"ฝ่ายค้าน" ถก "ปธ.สภาฯ" ยอมตัดชื่อ "ทักษิณ" จากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แลกเวลาซักฟอกเพิ่มอย่างน้อย 30 ชม. "เท้ง" ยันไม่เสียหลักการ "วิป 3 ฝ่าย" สะดุด หารือกรอบเวลาไม่ลงตัว "วิสุทธิ์" ขอให้กลับไปตั้งสติก่อนกำหนดเวลาซักฟอก หลังฝ่ายค้านยืนกราน 30 ชม. นัดเคลียร์ใหม่ 19 มี.ค. "อิ๊งค์" บอกฝ่ายค้านแฟร์ดี ยอมถอนชื่อ "ทักษิณ" โยนถามผู้รู้ใช้คำว่าพ่อแทนเหมาะหรือไม่ "ชูศักดิ์" โอดนักการเมืองไม่ใช่พระ ยันตั้ง รมต.-ขรก.การเมืองต้องเข้มข้น หลังศาล รธน.ไม่วินิจฉัยปมซื่อสัตย์สุจริต
ที่รัฐสภา วันที่ 13 มี.ค. เวลา 10.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน หลังจากเปิดให้สมาชิกหารือเสร็จสิ้นก่อนเข้าสู่วาระ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นหารือเรื่องการบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตามหนังสือที่ประธานได้ตอบกลับมาถึงตนเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เป็นหนังสือด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่โต้แย้งกลับมาในเรื่องของความเห็นที่เรามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ลงนามโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากขอความชัดเจนอย่างแรกว่า หนังสือฉบับนี้ ทุกถ้อยคำในหนังสือฉบับนี้เป็นการใช้อำนาจของประธาน และประธานพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อทุกข้อสงสัยและทุกการตอบในหนังสือฉบับนี้ใช่หรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตนมีหน้าที่และต้องรับผิดชอบ ยินดีรับผิดชอบทุกอย่างถ้าเป็นการถามที่เกิดขึ้นจากเลขาธิการฯ เพราะได้ดำเนินการตามหน้าที่ และเลขาธิการฯ ก็ตอบตามที่หนังสือของนายณัฐพงษ์โต้แย้งมา
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า อยากจะได้ความชัดเจนเช่นเดียวกัน ประธานยืนยันว่า ถ้าตนไม่ทำผิดตามข้อบังคับ ก็ไม่น่ามีประเด็นอะไร ซึ่งตามข้อบังคับระบุไว้ชัดเจนว่า พวกเราสามารถอภิปรายกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอกได้ หากไม่ได้สร้างความเสียหาย หรือถ้าสร้างความเสียหายผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งจากการให้ข่าวที่ผ่านมาของประธานระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ประธานไม่สามารถให้พวกตนระบุชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลงไปในญัตติได้ เพราะท่านประธานเสี่ยงที่จะเป็นคนที่ถูกฟ้องร้องเอง ดังนั้นถ้าวันนี้พวกตนปรับคำในญัตติ หมายความว่าพวกตนยังสามารถเดินหน้าการอภิปรายต่อ และพูดชื่อบุคคลใดก็ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยที่พวกตนเป็นผู้รับผิดชอบเอง ประธานยืนยันตามหลักฐานตามหลักการหรือไม่
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ผู้นำฝ่ายค้านฯ บอกจะเอ่ยชื่อบุคคลใดก็ได้โดยที่ท่านจะรับผิดชอบเอง ตนคิดว่าเป็นประเด็นของที่ประชุมนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้พูดจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียวเท่านั้น ถ้าไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ประธานในที่ประชุมซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยก็จะถูกตำหนิและเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่ตนก็ยินดีถ้าหากท่านไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ซึ่งบุคคลภายนอกตนพูดตรงๆ ว่าไม่ได้หมายความถึงนายทักษิณ จะเป็นผู้อื่นหรือใครก็ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่สามารถที่จะดำเนินการอภิปรายได้
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ถ้าวันนี้พวกตนจะยอมปรับถ้อยคำในญัตติ ตนอยากได้ความชัดเจนว่า ถ้าในวันประชุมจริง ท่านประธานต้องยึดตามข้อบังคับว่า การอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอกกระทำได้ และพวกตนพร้อมที่จะเป็นผู้รับผิดรับชอบต่อการกระทำนั้นเอง โดยที่ประธานจะไม่ใช้อำนาจของประธานในการขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ถอดชื่อทักษิณแลกเพิ่มเวลา
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตนก็เคยใช้วาจาอย่างนี้ และเคยใช้ในสภานี้ อาจจะคราวที่แล้ว โดยตนบอกจะรับผิดชอบเอง หากเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกถ้าเขาฟ้อง แต่ประธานก็บอกว่าไม่ได้เพราะพูดในสภา ประธานที่ประชุมต้องรับผิดชอบในเรื่องกติกาและข้อบังคับ แต่ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องที่เขาจะฟ้องใคร ถ้าประธานปล่อยให้มีการประท้วงโดยที่ผู้พูดและผู้ประท้วงบอกว่ารับผิดชอบ แล้วประธานมาทำหน้าที่อะไร
ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นเสนอว่า ให้ประธานใช้ข้อบังคับที่ 76 สามารถอนุญาตให้นายกฯ และรัฐมนตรีเอาบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจงได้เพื่อความสบายใจ และเพื่อความเป็นธรรมของนายทักษิณ ประธานก็แค่ทำหนังสือถึงนายกฯ ว่า อนุญาตให้นายกฯ พาบิดาเข้ามานั่งชี้แจงร่วมด้วย อันนี้ก็จะเป็นความเป็นธรรมของทั้งนายกฯ และบิดาของนายกฯ ที่ชื่อทักษิณด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ไม่ได้หมายความว่าตนระแวงหรือกลัว สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ตนไม่เคยระแวง และไม่ได้หวาดกลัวถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและข้อบังคับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือดังกล่าวได้ใช้เวลานาน ทำให้ที่ประชุมตกลงกันจะมีการหารืออีกครั้งในช่วงบ่าย
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ร่วมหารือกับฝ่ายค้าน นำโดยนายณัฐพงษ์ พร้อมนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน และนายรังสิมันต์ โรม รวมทั้งนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวก่อนการประชุมว่า จะร่วมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุปภายในวันนี้ และสามารถเริ่มอภิปรายได้ในวันที่ 24 มี.ค.
ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น นายณัฐพงษ์แถลงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีในการพูดคุยระหว่างกัน ส่วนการปรับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ต้องมีการปรับคำตามที่มีการหารือในห้องประชุมสภา และตามที่ประธานสภาฯ ยอมบรรจุญัตติ แต่ในรายละเอียดว่าจะมีการปรับคำอย่างไร คงต้องมีการเจรจาพูดคุยในเรื่องกรอบเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย จึงต้องรอการประชุมร่วมกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝั่งรัฐบาลในเวลา 16.00 น.วันนี้
"พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันควรได้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง ซึ่งก็ต้องรอดูว่าฝั่งรัฐบาลจะใช้เวลาในการชี้แจงเท่าไหร่ ซึ่งในวงการประชุมเรายืนยันอย่างน้อยถ้าจะให้มีการปรับคำ เพื่อให้กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดินหน้าต่อได้ ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าควรจะให้เวลาฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมที่สุด คือต้องมีเวลาอย่างน้อย 30 ชั่วโมง" นายณัฐพงษ์กล่าว
ถามว่า ข้อตกลงยอมปรับคำในญัตติมีการอนุญาตให้อภิปรายถึงบุคคลภายนอกหรือไม่ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ในที่ประชุมสภาพูดคุยกันชัดเจนแล้ว หากมีการพาดพิงบุคคลภายนอกให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกเอง ไม่เกี่ยวกับประธานซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการประชุมเท่านั้น
ซักว่ามีสัญญาณจากฝั่งรัฐบาลจะมีการประท้วงหรือไม่ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ต้องรอการหารือร่วมกับวิปรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งจะได้ข้อสรุปชัดเจนในเรื่องการปรับคำและกรอบระยะเวลา ซึ่งประธานสภาฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอว่า หากจะให้ฝ่ายค้านปรับคำ ก็ต้องให้เวลาฝ่ายค้านขั้นต่ำ 30 ชั่วโมง
ถามว่า หากมีการปรับคำจะถือว่าฝ่ายค้านเสียจุดยืนหรือไม่ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เราไม่ได้เสียหลักการอะไร แค่ปรับคำเล็กน้อย เราพร้อมเดินหน้าต่อ เพราะเนื้อหาของการอภิปรายที่จะพาดพิงถึงบุคคลภายนอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง
วิป 3 ฝ่ายสะดุดเวลาซักฟอก
เวลา 16.00 น. มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนคณะรัฐมนตรี มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ เป็นประธาน เพื่อหารือถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ใช้เวลากว่า 1.30 ชม.
นายณัฐพงษ์แถลงว่า ค่อนข้างน่าเสียดายที่ยังหาข้อสรุปในวันนี้ไม่ได้ แต่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเราเองก็จะกลับไปหารือกันในฝ่ายของตนเอง และจะมาหารือกันในวันพุธหน้าอีกครั้ง ซึ่งประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือเรื่องกรอบเวลา พรรคฝ่ายค้านยอมปรับคำในญัตติ แต่ยังขอยืนยันในเรื่องกรอบเวลาไว้ที่ 30 ชม. แต่ปรากฏว่าเมื่อมาเจรจากับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล และนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทน ครม. ยังสรุปเรื่องกรอบเวลาไม่ได้ ส่วนจะเป็นตัวเลขเท่าใดนั้น ยังขอไม่ให้ข่าว เพราะอาจจะกระทบต่อการเจรจาที่เป็นอยู่
"บอกได้ว่าตัวเลข 30 ชั่วโมงที่ฝ่ายค้านเสนอไป ครม.และฝ่ายรัฐบาลต้องการเวลาเท่าไหร่เราก็ยินดี แล้วค่อยคำนวณออกมาว่าจะเป็นกี่วัน เรายึดที่เนื้อหาสาระก่อน แต่ถ้าเดินไปตามกรอบนี้ได้ วันนี้ก็คงได้ข้อสรุป แต่ปรากฏว่ากรอบเวลาของเรา รัฐบาลอาจจะยังไม่เห็นด้วย" นายณัฐพงษ์กล่าว
ถามถึงการนำชื่อนายทักษิณออกจากญัตติ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ต้องนำชื่อนายทักษิณออกจากญัตติ แต่จะปรับเป็นคำอื่นอย่างไรนั้นคงต้องรอ เพราะทุกอย่างล้วนส่งผลกัน เพียงแค่การเจรจากรอบเวลาเอง ทางรัฐบาลก็ยังคงไม่ให้ข้อสรุปกับพวกเรา
ส่วนนายวิสุทธิ์กล่าวว่า ที่ยังไม่ได้ข้อยุติเป็นข้อตกลงให้ทุกคนไปหารือพูดคุยกันในพรรคของตัวเองมาก่อนว่าจะอภิปรายกี่ชั่วโมงถึงจะเหมาะสม โดยไม่ต้องมาตั้งป้อมใส่กัน เพื่อหาทางให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อทุกคนกลับไปคิดแล้วก็ให้มาบอก โดยจะมีการประชุมอีกครั้งในวันพุธที่ 19 มี.ค. เวลา 09.30 น.
"วันนี้มันไวไป เพราะทุกคนถือธงมาเพื่อที่จะตกลงกันก็ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องยืนกราน 30 ชั่วโมง จึงต้องให้กลับไปคิดทบทวนใหม่ ให้มีสติ ใจเย็นๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกัน" นายวิสุทธิ์กล่าว
มีรายงานว่า ในการหารือวิป 3 ฝ่าย มีเพียงการถกเถียงกันเรื่องกรอบระยะเวลาที่จะอภิปรายว่าแต่ละฝ่ายจะใช้กี่ชั่วโมง และวันเวลาควรเป็นช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านยืนว่าจะขอเวลา 30 ชม. ในการอภิปรายเฉพาะในส่วนของฝ่ายค้าน ขณะที่ในส่วนของฝั่งรัฐบาล เสนอว่าอยากให้ใช้เวลาในการอภิปราย 20+10 คือให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายทั้งหมด 20 ชั่วโมง
ขณะที่เวลาของฝ่ายรัฐบาลจะเป็น 10 ชั่วโมง โดยในจำนวน 10 ชั่วโมงนั้น จะแบ่งเป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายรัฐบาล และประธานในที่ประชุม โดยจะเปิดให้มีการอภิปรายระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค. และลงมติในวันที่ 26 มี.ค. อย่างไรก็ตาม วิปทั้ง 3 ฝ่ายจะมีการหารือกันอีกครั้งในเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มี.ค.นี้ เนื่องจากต้องให้แต่ละพรรคไปพูดคุยกันในพรรคก่อนว่าเห็นเป็นอย่างไร
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีฝ่ายค้านยอมตัดชื่อนายทักษิณออกจากญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใช้แค่คำว่าชายคนนั้นว่า อย่างที่บอกอะไรที่ถูกต้องตามกฎตามหลักก็ตามนั้นทุกๆ เรื่อง และชายคนนั้นก็แฟร์ดีไม่มีชื่อ
ถามว่า ล่าสุดเห็นว่าจะใช้คำว่าพ่อแทนแบบนี้เหมาะหรือไม่เหมาะ น.ส.แพทองธารยิ้มก่อนย้อนถามสื่อว่า เหมาะหรือไม่เหมาะเชิญทุกท่าน ผู้รู้ตอบเลย พร้อมผายมือออก เมื่อถามย้ำว่าฝ่ายค้านขอเวลาอภิปราย 30 ชั่วโมง พร้อมจัดสรรเวลาให้หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ได้ค่ะ ความจริงวางแผนไว้แล้ว ถ้าอภิปรายก็ไปฟังอยู่แล้ว และคงอยู่ที่สภาเพื่อเตรียมตัวและเตรียมคำตอบตามนั้นไป ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์
ที่จังหวัดจันทบุรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จะมี สส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 คน พร้อมยกมือไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแน่นอน เพราะมีการพูดคุยกับเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าเร็วๆ นี้จะทยอยเข้ามาที่พรรค
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์แสดงความเห็นถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตอนหนึ่งระบุว่า แม้จะยอมถอนชื่อนายทักษิณออกจากญัตติ แต่เชื่อว่าเมื่อต้องอภิปราย ฝ่ายค้านจะโยงไปถึงรัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณอยู่ดี
“จุดสำคัญฝ่ายค้านต้องได้อภิปราย เพราะประชาชนรอฟังข้อมูลทีเด็ดการซักฟอกนายกฯ และรอดู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดในสภาอย่างตื่นเต้นกับข้อมูลลึกลับที่ไม่รู้มาก่อนเลย พล.อ.ประวิตรบอกว่าไม่รู้ๆ แต่การซักฟอกครั้งนี้สังคมอาจได้รู้ความลับบางอย่างที่สะเทือนการเมือง" นายจตุพรระบุ
พท.โอดนักการเมืองไม่ใช่พระ
วันเดียวกับ น.ส.แพทองธารกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องตีความนิยามซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า ไม่มีอะไร ถือว่าเราได้ถามไปแล้ว การตั้งรัฐมนตรีก็ใช้มาตรฐานเหมือนตอนตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะไม่อยากให้มีอะไรที่เซนซิทีฟ ก็พยายามตรวจสอบให้ดีที่สุด
"เราพยายามทำให้เซฟที่สุด โดยกฤษฎีกาจะเป็นคนดูคุณสมบัติเป็นหลักและถามความเห็นหน่วยงานต่างๆ ประกอบเป็นหลัก" นายกฯ กล่าว
ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำจะต้องเข้มงวด และมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการทางการเมือง เป็นไปตามที่วิญญูชนเห็นว่าควรจะเป็นอย่างไร
"หากถามความเห็นส่วนตัวผมก็เห็นแบบนั้นว่าเมื่อศาลยังไม่พิจารณาเราก็ต้องรอบคอบมากขึ้น ส่วนจะมีมาตรการหรือการดำเนินการในระดับใด ก็คงเป็นสิ่งที่นายกฯ เรียกหารือ หรือใช้ดุลยพินิจของท่านอย่างไรก็ได้" นายภูมิธรรมกล่าว
ซักว่าบุคคลที่มีคุณสมบัติสุ่มเสี่ยงจะไม่กล้าตั้งใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องรอบคอบมากขึ้น จะแค่ไหนต้องดูความเป็นจริง เพราะเรายังไม่รู้ว่าตำแหน่งอะไร หรือเป็นใคร โดนอะไรแค่ไหนยังไง ซึ่งเราต้องพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายชัดเจนเข้มงวด และคำนึงถึงเรื่องวิญญูชน เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติโดยคำนึงถึงวิญญูชนในการตัดสินใจ เราต้องเข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล กล่าวว่า หลังจากนี้จะแต่งตั้งใครต้องใช้ดุลพินิจกันเอง ที่ผ่านมาให้สำนักเลขาธิการ ครม.ตรวจสอบ สอบถามไปคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมันไม่จบ เพราะเมื่อเป็นดุลยพินิจก็จะเป็นปัญหาตามมา ต้องชั่งน้ำหนัก
ซักว่าต่อไปจะตั้งใครต้องมีประวัติใสกิ๊งเลยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า หากพูดตรงไปตรงมา การเมืองบ้านเรามาแบบนี้ นักการเมืองก็ไม่ใช่นักบวช ขนาดพระยังมีข้อครหา ก็ต้องดูจนกว่าจะทำการเมืองให้ใสสะอาด เราก็เห็นกันอยู่ว่าเมื่อมาถึงจุดนี้เป็นอย่างไร เขาถึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง แต่หลักสำคัญควรจะมีการกำหนดมาตรฐานชัดเจน ไม่เปิดโอกาสให้ตีความได้หลายทาง
ถามว่า ต้องไปหวังในการแก้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ต้องไปพูดคุยกันหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ตนไม่ได้หมายความว่าจะให้ลดมาตรฐานจริยธรรม แต่อยากให้ชัดเจน เมื่อถามว่าการที่ศาล รธน.ส่งสัญญาณมาเช่นนี้ จะกระทบเหตุการณ์ในวันที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภาจะขอมติให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน เนื่องจากประธานรัฐสภาบรรจุวาระและเกิดความขัดแย้ง เนื่องจาก สส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยมองว่าประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจบรรจุ และถือเป็นคนละกรณีกับกรณียื่นถามเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งมองว่าศาล รธน.อาจจะรับวินิจฉัยเรื่องการทำประชามติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมทรัพย์สินฯเปิดตลาด ขายลิ้นจี่นครพนมทั่วไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา นำทีมลงพื้นที่แหล่งผลิตลิ้นจี่นครพนม สินค้า GI ของดีเมืองพระธาตุพนม เดินหน้าจับมือกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
เยียวยาเหยื่อตึกถล่ม95ล. บิ๊กITD-ไมนฮาร์ทแจงDSI
"บิ๊กอิตาเลียนไทยฯ" โผล่เข้าให้ปากคำพยานกองคดีฮั้วประมูล ดีเอสไอแจงปมกิจการร่วมค้า “บ.ไชน่าฯ” ยอมรับรู้อยู่แล้ว บ.ไชน่าฯ
จ่อเคาะค่าไฟ งวดใหม่3.99 กฟผ.แบกต่อ
กกพ.สนองรัฐบาล จ่อประกาศค่าไฟงวดใหม่ เริ่ม พ.ค. ลดเหลือ 3.99 บาท
ปัดUSปิดทางไทยไร้ดีลคดีพอล
นายกฯ อิ๊งค์ปัดข่าวลือสหรัฐปิดทางไทยเจรจาภาษี วอนอย่าเล่นการเมืองยิงกันเอง
ชี้ชะตา‘ป่วยทิพย์’ ชาญชัยลุ้นศาลรอบ3/เทงบเอาใจอีสานอิ๊งค์โบ้ยหนูกาสิโน
"ครม.สัญจร" ไฟเขียว 9 โครงการใหญ่ พัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2 วงเงิน 400 ล้าน
สัมพันธ์การ(เ)ปิดประตูร่วมรัฐบาล ‘พท.-ปชน.-ภท.’ผันตามคณิตศาสตร์การเมือง
วิวาทะ ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคประชาชน’ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ‘ในการแย่งจัดตั้งรัฐบาล’ เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 66 วนกลับอีกครั้ง