เบรกสธ.เลิก‘ยูเซป’ โควิดพุ่ง!ครม.ผวาโดนด่า ศบค.จ่อคลอดแผนรับมือ

โควิดยังพุ่งติดเชื้อใหม่ 18,363 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย โคม่า 827 ราย "ครม." ผวา ปชช.ด่าเลิกยูเซป “บิ๊กตู่” ขอ สธ.ชะลอออกไปก่อน พร้อมหันถามอนุทิน “หนู โอเคนะ” รมว.สธ.ยันไม่มีภาพคนติดโควิดนอนรอเตียงข้างถนน ย้ำระบบ สธ.รับได้ "ศบค.ชุดใหญ่" นัดถก 23 ก.พ. เตรียมปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร-แผนการฉีดวัคซีน "เอกชน" ร้อง รบ.ยกเลิกตรวจ "อาร์ที-พีซีอาร์" วันที่ 5 เหตุยุ่งยากต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,363 ราย ติดเชื้อในประเทศ 18,205 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,129 ราย ค้นหาเชิงรุก 76 ราย เรือนจำ 31 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 127 ราย หายป่วยเพิ่ม 15,651 ราย อยู่ระหว่างรักษา 169,074 ราย อาการหนัก 827 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 214 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย เป็นชาย 25 ราย หญิง 10 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 30 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย เด็กไทยอายุ 14 ปี 1 ราย มีโรคประจำตัวลมชัก

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 2,749,561 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,557,796 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,691 ราย ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 21 ก.พ. 190,673 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 121,915,999 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 426,389,058 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,909,184 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,638 ราย, ชลบุรี 924 ราย, สมุทรปราการ 887 ราย, นนทบุรี 792 ราย, นครศรีธรรมราช 741 ราย,  นครราชสีมา 716 ราย, ภูเก็ต 660 ราย,  สมุทรสาคร 593 ราย, นครปฐม 479 ราย และสุรินทร์ 425 ราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนหนึ่งว่า เรื่อง UCEP (ยูเซป-โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ รักษาฟรี 72 ชั่วโมง) ครม.เป็นห่วงประชาชน จึงให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทบทวนชะลอการประกาศเรื่องนี้ออกไปก่อน เพราะต้องทำความเข้าใจซักซ้อมการปรับบริการผู้ป่วยอาการสีเขียว เนื่องจากโอมิครอนมีผู้ป่วยสีเขียวมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการรับสายด่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาการบริการให้ดีก่อนที่จะนำเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.เต็มคณะ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้เสนอหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ซึ่งที่ประชุมบางส่วนไม่เห็นด้วย โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้คนแตกตื่น เพราะมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จึงอยากให้เลื่อนไปก่อน และอยากให้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อย่างอังกฤษ เยอรมนี ก็ยังมีปัญหา เรื่องการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พยายามอธิบายว่าการรักษาฟรีอยู่แล้วทุกคน ยืนยันไม่มีปัญหาเรื่องเงิน การเสนอเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การประหยัดงบ แต่เป็นเรื่องของความเป็นห่วงผู้ป่วยสีเขียวที่เข้าไปครองเตียง อยากเก็บเตียงให้ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยโรคอื่นๆ เรื่องนี้หมอและคนหน้างานคิดมาแล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยไปรักษาที่บ้านหรือศูนย์แยกกักในชุมชน ยืนยันผู้ป่วยสีเขียวยังได้รับการดูแล ยังได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิ์ โดยให้ไปรักษาที่บ้าน หรือที่ศูนย์แยกกักในชุมชน เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา แม้รักษาที่บ้านก็ดูแล  

 อย่างไรก็ดี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม บอกต่อที่ประชุมว่า หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าไม่ถึง โทร. 1130 ก็ไม่มีคนรับสาย กว่าจะติดต่อกลับใช้เวลานาน ทำให้อธิบดี สบส.แจ้งว่ากำลังจะเพิ่มคู่สาย ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จึงกล่าวช่วยว่า  ต่อไปอาจจะเสนอให้เพิ่มโรงพยาบาลสนาม และให้ภาครัฐไปทำฮอสพิเทลเพื่อทำการดูแลประชาชนด้วย  

ผวาโดนด่าเบรกเลิกยูเซป

 จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เล่าต่อที่ประชุมว่า ตนได้ทดลองโทร.ไปที่ 1330 และพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการอยู่ในอาการที่เหนื่อยล้า ทำให้เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ 1330 แล้ว จึงอยากให้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน ไปสร้างความเชื่อมั่น แล้วกระทรวงสาธารณสุขค่อยนำกลับเข้าพิจารณาใหม่

"เพื่อความสบายใจของประชาชน ก็ขอให้ชะลอประกาศไปก่อน" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งบอกว่า จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้หันไปพูดกับนายอนุทินว่า “โอเคนะ หนูเข้าใจนะ” ทำให้นายอนุทินยิ้มให้พร้อมระบุว่า “ไม่เป็นไรครับ” 

อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. นายอนุทินให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โดยปรากฏภาพผู้ที่ออกมานอนรอรับการรักษานอกบ้านว่า ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น ยืนยันไม่มีตามภาพที่ออกมา ตนตรวจสอบกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน และจำนวนเตียงที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศยังมีความพร้อม

"เรื่องที่มาถามว่ามีคนมานอนอยู่ข้างถนน ผมเห็นข่าวก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ทั้งปลัดกระทรวง อธิบดี เช็กแล้วเช็กอีก ก็ไม่มี เพราะเตียงยังพอมีอยู่ ยังครองไม่ถึงครึ่ง ส่วนยาก็มีเต็มที่ และเวลานี้เราเน้นการรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก” นายอนุทินระบุ

ต่อมานายอนุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุม ครม.ว่า การใช้สิทธิยูเซปยังจะให้ดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน ตนจึงเสนอให้มีการเลื่อนการใช้สิทธิยูเซปออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

 “รัฐบาลโดย สธ.ให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่าจะสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในสิ่งที่ได้เตรียมการต่างๆ เอาไว้ และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ความเหมาะสม แม้ว่าแต่เดิมคิดปรับเปลี่ยนมาตรการเป็นยูเซปพลัส s แต่ในเมื่อมีการแพร่ระบาด ขณะนี้ ทาง สธ.ก็ปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามสถานการณ์ของแต่ละช่วง จึงมีการขยายเวลาการใช้สิทธิยูเซปออกไปอีก” นายอนุทินระบุ

ถามถึงสถานการณ์เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด รองนายกฯ กล่าวว่า ปลัด สธ.ยืนยันจำนวนเตียง อุปกรณ์การแพทย์ ยา ยังมีความพร้อมอยู่ รวมถึงขอให้มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เราต้องใช้มาตรการที่จะทำให้หลายๆ อย่างเดินหน้าพร้อมกันได้ ซึ่งคนที่ติดเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะใช้วิธีการรักษาที่บ้าน หรือโฮมไอโซเลชัน ส่วนผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดง จะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ยืนยันไม่ใช่ปัญหาและสามารถรองรับได้

ซักว่าจะมีการกลับมาใช้โรงพยาบาลสนามอีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เราเตรียมไว้หมดแล้ว ถ้าสถานการณ์จำเป็นและฉุกเฉิน 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า หลังจากนำเรื่องอัตราที่จะจ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ ทาง ครม.มอบให้ สธ.​ทบทวนเรื่องกระบวนการและเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการติดต่อ การรักษา ช่องทางต่างๆ รวมถึงเรื่องยูเซป โควิด-19 พลัส ในอนาคตและการปรับระบบการรักษาที่บ้านให้กระบวนการมีความคล่องตัว และการทำความเข้าใจกับประชาชน จึงยังไม่มีมติ ซึ่ง สธ.​ได้รับเรื่องนี้มาเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน กับสถานพยาบาลและทบทวนกระบวนการต่างๆ

"กรอบเวลาที่จะใช้ทบทวนก็จะต้องนำเรื่องนี้เข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อไป ส่วนเรื่องการประกาศยกเลิกกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีการติดโควิด-19  ครม.ให้ สธ.ดำเนินการทบทวนให้สอดคล้องกัน โดยสรุปคือ ตอนนี้ระบบการดูแลยังเป็นยูเซปโควิด-19 เหมือนเดิม ซึ่งต้องไปดูแลกระบวนการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมขึ้น โดยเฉพาะ กทม. ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนาช่องทางการติดต่อเพื่อเข้าระบบ 1330 หรือการเข้า Line official ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และดูแลระบบการรับส่งผู้ป่วย" นพ.ธเรศกล่าว

'บิ๊กตู่'นัดถกศบค.ชุดใหญ่

ซักว่าก่อนหน้านี้ประกาศว่าโควิด-19ออกจากโรคฉุกเฉิน มีการลงนามไปแล้ว อธิบดี สบส.กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทาง ครม.จึงให้นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของภาคประชาชน

ถามถึงกรณี รพ.เอกชนปฏิเสธการรับผู้ป่วย อธิบดี สบส.กล่าวว่า ขณะนี้กลไกของยูเซป โควิด-19 มีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 ถือเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแล และไม่สามารถปฏิเสธได้ หากสถานพยาบาลไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือไม่มีเตียง ต้องส่งต่อผู้ป่วย และย้ำว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​  แถลงผลประชุม ครม.ว่า ครม.อนุมัติวงเงินรวม 150.69 ล้านบาท ให้กรมราชทัณฑ์นำไปจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดโควิดให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ

นายธนกรกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 23 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อพิจารณาการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร แผนการให้บริการวัคซีน โดยจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

มีรายงานว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ จะมีวาระการรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงมาตรการเปิดเรียนแบบออนไซต์ อยู่ได้กับโควิดในสถานศึกษา โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดต่อโควิด-19 (ศปก.ศธ.) และวาระเพื่อพิจารณา เรื่องการปรับมาตรการป้องกันโรค สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) และพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีน โดย ศปก.ศธ. นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จะรายงานเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ ก็จะรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ที่ต้องการให้มีการผ่อนคลายทั้งมาตรการเทสต์แอนด์โก และลดจำนวนวันกักตัว เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงและผ่อนคลายมาตรการเทสต์แอนด์โก โดยเฉพาะการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ของนักเดินทางขาเข้าประเทศ ที่ต้องตรวจถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 1 ก่อนเข้าประเทศ ภายใน 72 ชั่วโมง, ครั้งที่ 2 วันแรกที่เข้าประเทศ และครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 นับจากการเข้าประเทศ

 “หลายประเทศเน้นเพียงการฉีดวัคซีนครบโดสกับผลการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ ก่อนเข้า 72 ชั่วโมงเท่านั้น หอการค้าไทย จึงเห็นว่าหากยกเลิกการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ครั้งที่ 3 คืนที่ 5 ได้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น" ประธานสภาหอการค้าไทยกล่าว

เช่นเดียวกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ภาคเอกชนก็ขอย้ำจุดยืนเดิม คือ ห้ามมีการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง เนื่องจากจะส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย อีกประเด็นสำคัญควรยกเลิกมาตรการเทสต์แอนด์โกวันที่ 5 ออกไป เพราะทำให้ยุ่งยาก ต้องกลับไปกลับมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'คารม' ย้ำขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค.นี้ คกก.ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ