สั่งรัฐบาลเรียกทูตอียูแจงปมอุยกูร์

“ทวี” เชื่อ กต.มีแผนรับมือหลังอียูประณามไทยปมส่งกลับอุยกูร์ “ปชน.” ได้ทีขย่ม รีบบอกให้รัฐบาลขยับเรื่องมาตรา 112 “นันทนา” จี้อธิบายต่อสังคมโลกให้ดี "ทักษิณ" สั่งรัฐบาลเรียกทูตยุโรปมาฟังคำอธิบาย “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ลั่นแรงบอกอย่าเสือกเรื่องกิจการภายใน   

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีสภายุโรป (อียู) ประณามประเทศไทยกรณีส่งชาวอุยกูร์กลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กดดันไทย โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด แต่ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจง โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ และเชื่อว่า กต.เตรียมการรับมือเรื่องนี้แล้ว และน่าจะพยายามชี้แจงให้กับนานาชาติเข้าใจ

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องอธิบายและควรเชิญทูตอียูมาคุย ว่าไทยได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์นี้มา 10 ปีแล้ว เพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย และขังไว้กว่า 10 ปี ไม่ทารุณไปหรือ ซึ่งใน 10 ปีนี้ก็ไม่เคยมีประเทศไหนมาขอชาวอุยกูร์ไปเลย ดังนั้น 10 ปีนี้ รู้สึกว่าเราต้องส่งเขากลับบ้านได้แล้ว ประเทศจีนก็แสดงเจตจำนงชัดเจน และยืนยันว่าจะไม่ดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ เพราะเขาโดนมาเยอะแล้ว ก็ให้เขากลับบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นช่องทางเดียวที่จะแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เราละเมิดมานาน

เมื่อถามว่า มาตรการกดดันเหล่านี้จะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า  ไม่มี คุยกันได้ มีอะไรต้องอธิบาย มนุษย์ต้องพูดกัน ถ้าไม่พูดกันก็จะจินตนาการไปไม่ดี ก็เหมือนขาประจำตนที่ไม่มีใครมาคุยกับตนเลย แต่ก็จินตนาการไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งเป็นห่วงเขา เพราะเขาไม่สบาย มาคุยกับดีกว่า จิตใจจะได้ร่มเย็น ขอให้ใจร่มๆ เข้าไว้

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่แสดงออกได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายของไทยบางเรื่อง และการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในหลายกรณี ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า ในฐานะฝ่ายค้านจะเสนอแนะอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีการระบุถึงกฎหมาย มาตรา 112 ยังมีปัญหาอยู่ นายณัฐพงษ์ระบุว่า พรรคยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ว่า กฎหมายใดที่มีปัญหา ก็จำเป็นต้องแก้ แต่กระบวนการที่จะแก้ไขอย่างไรก็เป็นกระบวนการที่ต้องปรับปรุงในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หากถามวันนี้ส่วนตัวและพรรคประชาชนเห็นด้วยอยู่แล้วว่า  กฎหมาย มาตรา 112 ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งอียูก็ออกมาแสดงท่าทีความเป็นห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

"ไทยจำเป็นต้องยึดหลักเอาไว้ เพราะตราบใดที่เลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศ การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะจีนหรือสหรัฐอเมริกา หนีไม่พ้นการถูกวิพากษณ์วิจารณ์จากฝ่ายหนึ่ง แต่หากดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดของประเทศโดยมีหลัก เช่น ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล การดำเนินการใดอาจขัดกับผลประโยชน์ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ไม่สามารถว่าไทยได้ เนื่องจากไทยยึดหลักที่สากลให้การยอมรับ"

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวว่า เป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องจับตาว่าจะทำอย่างไรในการอธิบายต่อสังคมโลกได้ว่า เราเป็นประเทศที่เคารพด้านสิทธิมนุษยชน และมีความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล

เมื่อถามว่า จะเปิดช่องให้นำเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขต่อรองทางการค้าในอนาคตใช่หรือไม่  น.ส.นันทนากล่าวว่า แน่นอน เพราะถือเป็นวิธีการที่ประชาคมโลก มีมาตรฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชน หากเราอยู่ในมาตรฐานนั้นก็ไม่มีปัญหา แต่หากเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่นานาประเทศไม่ยอมรับ เราก็จะอยู่ในประชาคมโลกได้ยากทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการ รมว.กต. และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องดังกล่าวในหัวข้อ  “อย่าเสือก” ระบุว่า รัฐสภายุโรปจะมากดดันไทย ด้วยการตั้งเงื่อนไขเจรจาให้ไทยปฏิรูปกฎหมาย อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ การส่งกลับชาวอุยกูร์ไปจีน เพราะเราไม่มีทางเลือกชาวอุยกูร์ตกค้างในไทยมากว่า 10 ปี ไม่มียุโรปชาติใดแสดงเจตจำนงรับอุยกูร์ไปอยู่ด้วย อย่ามาอ้างว่าชาตินั้นชาตินี้พร้อมรับ ประการสำคัญ ม.112 ที่รัฐสภายุโรปเรียกร้องให้ไทยปฏิรูป ม.112 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เป็นกฎหมายที่ทุกประเทศมีไว้ปกป้องผู้นำประเทศ และไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ เสาหลักของความมั่นคงของไทย ไม่ได้หนักหัวอะไรของยุโรป

“กฎหมายภายในของแต่ละประเทศต้องไม่ถูกแทรกแซงจากยุโรป ไทยไม่มีการจำคุกนักโทษการเมือง มีแต่จำคุกคนที่ทำผิดกฎหมายอาญา รัฐสภายุโรปควรประท้วงสหรัฐที่คุมขังนักโทษที่เกาะกวนตานาโม โดยไม่มีคำพิพากษาใดๆ เลย ไทยกับรัฐสภายุโรปควรเจรจากันบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน หากเห็นว่าการเจรจาจะเป็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย อย่าแทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน” นายนันทิวัฒน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง