ชลน่านทำใจถูกตีตก แถบอกไม่ใช่สอดไส้แค่แก้กำกวม/‘พปชร.’ลั่นโหวตเขี่ยทิ้ง

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยรับสารภาพ ตอบ "ใช่" ดันแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเพื่อป้องกันโดนร้องยุบพรรค ปัดหวังเปิดประตูให้โทนี่-ทักษิณมายุ่มย่าม  เสียงอ่อยเชื่อโดนตีตกวาระแรก เจออีกร่างของฝ่ายค้านแรงกว่าอีก เล่นให้ตัดออกหมดทั้งพวง ส.ส.พท.ลงชื่อเพียบ พปชร.ประกาศให้ผ่านแค่ของฝ่ายรัฐบาล  คว่ำหมดทุกฉบับของฝ่ายค้าน!

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ในวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จำนวน 10 ร่าง ที่เสนอเข้ารัฐสภา เป็นการพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการ

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยเฉพาะในมาตรา 28 และมาตรา 29 เพื่อสามารถให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลแก่พรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ว่า คนที่ไม่เห็นด้วยก็กล่าวหาว่าเป็นการสอดไส้เพื่อเอื้อต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่ประเด็นคือ การบัญญัติมาตรา 28 และมาตรา 29 ไว้ในกฎหมายห้ามบุคคลครอบงำชี้นำ เราต้องการแก้ไขเพิ่มเนื้อหาว่า ในกรณีให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่งสามารถกระทำได้ ดังนั้นบุคคลภายนอกจะเป็นใครก็ได้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เพราะหลักการทั่วไปมันเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เราก็เขียนให้มันชัดขึ้น ก็เท่านั้นเอง สมมุติมีการเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ พรรคการเมืองก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในการมาทำเป็นกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ รวมถึงนักวิชาการที่ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็สามารถหยิบเอามาใช้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกตีความว่าใครจะให้คำแนะนำปรึกษาอะไรไม่ได้เลย มันไม่ได้เป็นการครอบงำชี้นำ แต่มันเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ หากกิจกรรมใดเป็นลักษณะการชี้นำครอบงำพรรคการเมือง ก็เขียนให้มันชัดเจนไปเลย ไม่ต้องมากำกวม มันควรจะเป็นอย่างนั้น

เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับของพรรคเพื่อไทยจะผ่านด่านของพรรคการเมืองซีกรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภายากหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า  เขาคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ตีตกโดยไม่รับหลักการแน่นอน แต่ยืนยันว่าหากไม่รับหลักการจริงก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ในเมื่อไม่รับหลักการก็หมายความว่าไม่รับ ก็แค่นั้น

เมื่อถามว่า ที่แก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองแบบนี้ เพราะมีผู้ร้องใช้ 2 มาตรานี้จ้องเล่นงานเพื่อยุบพรรคใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า "ใช่ เพื่อให้มันชัดเจนขึ้นว่าประเด็นอะไรควรร้อง-ไม่ควรร้อง ยกตัวอย่างว่าหากเห็นว่าบุคคลภายนอกบริจาคเกิน 10 ล้านบาท อันนี้เราไม่ว่าอะไรเลย เถียงไม่ได้ เพราะเงิน 10 ล้านบาท มันสามารถครอบงำชี้นำพรรคการเมืองได้ หรือถ้าปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลภายนอกพูดอะไรอย่างหนึ่ง ทำให้พรรคการเมืองนั้นต้องทำตาม โดยที่ไม่มีอิสระในการโต้เถียงโต้แย้ง และพรรคการเมืองก็ยอมทำตาม แบบนี้ก็ว่ากันไป" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา พบว่ามีด้วยกันทั้งสิ้น 6 ร่างคือ ร่างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสนอโดย ครม., ร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, ร่างของวิปรัฐบาลและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, ร่างของพรรคก้าวไกล เสนอโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร่างของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ และร่างของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พลังประชารัฐ ที่ส่วนใหญ่ลงชื่อร่วมเสนอโดย ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ส.ภูมิใจไทย

ซึ่งพบว่า นอกจากร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขมาตรา 28 และ 29 ที่ห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมือง หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังพบด้วยว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวีและคณะ ก็เสนอเรื่องนี้เช่นกัน แต่ไม่ใช่แค่เสนอแก้ไข แต่เสนอให้ตัดออกไปหมดเลยทั้ง 2 มาตรา โดยในร่างดังกล่าวเขียนอยู่ในมาตรา 5 ที่เขียนว่า "ให้ยกเลิกมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560"

โดยพบว่าร่างดังกล่าวคนที่ลงชื่อส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย และมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านร่วมลงชื่อด้วยอีกหลายพรรค เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น โดยเหตุที่แม้ร่างดังกล่าวจะเสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ แต่มี ส.ส.พรรคอื่นมาร่วมลงชื่อ เพราะพรรคประชาชาติมี ส.ส.เพียง 7 ที่นั่ง จึงไม่สามารถเสนอร่างได้ด้วยตัวเอง ต้องมีส.ส.จากพรรคอื่นมาร่วมลงชื่อด้วย ที่ส่วนใหญ่ก็คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่พบว่ามี ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลมาลงชื่อให้ด้วย 2 คนคือนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และนายกฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส. แพร่ พรรคภูมิใจไทย ที่ย้ายมาจากอนาคตใหม่เดิม

จึงทำให้นอกจากร่างแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขมาตรา 28 และ 29 ที่เป็นสองมาตราที่ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยื่นร้องยุบพรรคหลายครั้งต่อ กกต.แล้ว ยังมีร่างของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี และคณะอีกหนึ่งร่างที่เสนอแก้ไขในส่วนนี้เหมือนกัน เพียงแต่ที่ต่างออกไปคือร่างดังกล่าวเสนอให้ยกเลิกหรือตัดออกไปเลย ขณะที่ในร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขเช่นกัน พบว่าไม่ได้มีการเสนอแก้ไขมาตรา 28 และ 29 แต่อย่างใด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะการลงมติของส.ส.พลังประชารัฐ ว่าทางพรรคสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นโดยคณะรัฐมนตรี ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทางพรรคสนับสนุนร่างฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของ ครม. และสนับสนุนฉบับที่เสนอโดยนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร.

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวเช่นกันว่า พรรคชาติไทยพัฒนาสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะ ส.ส.ของพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีลงนามในร่างของพรรคร่วมรัฐบาลไปเรียบร้อยแล้วทุกคน ขณะนี้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งตรงกับร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นโดยคณะรัฐมนตรี เพราะเดิมร่างของ กกต.มีปัญหาเรื่องเบอร์ จากเมื่อก่อนที่ร่างของ กกต.ทำเป็นเบอร์เดียวกัน หมายความว่าเป็นบัตร 2 ใบแต่เบอร์เดียวกัน แต่มันอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 90 กำหนดว่าการสมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องสมัครแบบเขต "แล้ว" ซึ่งคำว่า "แล้ว" มีนัยคือ ต้องได้เบอร์จ่ายเงินค่าสมัครเรียบร้อย "แล้ว" ถึงจะสมัครได้ ดังนั้นจึงจะเหมือนกันไม่ได้ ซึ่งตอนหลังร่างของ กกต.ได้มีการปรับปรุงแล้วเป็นบัตร 2 ใบ แต่คนละเบอร์ โดยในเขตเลือกตั้งก็จะจับฉลากเบอร์ใครเบอร์มัน ซึ่งตอนเลือกตั้งประชาชนจะต้องจำเบอร์ของ ส.ส.ในเขต แม้จะไม่เหมือนแบบที่เราอยากได้ แต่เป็นข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อดีคือในเขตเบอร์จะไม่ถูกเว้นว่างเรียงตามลำดับ ส.ส.สมัคร 5 คนก็ 5 เบอร์ ถ้าเบอร์เดียวจะกลายเป็นเบอร์ 1, 3, 21 อย่างนี้จะโบ๋และกากบาทยาก และในทางการเมืองเห็นว่าจะทำให้พรรคการเมืองต้องแบ่งหาเสียงเป็น 2 ส่วน 1.พรรคการเมืองมีนโยบายอะไรก็สู้กัน 2.ส.ส.ในเขตเลือกตั้งใครอยู่ใกล้ชิดประชาชนก็ได้เปรียบไป ซึ่งจะแยกกันเดินถือเป็นการพัฒนาทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง และพรรค ชทพ. ในฐานะที่ไม่ได้เป็นพรรคขนาดใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่เสียเปรียบนัก ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบพรรคมาก ส่วนเรื่องการนับคะแนนร่างของ ครม.และพรรคร่วมรัฐบาลตรงกันคือคะแนนโดยการหารหาค่าเฉลี่ย และหากต่ำกว่าค่ากลางให้เรียงแล้วตัดจนกระทั่งเศษหมดไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับควรทำเสร็จในช่วงเวลาใด นายนิกรกล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดเดียวทำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คาดว่าจะพิจารณาไม่เกิน 2 เดือนก็เสร็จ ซึ่งหากทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ ก็อาจขอเปิดสมัยวิสามัญ แต่ถ้าพิจารณาไม่ทันก็จะพิจารณาต่อในสมัยสามัญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง