รัสเซียถล่มหนัก!ยูเครนสังเวย350ศพ

ภาพถ่ายจากดาวเทียมของแม็กซาร์เมื่อวันที่ 28 ก.พซ 2565 เผยให้เห็นขบวนรถทหารยาวเหยียดบนทางหลวงทิศเหนือของเมืองอีวานคิฟของยูเครน (Photo by Satellite image © 2022 Maxar Technologies / AFP)

หวั่นรัสเซียบ้าเลือดถล่มทำลายล้างชีวิตพลเรือน ภาพดาวเทียมเผยขบวนรถทหารและยานเกราะรัสเซียยาวกว่า 65 กม.ทางเหนือ เชื่อเตรียมบดขยี้ยึดกรุงเคียฟและเมืองใหญ่ ยูเครนเผยเมืองคาร์คิฟโดนโจมตีเสียหายหนัก รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียลั่นเดินหน้าต่อจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย กลุ่มสิทธิ-ทูตยูเครนอ้างรัสเซียใช้ระเบิดสุญญากาศและคลัสเตอร์บอมบ์ “บิ๊กตู่” ยึดหลักกลไกอาเซียนรักษาสมดุล ยันไทยต้องละเอียดรอบคอบเป็นกลาง “ดอน” แย้มมีช่องทางเสริมเจรจาให้สถานการณ์ดีขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 ว่าปฏิบัติการรุกรานประเทศยูเครนเพื่อนบ้านของรัสเซีย ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ใช้คำเรียกว่า "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" เข้าสู่วันที่ 6 แล้ว แต่กองทัพรัสเซียยังคงไม่สามารถยึดเมืองขนาดใหญ่ได้แม้แต่เมืองเดียว เนื่องจากเผชิญการต่อต้านอย่างดุเดือดเกินความคาดหมาย และทำให้ประเทศตะวันตกพากันหวั่นเกรงว่า พวกผู้บัญชาการทหารรัสเซียอาจจะเลือกใช้ยุทธวิธีเหมือนที่เคยใช้ในซีเรียและเชชเนีย ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยการส่งรถถังเข้าบดขยี้พื้นที่ของพลเรือนสังหารผู้คนนับพันนับหมื่น

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งยังอยู่ในกรุงเคียฟและเผยแพร่วิดีโอปลุกขวัญกำลังใจอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า สำหรับศัตรูแล้ว กรุงเคียฟคือเป้าหมายสำคัญ แต่เราจะไม่ปล่อยให้พวกนั้นทะลวงแนวป้องกันเมืองหลวง พวกเขาส่งมือก่อวินาศกรรมมาที่นี่ และเราจะกำจัดคนพวกนี้ให้หมด

กระทรวงกลาโหมของอังกฤษอัปเดตข่าวกรองทหารเมื่อวันอังคารว่า การรุกคืบของรัสเซียมายังกรุงเคียฟคืบหน้าเล็กน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อาจเป็นผลจากปัญหาที่ยังมีอย่างต่อเนื่องด้านกำลังบำรุง แต่รัสเซียอาจเปลี่ยนยุทธวิธีที่ทำให้พลเรือนตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น "การใช้ปืนใหญ่ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเพิ่มความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน" อังกฤษเตือน

เมื่อวันจันทร์ ดาวเทียมของบริษัท แม็กซาร์เทคโนโลยีส์ ของสหรัฐ จับภาพที่แสดงให้เห็นขบวนยาวเหยียดของทหารรัสเซีย ที่รวมถึงยานหุ้มเกราะและปืนใหญ่ บนทางหลวงเริ่มจากเส้นทางใกล้สนามบินอันโตนอฟนอกกรุงเคียฟ ไปจนถึงเมืองพรีเบิร์สค์ เป็นระยะทางยาวกว่า 65 กิโลเมตร

แม็กซาร์กล่าวว่า ยานพาหนะบางคันเว้นระยะห่างกันค่อนข้างมาก ขณะที่ยุทโธปกรณ์บางกลุ่มและทหารบางหน่วยเคลื่อนกำลังเกาะกลุ่มกัน 2-3 คัน นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นการวางกำลังทหารราบและหน่วยเฮลิคอปเตอร์โจมตีภาคพื้นดินเพิ่มเติมทางใต้ของเบลารุส ห่างจากชายแดนตอนเหนือของยูเครนไม่ถึง 32 กม.

ภาพการเคลื่อนกำลังขนาดใหญ่ของรัสเซียถูกเปิดเผยภายหลังการเจรจาหยุดยิงเบื้องต้นระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เบลารุสเมื่อวันจันทร์ไม่ได้ผลคืบหน้าใดๆ และรัสเซียเริ่มยิงปืนใหญ่โจมตีเขตชุมชนในเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน และพื้นที่อื่นๆ ของยูเครนภายหลังการเจรจา

คณะเสนาธิการทหารของกองทัพยูเครนโพสต์เฟซบุ๊กว่า กองทัพรัสเซียได้จัดกำลังใหม่และระดมกำลังพลในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยหลักๆ ก็เพื่อโอบล้อมและเข้าควบคุมกรุงเคียฟและเมืองใหญ่อื่นๆ

คาร์คิฟโดนถล่มหนัก

ที่เมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครนที่มีประชากร 1.5 ล้านคนอยู่ในภาคตะวันออกติดชายแดนรัสเซีย รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ยูเครนหลายคนว่า มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคนเมื่อรัสเซียยิงมิสไซล์โจมตีพื้นที่ของพลเรือนเมื่อวันจันทร์ ขณะสื่อยูเครนอ้างคำกล่าวของอีกอร์ เตเรคอฟ นายกเทศมนตรีคาร์คิฟ ว่ายานหุ้มเกราะและรถถังของรัสเซียอยู่ทุกหนแห่งทั่วเมืองนี้ ทหารรัสเซียฆ่าพลเรือนหลายคน รวมถึงเด็ก

ในวันอังคาร กองทัพรัสเซียยังคงยิงปืนใหญ่ถล่มใจกลางเมือง รวมถึงอาคารที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่น ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีบรรยายภาพว่าหน้าต่างอาคารหลังนี้ถูกแรงระเบิดแตกกระจาย และเศษซากปรักหักพังเกลื่อนพื้น 

มีไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาของเซเลนสกี เขียนลงทวิตเตอร์ว่า ในที่สุด รัสเซียก็เผยโฉมหน้าที่แท้จริง โดยการยิงปืนใหญ่ถล่มใจกลางเมือง, ยิงมิสไซล์และปืนใหญ่ใส่เขตชุมชนและอาคารที่ทำการของรัฐบาล "เป้าหมายของรัสเซียนั้นชัดเจน ทำให้มวลชนตื่นตระหนก พลเรือนตกเป็นเหยื่อ และการทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐาน ยูเครนกำลังต่อสู้กลับอย่างกล้าหาญ" เขาทวีต

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองมาริอูโปลที่อยู่ติดทะเลอาซอฟ กล่าวว่า เมืองนี้โดนโจมตีและทำให้ไฟฟ้าดับ ส่วนเมืองเคอร์ซอนที่อยู่ติดทะเลดำ นายกเทศมนตรีอีกอร์ โคลีคาเยฟ โพสต์เฟซบุ๊กว่า กองทัพรัสเซียตั้งจุดตรวจทั่วทางเข้าของเมือง แต่เมืองนี้ยังเป็นของยูเครนและยังสามารถต้านทานได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานเสียงระเบิดดังทั้งภายในและรอบเมืองโบรวารี ชานกรุงเคียฟ 

รัฐบาลยูเครนกล่าวว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี ถึงขณะนี้มีพลเรือนสังเวยชีวิตแล้วมากกว่า 350 คน รวมถึงเด็ก 16 คน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันอังคารว่า มีผู้อพยพลี้ภัยออกจากยูเครนแล้วมากกว่า 660,000 คน โดยเกือบ 400,000 คนอยู่ในโปแลนด์

เมื่อวันจันทร์ ปูตินได้โทรศัพท์สนทนากับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยผู้นำรัสเซียประกาศเงื่อนไขของเขาหากต้องการให้สงครามนี้ยุติลง ซึ่งรวมถึงให้โลกตะวันตกยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมีย และทำให้ยูเครนปลอดการทหาร

ต่อมาในวันอังคาร รัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เกย์ ชอยกู กล่าวว่า รัสเซียจะยังคงบุกต่อไป "จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้" เขากล่าวถึงการทำให้ยูเครนปลอดทหารและปลอดนาซี และปกป้องรัสเซียจากภัยคุกคามทางทหารที่เกิดจากประเทศตะวันตก

รอยเตอร์รายงานอ้างคำกล่าวของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลและฮิวแมนไรต์วอตช์ว่า ดูเหมือนว่าทหารรัสเซียจะใช้ระเบิดพวง หรือคลัสเตอร์บอมบ์ โดยแอมเนสตี้กล่าวหารัสเซียด้วยว่า โจมตีโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงขณะที่พลเรือนหลบภัยอยู่ภายใน

ขณะเดียวกัน ออคซานา มาร์คาโรวา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหรัฐ กล่าวภายหลังประชุมกับสมาชิกสภาคองเกรสว่า รัสเซียใช้อาวุธเทอร์โมบาริกหรือที่รู้จักในชื่อ "ระเบิดสุญญากาศ" การทำลายล้างที่รัสเซียพยายามกระทำกับยูเครนนั้นกว้างใหญ่

ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารัสเซียใช้อาวุธร้ายแรงเหล่านี้ แต่ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ทีมงานคนหนึ่งเห็นเครื่องปล่อยจรวดหลายลำกล้องแบบเทอร์โมบาริกของรัสเซีย ใกล้ชายแดนยูเครนเมื่อบ่ายวันเสาร์ ขณะที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า เห็นรายงานนี้แล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง ก็อาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

ไทยต้องรอบคอบเป็นกลาง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนต่างๆ มีหลายอย่างอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน จากการที่ตนเรียกประชุมรองนายกรัฐมนตรีเร่งด่วนเมื่อวันที่ 28 ก.พ. เพื่อให้เตรียมมาตรการตามวิกฤตการณ์ สมมติฐานที่วางไว้ 3 ระดับ ซึ่งวันนี้ยังอยู่ในระดับที่ 1 ขั้นที่ 2 ที่ 3 ต้องเตรียมมาตรการไว้ทุกเรื่องในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สิ่งที่จะพูดคุยกันคือ จะทำยังไงให้สงครามและความรุนแรงนั้นยุติลงให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบกันทั้งโลกหลายมิติด้วยกัน เราก็ต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวัง ใช้กลไกการต่างประเทศ กลไกของอาเซียนดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของบางประเทศอยากให้ไทยแสดงจุดยืนกับรัสเซีย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ผมพูดแล้วไงว่าเป็นเรื่องของอาเซียน เข้าใจไหม เป็นเรื่องของภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ให้ได้ เท่านั้นเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตประชาชนทุกประเทศให้ปลอดภัย และวันนี้คือทำยังไงให้คนไทยนั้นปลอดภัย และทำยังไงที่จะสนับสนุนในกระบวนการสันติภาพ ให้มันจบสิ้นให้ได้โดยเร็ว มันไม่ได้มีอะไรดีกับใครทั้งนั้น"

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า โดยหลักแล้วเราต้องดูสถานการณ์ที่เป็นจริง ขณะนี้ประเทศไทยอาจจะต้องปรับท่าทีนิดนึง เพราะเรารับรู้อยู่แล้วว่ามีการประณามเยอะอยู่แล้ว แต่เราต้องหาจุดที่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพื่อเสริมการเจรจา ต้องมาช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายได้ อย่านั่งประณามอย่างเดียว ซึ่งเรามีช่องทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ส่วนกรณีประธานาธิบดียูเครนสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) นั้น นายดอนกล่าวว่า ตามหลักของการเจรจาเป็นการทำให้ท่าทีเข้มขึ้นแข็งขึ้น แต่การเสริมท่าทีนั้นจะทำให้การคุยกันยากขึ้นไปได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะต้องชวนกันมาเอาจริงเอาจังที่จะหาทางออก มากกว่าการแสดงความแกร่ง

เมื่อถามย้ำว่า ยูเครนมีจุดยืนชัดเจนที่จะเข้าร่วมอียูใช่หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่เชิง เราต้องคิดว่ามีปัจจัยต่างๆ อีกเยอะ อาจจะไม่ได้แค่คิดเรื่องการเป็นสมาชิกอียูเท่านั้น แต่อาจจะมาจากที่อื่นก็ได้เพื่อให้เกิดการยืดเยื้อ คนที่ต้องการให้เกิดความยืดเยื้อมีอยู่เยอะ เพราะจะได้ประโยชน์จากหลายๆ อย่าง แต่คนเสียผลประโยชน์คือคนทั้งโลก เราจึงต้องหาวิธีการที่จะช่วยกันให้การหารือเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไทยโชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นเพื่อนและสามารถคุยกับคนทั้งโลก ทั้งอียู สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เพียงแต่บางเรื่องต้องปล่อยให้ไหลเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าต้องด่วนรีบร้อนเข้าไปมีบทบาท เพราะมีผู้เล่นและผลประโยชน์เยอะ เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ จึงต้องดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือไม่ และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร 

 ทั้งนี้่ ทางรัสเซียก็อยากเจรจา ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ก.พ.คงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมีสิ่งแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้เสมอ ต้องตามกันให้ดี เพราะเป็นเรื่องระดับโลกของการเจรจาและการเมืองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ผิวเผิน เพราะข้างล่างมีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. ใช้เวลาหารือถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนานที่สุด โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ขณะนี้มีความกดดันจะให้ไทยเข้าข้างอียู แต่หากจะทำอะไรเราต้องคิดถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย โดยประเทศในอียูไม่รู้รายละเอียดความสัมพันธ์ที่เรามี เราจึงต้องคิดอย่างละเอียดและรอบคอบ ด้านนายดอนกล่าวว่า อียูรุกไทยอย่างมากว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ทำให้นายกฯ กล่าวสรุปว่า “เราต้องสุขุมและรอบคอบในการตัดสินใจ” และภาพรวมในการหารือ คือต้องการให้ไทยวางตัวเป็นกลาง และเร่งนำคนไทยในพื้นที่ดังกล่าวกลับมาโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง