หวั่นนํ้ามันถึงเกาะเสม็ด! แนะชาวบ้านรวมตัวฟ้อง

"ศรีสุวรรณ" บุกหาดแม่รำพึง  ซัดการเก็บทำลายซากน้ำมันส่อขัด กม.  จ่อร้องเยียวยาช่วยชาวบ้าน บ.สตาร์ ปิโตรเลียมฯ ออกแถลงการณ์ยันพร้อมเยียวยาผู้เดือดร้อน ส่ออ่วมหลังอัยการชี้ช่องภาครัฐ-ประชาชนรวมตัวกันยื่นฟ้องฐานสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เดินทางไปติดตามการแก้ปัญหาคราบน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ณ บริเวณสถานีรายงานบ้านเพ หาดแม่รำพึง พร้อมกับได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจติดตามสถานการณ์คราบน้ำมันบริเวณหาดแม่รำพึง และอุทยานแห่งชาติแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด

จากนั้น นายวราวุธกล่าวว่า จากการติดตามการเก็บกู้คราบน้ำมันตลอด 5 วันที่ผ่านมา เก็บกู้น้ำมันไปแล้วบางส่วน  ยังเหลือคราบน้ำมันอีกจำนวนหนึ่ง เป็นคราบบางๆ บนผิวน้ำ กำลังมุ่งหน้าไปยังอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสกัดกั้นอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ขึ้นฝั่งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดในคืนนี้ อย่างไรก็ตาม รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้ผู้ประกอบการน้ำมันเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ โดยการหมั่นตรวจสอบ บำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ให้มีความพร้อมที่สุด มิเช่นนั้นจะเกิดเหตุการเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเหมือนปี 2556 กว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ถูกทำลายด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือชาวประมง งดจับสัตว์น้ำประมาณ 1 เดือน หากขาดรายได้ สามารถรับเงินเยียวยาได้ตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ จ.ระยองได้ตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า มีชาวบ้านบริเวณหาดแม่รำพึงได้ร้องเรียนมายังสมาคมเป็นจำนวนมาก ขอให้ช่วยเหลือเรียกร้องความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลมาบตาพุดกว่า 400,000 ลิตร ขณะนี้กำลังถูกคลื่นซัดคราบน้ำมันขึ้นมาแผ่กระจายเต็มหาดแม่รำพึง ทำให้พ่อค้าแม่ค้า โรงแรม รีสอร์ต บ้านพัก บังกะโล ธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบกันอย่างรุนแรง จนผู้ว่าฯระยองต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บหลักฐานข้อเท็จจริงพบว่ามีบริษัทเอกชนผู้ก่อเหตุและหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนได้บูรณาการการเก็บก้อนน้ำมันที่ถูกน้ำทะเลซัดขึ้นมาเต็มชายหาดกันอย่างเต็มที่ โดยมีการนำแท็งก์พลาสติกขนาดใหญ่จำนวนมากมาตั้งรองรับการเก็บซากน้ำมัน ซึ่งซากน้ำมันเหล่านั้นถือว่าเป็นของเสียอันตรายที่จะต้องมีมาตรการการจัดเก็บและนำไปทำลายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น แต่ทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่าบริษัทผู้ก่อเหตุประสงค์จะนำของเสียซากน้ำมันเหล่านี้ไปกักเก็บทำลายยังโรงงานของตน ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะของเสียอันตรายดังกล่าวจะต้องขนย้ายนำไปเก็บสะสมและกำจัดจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 เท่านั้น โดยผู้ที่รับขนส่งนำไปกำจัดจะต้องมีใบอนุญาตตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกํากับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ.2547 และผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกํากับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ.2547 และต้องมีใบอนุญาตโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานลําดับที่ 101 หรือ 106 เท่านั้น ซึ่งต้องถามว่าบริษัทหรือโรงงานผู้ก่อเหตุมีใบอนุญาตเหล่านี้แล้วหรือไม่

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่บริษัทผู้ก่อเหตุในครั้งนี้จะนำซากน้ำมันของเสียอันตรายที่เก็บมาจากชายหาดแม่รำพึงไปเก็บไว้ที่โรงงานของบริษัท ย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่บูรณาการการทำงานเก็บกวาดซากน้ำมันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ หากเพิกเฉยปล่อยให้บริษัทผู้ก่อเหตุนำซากน้ำมันออกไปจากชายหาดโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ย่อมเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ได้ ส่วนการเรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายในบริเวณหาดแม่รำพึง และผู้ที่มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรมนั้น ขณะนี้ต้องรอให้การเก็บกู้ซากน้ำมันบริเวณชายหาดแม่รำพึงและทะเลมาบตาพุดให้คลี่คลายไปเสียก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ในการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานของสมาคมที่จะนำไปช่วยชาวบ้านต่อไป

ทางด้านบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 กรณีพบน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) กลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง โดยเกิดเหตุเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา แถลงการณ์ดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า

"ด้านการเยียวยา ทางบริษัทยินดีที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยทางบริษัท จะเปิดรับเรื่องร้องเรียนสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และจะร่วมมือกับทางจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถจัดการเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0-3869-9881บริษัทขอยืนยันว่าจะดำเนินการปฏิบัติงานในการขจัดคราบน้ำมันด้วยความปลอดภัย บริษัทขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการเพื่อขจัดคราบน้ำมันให้ได้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลรวมถึงชายฝั่ง สำหรับการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทยังสามารถเดินเครื่องด้วยความปลอดภัย หากมีความคืบหน้า บริษัทจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ"

ขณะที่นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายการเรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชนกรณีน้ำมันรั่วที่ระยองว่า กรณีที่น้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียมฯ รั่วไหล ภาครัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ  ทรัพย์สินของรัฐ และค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากบริษัท SPRC ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 นอกจากนี้ยังมีมาตรา 97 ที่กำหนดให้บุคคลที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ  หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการต่างๆ  และผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท SPRC ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 เช่นเดียวกัน โดยประชาชนผู้เสียหายสามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ โดยประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี โดยการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีของประชาชนและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง