‘ประยุทธ์’ สุดปลื้ม ‘คนละครึ่ง’ คึกคัก ครบ ‘29ล้านสิทธิ’

โฆษกรัฐบาลเผย  “นายกฯ” ปลื้ม ปชช.ตอบรับคนละครึ่ง เฟส 4 ลงทะเบียนเต็ม 29 ล้านสิทธิแล้ว  ขณะยอดค่าใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ เพียง 10 วัน พุ่ง 2.3 หมื่นล้านบาท สั่งทุกกระทรวงเร่งตามข้อเสนอแนะของสำนักงบประมาณ รีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียว ให้ก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีที่กระแสตอบรับจากประชาชนพอใจและชื่นชอบมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ของรัฐบาล ทั้ง 3 โครงการ โดยหลังเปิดให้ใช้จ่ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ความคืบหน้าการใช้จ่ายล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565) ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 34.42 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 23,032.55 ล้านบาท

แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 22.23 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 20,612.3 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 10,433.8 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 10,178.5 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 11.32 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,248.45 ล้านบาท และ 3. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 0.87 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 171.80 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่ได้เปิดลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (ประชาชนทั่วไป) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวันแรก ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนครบแล้วจำนวน 29 ล้านสิทธิ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนโครงการ ระยะที่ 4 สำเร็จ จะสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ยังสามารถกดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิโครงการระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์

            "ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชมมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณนายกฯในมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยประคับประคองการบริโภค ทำให้ประชาชนมีการวางแผนการใช้จ่ายที่ดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้คล่องตัวมากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal เศรษฐกิจชุมชนก็ค่อยๆ ขยายตัว ประชาชนและร้านค้าได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นไปตามความตั้งใจของรัฐบาลในการพลิกโฉมประเทศไทย เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมสู่อนาคต” นายธนกรกล่าว

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ทราบถึงภาพรวมการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565 โดยพบว่า ณ ไตรมาสที่ 1 (ต.ค.-ธ.ค.2564) ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน มีการเบิกจ่าย ก่อหนี้ผูกพันสูงกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาด ยังส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้บางส่วนมีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้แต่ละกระทรวง หรือหน่วยงานพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน กำหนดโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับปริบทใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย

รองโฆษกรัฐบาลเผยว่า เพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงบประมาณ  คือให้มีการเร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียว โดยให้ก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ (ม.ค.-มี.ค.2565) และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด รัฐมนตรีที่กำกับดูแล  หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย กำกับหน่วยรับงบประมาณ ดูแล เร่งรัด ติดตามและประเมินการปฏิบัติงานการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งสำนักงบประมาณนำผลการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบประมาณปี 2566 ด้วย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ณ ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค.-31 ธ.ค.2564) มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 9.86 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.83 ของงบประมาณรวม 3.1 ล้านล้านบาท มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.46 สูงกว่าเป้าหมายอยู่ร้อยละ 1.83 และร้อยละ 2.38 ตามลำดับ

ทั้งนี้ แยกเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 8.89 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.70 จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำรวม 2.49 ล้านล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 8.98 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.07 สูงกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 1.70 และร้อยละ 0.74 ตามลำดับ ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน มีการเบิกจ่าย 9.70 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.95 ของวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 6.08 แสนล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.04 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.95 และร้อยละ 9.08 ตามลำดับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง