนี้มั่นใจเต็มร้อย ข้อมูลเสร็จมาสักระยะ ยกเว้นของคนที่ต้องอภิปรายเรื่องภาวะผู้นำหรือความล้มเหลวทางการบริหารราชการ มีเรื่องใหม่เข้ามาเรื่อยๆ หลายสัปดาห์เลยต้องเติมสคริปต์ไม่หยุด ซึ่งเราแก้เล็กๆ โครงใหญ่น่าจะจบแล้ว ส่วนเรื่องเวลาประธานสภาฯ ไม่บรรจุญัตติ เราจะยืนยันเป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ จะใส่ชื่อหรือไม่ใส่ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร
น.ส.ศิริกัญญายอมรับว่า กังวล เพราะเวลาสมัยประชุมนี้ใกล้หมดเต็มที วันที่ 10 เมษายน 2568 ตอนนี้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) แย็บๆ มาว่าน่าจะอภิปรายได้ช่วง 24-28 มี.ค.2568 ถ้าการเปิดโต๊ะเจรจาเรื่องเวลา มันยังไม่ได้เริ่ม เลื่อนไปอีก ก็ไม่รู้กำหนดการอภิปรายต้องเลื่อนไปจนถึงต้นเมษายนหรือเปล่า ลองถามนายทักษิณ สบายใจหรือเปล่ามีชื่ออยู่ในญัตติ คิดว่านายทักษิณคงเซย์เยส (Say Yes) คงโอเค น่าจะมั่นใจว่า น.ส.แพทองธารตอบได้แน่นอนว่า ถ้าโอเคจะได้เดินหน้าเจรจาเรื่องวันเวลาอภิปรายกันต่อ
"การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เป็นเวทีที่ดีมากที่นายกฯ จะได้แสดงภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ ได้โชว์ให้เห็น เราเห็นการอภิปรายแบบคล้ายๆ อย่างนี้มาก่อน สมัยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พูดเรื่องภาวะผู้นำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ลุกขึ้นตอบได้อย่างสง่าผ่าเผย จบข้อกล่าวหาในเรื่องความไม่มีภาวะผู้นำไปได้อย่างดี เพราะตอบอย่างสุขุม ดังนั้นมันง่ายมากที่คุณอุ๊งอิ๊งจะแก้ต่างในประเด็นเหล่านี้ เราไม่เห็นประเด็นว่าจะให้อภิปรายเหลือวันเดียวไปเพื่ออะไร เปิดโต๊ะเจรจาดีกว่า"
เมื่อถามย้ำว่า ยิ่งปิดปากฝ่ายค้าน สังคมยิ่งเคลือบแคลงพฤติกรรมและข้อกล่าวหานายกฯ หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า "ใช่ ไม่ต้องพูดเองเลย ทุกคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียเป็นเอกฉันท์ เวลาที่มีข่าวว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลขอแค่ 1 วัน ทุกคนก็จะคอมเมนต์เป็นเอกฉันท์เลยว่าแบบ โอ้โห กลัวอะไร ปิดปากฝ่ายค้าน การที่เปิดตัวอย่างตรงไปตรงมา แน่นอน 5 วัน มันอาจจะเป็นเพื่อต่อ 3 วันอย่างนี้ เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเวลาให้มันลงได้ ทำให้มันเป็นไปตามปกติดีกว่า อย่าเล่นเกมตรงนี้เลย มันดูไม่ดีกับทางฝั่งรัฐบาลเอง"
'ลุงป้อม' ลุยซักฟอกแน่
นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรค พปชร.จะมีการประชุมวงเล็กที่เป็นระดับแกนนำพรรคบางส่วนและ ส.ส.ของพรรคที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่พรรค พปชร. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว รวมถึงการเตรียมพร้อมก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ จากนั้นจะนำสิ่งที่พูดคุยกัน โดยเฉพาะท่าทีของพรรค พปชร. ไปคุยในที่ประชุมวิปฝ่ายค้านวันที่ 11 มี.ค.ต่อไป
เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ประธานสภาฯ จะให้ตัดชื่อนายทักษิณ นายชัยมงคลกล่าวว่า คงไม่เห็นด้วย เพราะว่าสังคมเขาก็รับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะเอามือเดียวไปปิดฟ้าจะปิดมิดเหรอ วันนี้มันต้องแฟร์ๆ มีอะไรก็พูดจากัน เพราะเป็นเรื่องของบ้านเมืองที่เราสำรวจตรวจสอบกัน แล้วจะไปกลัวทำไมกับการอภิปราย ถ้าไม่มีความผิดอะไร หนีทำไม และหากไม่บรรจุญัตติฯ น่าจะบานปลาย เพราะว่าวันนี้ต้องชัดเจน ต้องแสดงจุดยืนว่าคุณทำเพื่อใคร คิดว่าสังคมคงจะรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่าเอามือเดียวไปปิดฟ้าเลย ปิดไม่มิดหรอก
"เท่าที่ฟังมาบอกว่าคนนอก ถ้าคนนอกมีการพูดพาดพิง หมิ่นประมาท คุณก็ฟ้องไปสิ เมื่อไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองจะไปกลัวทำไม เมื่อคนนอกเขาก็บอกอยู่แล้วว่า สทร. (เสือกทุกเรื่อง) เขาก็บอกชัด แล้ววันนี้บางเรื่องมาจากเขา ต้องคุย จะไม่ให้คุยได้ยังไง ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าควรยังมีชื่อไว้"
รองหัวหน้า พปชร.กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ให้ความสำคัญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยได้บอกว่าจะร่วมอภิปรายด้วย และจะไปร่วมประชุมสภาตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยคาดว่าจะอภิปรายในประเด็นที่พรรค พปชร.ได้กำหนดไว้ เช่น นโยบายเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ การทำข้อตกลง MOU 44 เรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ และอีกหลายเรื่องที่พรรคเตรียมไว้ทั้งที่เปิดเผยได้และยังไม่เปิดเผย หากรัฐบาลให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายแค่วันเดียว ก็เหมือนรัฐบาลขี้ขลาด ก็จะเป็นการประจานตัวเองว่ากลัวการตรวจสอบในสภา เพราะนายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะที่ตรวจสอบได้
“การอภิปรายครั้งนี้เราไม่เอาน้ำ เราเอาเนื้อ และต้องสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวของนายกฯ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างไร เบื้องต้นพรรคเตรียม สส.ที่จะอภิปรายประมาณ 4-6 คน” รองหัวหน้าพรรค พปชร.ระบุ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช.รีบตรวจสอบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานสภาฯ ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และเพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ขอให้ ป.ป.ช. มีหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้รีบบรรจุญัตติดังกล่าวตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญโดยเร็วด้วย
ตรวจสอบญัตติเกิน 7 วันแล้ว
นายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2568 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2568 สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2559 เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เรียน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ โดยอ้างถึงหนังสือลงวันที่ 27 ก.พ.2568 ไว้โดยชัดแจ้ง ประธานสภาฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ จึงขอให้ท่านแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว
"แต่มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2559 ซึ่งลงวันที่ 7 มี.ค.2568 นั้น จึงเป็นการตรวจสอบญัตติดังกล่าวโดยกล่าวอ้างว่ามีข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อบกพร่องที่ไม่อยู่ในกำหนดเวลาเจ็ดวันที่บังคับไว้ตามข้อ 176 เพราะนับจากวันที่ 27 ก.พ. ถึง 7 มี.ค.68 ยังไงก็เกินเจ็ดวันแน่นอน ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าตรวจสอบข้อบกพร่องแล้วมีการอ้างถึงบุคคลภายนอกนั้น จึงอาจเป็นการที่ประธานสภาฯ ใช้หน้าที่และอำนาจโดยไม่ชอบ ตามข้อบังคับข้อ 9 (6) และอาจวางตัวไม่เป็นกลางตามข้อ 9 (1) ด้วย" นายเรืองไกรระบุ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ไม่ไว้วางใจ แค่นายกรัฐมนตรี!” ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
เมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 36.49 ระบุว่าควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 31.83 ระบุว่าเห็นด้วยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ แค่เพียงคนเดียว, ร้อยละ 17.63 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และ/หรือรัฐมนตรีคนใด, ร้อยละ 11.91 ระบุว่าควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีบางคน และร้อยละ 2.14 ระบุว่าควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเฉพาะรัฐมนตรี ไม่รวมนายกรัฐมนตรี
ด้านระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 37.25 ระบุว่าจำนวน 3 วัน รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่าจำนวน 2 วัน, ร้อยละ 21.30 ระบุว่าจำนวน 5 วัน, ร้อยละ 11.68 ระบุว่าจำนวน 1 วัน, ร้อยละ 4.35 ระบุว่าจำนวน 4 วัน
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “เกมการเมืองไทย ณ วันนี้” จำนวน 1,227 คน ระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2568 พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าลักษณะของ “เกมการเมือง” คือ การแบ่งเค้ก แบ่งตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ร้อยละ 62.75 ในรัฐบาลแพทองธาร กรณีที่เป็นการเล่นเกมการเมือง คือ การโจมตีกันไปมา ปล่อยข่าวปลอม ดิสเครดิต ร้อยละ 60.46 โดยมองว่า เกมการเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เพราะมีมานาน เห็นมาทุกยุคสมัย มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ มองว่ามีผลต่อการพัฒนาประเทศมาก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 42.95 สุดท้ายกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 79.63 เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าเกมการเมืองทำให้การเมืองไทยล้าหลังประเทศอื่นๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทวงความจริง30วันตึกสตง.
องค์กรต้านโกงจี้รัฐบาลครบ 30 วันตึก สตง.ถล่ม เร่งรัดความจริงตอบคำถามสังคม
คาดสินค้ากษ.ส่งออกพุ่ง เชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัวลง
"สนค." วิเคราะห์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น
โต้บ่อนกาสิโนคือรายได้หลัก
"นักวิชาการ" สวนกลับ "พ่อนายกฯ" ชี้หัวใจเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์คือ "บ่อนกาสิโน" ทุกพื้นที่มีรายได้หลักจากกาสิโน 65-90%
อิ๊งค์สูดยาดมยังไหว โวยาบ้าราคาสูงขึ้น
"อิ๊งค์" ลงพื้นที่ "สกลนคร-นครพนม" ประชุมครม.สัญจรอังคารนี้
พรรคส้มตบปากแม้ว สส.เหนือเดือด!พูดดูถูก‘เท้ง’สึ่งตึงไล่ทำหน้าที่รัฐบาลให้ดีก่อน
"สส.เหนือ ปชน." เดือด! รวมตัวดีดปาก "แม้ว" หลังปราศรัยโจมตี “หัวหน้าเท้ง” สึ่งตึง "พุธิตา" ซัดเป็นถึงผู้หลักผู้ใหญ่ไม่สมควรพูดหยาบคายดูถูกกัน
นายกฯ ไม่ตอบ 'กล้าธรรม' ชนะเลือกตั้งซ่อมสส.นครศรีธรรมราช
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามกรณีพรรคกล้าธรรม(กธ.)ชนะเลือกตั้ง ซ่อมสส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 8