โต้คำร้องค้างท่อ สว.จ่อยื่นปปช. ฟัน‘ทวี-ยุทธนา’

กกต.โต้การพิจารณาสำนวนฮั้วเลือก สว. ค้างท่อ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ “เลขาฯ แสวง” ไม่เป็นความจริง เผยทุกขั้นตอนยึดความเป็นอิสระ ไม่แทรกแซง เป็นธรรม ยันทุกสำนวนมอบรองเลขาฯ ดำเนินการ และทุกเรื่องต้องจบที่ดุลพินิจของ กกต. ขณะที่ "สว.สีน้ำเงิน" จ่อยื่น ป.ป.ช.ฟัน "ทวี-ยุทธนา" ผิด ม.157 เล็งเอาผิด กคพ.ด้วย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ชี้แจงกรณีมีข่าวว่า มีผู้นำหลักฐานการฮั้วเลือกสมาชิก​วุฒิสภา​ (สว.) ​มายื่นให้ กกต.เป็นจำนวนมากถึง 577 เรื่อง และ 9 เดือนที่ผ่านมา กกต.ได้สั่งยกคำร้องฮั้วเลือก สว.ไปอย่างเงียบๆ ถึง 284 เรื่อง เท่ากับคำร้องถูกตีตกไปแล้วเกินครึ่ง เหลือคำร้องที่ยังค้างท่ออีก 287 เรื่อง และอยู่ที่คณะอนุกรรมการอีก 100 เรื่อง ยังรอนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.สั่งการอีก 106 เรื่อง          โดยสำนักงาน กกต.ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง และขอชี้แจงว่าการพิจารณาคำร้องสำนวน กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด โดยมีหลักการในการทำคำร้อง สำนวนคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกระดับ หรือการเลือก สว.ด้วยความเป็นอิสระ ทุกขั้นตอนของการพิจารณาคำร้อง สำนวน เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน ไม่แทรกแซง ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดไม่สามารถแทรกแซงในระหว่างการพิจารณาทำคำร้อง สำนวน ในทุกขั้นตอน

หลักความเป็นธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และหลักฐานเกี่ยวกับคำร้อง สำนวน และรวบรวมพยานหลักฐานจนสิ้นกระแสความ และหลักการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทุกคำร้องสำนวนจะนำเข้าที่ประชุม กกต. เช่นคำร้องที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนสั่งไม่รับคำร้องหรือยกคำร้อง ไม่ว่าชั้นใดต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาทุกคำร้องสำนวน และในขั้นตอนการพิจารณาคำร้อง สำนวน มี 4 ชั้น    

ชั้นที่ 1 สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้รับสำนวนแล้ว ให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนและจัดทำความเห็น เพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีความเห็นประกอบสำนวน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้จัดส่งสำนวนไปยังสำนักงาน กกต.ส่วนกลางโดยเร็ว

ชั้นที่ 2 สำนักงาน กกต.เมื่อได้รับสำนวนจากสำนักงาน กกต.จังหวัดแล้ว ให้พนักงานสืบสวนและไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวนดำเนินการวิเคราะห์สำนวน และจัดทำความเห็นเสนอผ่าน ผอ.ฝ่าย, รอง ผอ.สำนัก, ผอ.สำนัก และเลขาธิการ กกต.

ชั้นที่ 3 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งได้พิจารณาแล้วจะทำความเห็น และสำนักงาน กกต.เสนอสำนวนให้ กกต.พิจารณา

และชั้นที่ 4 เมื่อ กกต.ได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งแล้ว ต้องพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการโดยเร็ว 

ทั้งนี้ การสั่งและทำความเห็นของเลขาธิการ กกต.นั้น ตัวเลขาฯ กกต.ได้มีคำสั่งสำนักงานมอบหมายงานให้รองเลขาฯ กกต. จำนวน 2 คน ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาฯ กกต. ในการสั่งหรือทำความเห็นในสำนวนการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของการเลือกตั้งทุกระดับการเลือก สว. ซึ่งได้ถือปฏิบัติตามลักษณะดังกล่าวข้างต้นมาโดยตลอด กรณีคอลัมน์ดังกล่าวเขียนว่า “ยังมีสำนวนค้างรอให้นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.สั่งการอีก 106 เรื่อง ถ้าเลขาฯ กกต.สั่งยกคำร้องก็จอดป้าย" จึงไม่เป็นความจริง เพราะรองเลขาธิการ กกต.ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต.จะเป็นผู้สั่งแทน แม้ว่ารองเลขาธิการ กกต.ที่ได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่แทนจะสั่งสำนวนอย่างไร เช่น ไม่รับคำร้อง หรือยกคำร้อง หรือมีการสั่งสำนวนในขั้นตอนใด ต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาทุกกรณี

ด้าน พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 มี.ค. เวลา 15.00 น. กลุ่ม สว.ประมาณ 30 คนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการยื่นเอาผิดเพิ่มเติมต่อเนื่องจากที่กลุ่ม สว.เคยเข้าชื่อยื่นให้ประธานวุฒิสภายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เอาผิด พ.ต.อ.ทวีและดีเอสไอไปก่อนหน้านี้

"การยื่นต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 11 มี.ค. เป็นผลสืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษดีเอสไอมีมติรับคดีกล่าวหาการเลือก สว.ปี 2567 เป็นคดีพิเศษในข้อหาฟอกเงิน แม้จะเป็นอำนาจที่ดีเอสไอรับตรวจสอบได้โดยไม่ต้องใช้มติกรรมการ 2 ใน 3 แต่เหตุผลในการรับเป็นคดีพิเศษ โดยระบุว่าเป็นคดีที่มีมูลค่าความเสียหายเกิน 300 ล้านบาทนั้น เป็นการตั้งสมมติฐานแบบเลื่อนลอย จงใจกลั่นแกล้ง เหมือนต้องการล็อกเป้าเป็นคดีพิเศษ จึงต้องยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.เอาผิด รวมถึงกำลังพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะเอาผิดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่ร่วมลงมติด้วยหรือไม่" พล.ต.ต.ฉัตรวรรษกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง