กนง.ตรึงดอกเบี้ย คงกรอบเงินเฟ้อ ลุ้นจีดีพี3.5-4.5%

“กนง.” เอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี หนุนเศรษฐกิจฟื้น ประเมินจีดีพีปี 64 โตดีเกินคาด เชื่อปลายปี 65 กลับมาขยายตัวได้  ย้ำไม่ขยับกรอบเงินเฟ้อ แม้ทะลุ 3% แจงแค่ปัจจัยชั่วคราว “อาคม” ลุ้นจีดีพีปีนี้โต 3.5-4.5% สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือน-เงินเฟ้อฉุดรั้ง

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง. ว่าที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท อาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากขึ้นหากราคาพลังงานและอาหารสดอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด หรือหากข้อจำกัดด้านการผลิตขยายวงกว้างขึ้นไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง

 “กนง.ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน จึงเห็นว่าไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะไปฉุดเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ซึ่งการที่เงินเฟ้อโอกาสเกินกรอบ 3% ไปบ้างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องชั่วคราว จากที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการเกินกรอบด้านต่ำ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีการปรับกรอบนโยบายเงินเฟ้อทันที” นายปิติระบุ

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกฐานจีดีพีปี 2564 เพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2565 ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ช่วงปลายปี 2565-ต้นปี 2566 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กนง.ให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องไม่ให้สะดุด ส่วนเงินเฟ้อต้องจับตาไม่ให้ขยายวงกว้าง ไม่ฝังลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องใช้ยาแรงที่อาจกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจและรายได้ประชาชน และการดูแลการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ในช่วงโควิด-19

นายปิติกล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ  มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและช่วยลดภาระหนี้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” ว่า คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 แต่หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาดก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้ ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือถึงเรื่องการปรับตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคการเกษตรยังไม่ขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ด้านอุปสงค์ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังมีข้อจำกัด เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากโควิด-19 ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ยังขยายตัวได้ดี แต่ในอนาคตหากมีปัญหาสงครามการค้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง