ดร.ณัฎฐ์ มือกฎหมายมหาชน ชี้ชัดกรณี 'ชาญชัย'​ ถูกตัดสิทธิ์สมัคร ส.ส.

“ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การถือครองหุ้นสื่อ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ปชป.นครนายก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เคยมีคำพิพากษาบรรทัดฐานในคดีเลือกตั้งนายกฯท้องถิ่นแล้ว ไม่ใช่เคสแรก

23 เม.ย.2566 -​ กรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูก ผอ.กกต. ประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 นครนายก ตัดสิทธิ์การลงรับสมัคร ส.ส.โดยระบุถือครองหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ว่าเข้าข่ายตามลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัคร ส.ส.

ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวถึงประเด็นนี้ โดยอธิบายและให้ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน ว่า ก่อนอื่นคดีนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ตนไม่ได้ไปชี้นำหรือไปละเมิดอำนาจศาล แต่จะให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ โดยข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาด ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้เช่นนี้ ไม่ต้องการให้นักการเมืองครอบงำสื่อมวลชน ทำให้สื่อขาดอิสระ ขาดความเป็นกลาง จึงบัญญัติเป็นข้อห้ามในคุณสมบัติไว้ ในการสมัคร ส.ส.โดยใช้เกณฑ์ต้องคลีนก่อนวันสมัคร แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต พูดภาษาชาวบ้าน ห้ามเป็นเจ้าของสื่อหรือ ถือหุ้นสื่อ หากพิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 42 (3) โดยโทษทางอาญาและตัดสิทธิการเมือง โดยบัญญัติไว้ ตามมาตรา151 ซึ่งมีอัตราโทษโทษ จําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปีด้วย
.
ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 2562 คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706 / 2562 ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนครยื่นคำร้องว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ประเด็นที่ศาลชี้ ในสาระสำคัญว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 98(3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา42(3) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์จึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงนี้ แตกต่างจากของ นายชาญชัยฯ ผู้สมัคร ส.ส.ปชป.เขต 2 นครนายก เพราะนายชาญชัยซื้อหุ้น ถือหุ้นในบริษัท AIS แต่ผลทางกฎหมายไม่ต่างกัน ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ยกตัวอย่าง ผู้สมัคร นายก อบต.รายหนึ่ง จังหวัดนนทบุรี กกต.ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้สมัครนายก อบต.ถือครองหุ้น อสมท. ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติว่า ถือครองหุ้น อสมท.เพราะหลักฐาน คือ ใบหุ้น แม้ผู้สมัครฯ อ้างว่า หลงลืม ไม่ทราบมาก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้สมัครรายนั้นมีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครนายก อบต. ดังนั้น ข้อเท็จจริงของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.นครนายก เขต 2 ที่ถือหุ้น AIS ไม่แตกต่างกัน เพราะข้อกฎหมายห้ามเด็ดขาด ที่นายชาญชัยฯอ้างว่า เป็นเคสแรก ในประเทศไทย ตีโพยตีพาย คงจะไม่ใช่ ต้องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนให้สัมภาษณ์สื่อ
.
ประเด็นข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบ พรป.ส.ส.2561 มาตรา 42(3) เป็นหน้าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองตรวจสอบ แต่ตนจะชี้ว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่(ขณะนั้น) กับกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถูกร้องในลักษณะเดียวกัน โดยใช้ช่อง มาตรา 82 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดโดยถือตามความเป็นจริง โดยไม่นำแนวคำพิพากษาศาลฎีกามาเป็นแนวทางวินิจฉัย ส่วนกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.ปชป.เขต 2 นครนายก เป็นอำนาจชี้ขาดว่าจะเพิกถอนคำสั่ง กกต.ที่ตัดสิทธิสมัคร ส.ส.หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การถือครองหุ้นสื่อ อาทิ การถือหุ้น อสมท.การถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสื่อ ไม่แตกต่างจากนักเล่นหุ้น ช้อนซื้อหุ้นทั้งหลาย ที่เป็นนักเลือกตั้ง แต่หลงลืม คิดว่า กกต.ตรวจสอบไม่พบ ศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานในคดีเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แล้ว ดังนั้น นายชายญชัยฯ จึงไม่ใช่รายแรก ที่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง คัดกรองแต่ด่านแรก
.
ส่วนที่นายชาญชัยฯ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ผู้สมัคร คนนั้น คนนี้ พรรคการเมืองนั่น พรรคการเมืองนี้ ถือครองหุ้นเหมือนกับตนเอง แล้วไประบุชื่อ หากไม่เป็นความจริง ไม่มีหลักฐาน ศรนั้นอาจย้อนกลับไปหาตนเอง ดังนั้น หากมีข้อมูลการถือครองหุ้น ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้าง ควรส่งรายชื่อ รายละเอียดให้ กกต.ตรวจสอบ จะได้สอยก่อนที่จะหย่อนบัตรเลือกตั้ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัยการเรียก 'เรืองไกร' ให้ถ้อยคำ คดีร้อง 'เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองหรือไม่

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด

'ชาญชัย' ชี้ช่อง 'ป.ป.ช.' ยกหลักฐานใหม่ อุทธรณ์ยกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์'

'ชาญชัย' รอคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม ยกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีจัดโรดโชว์ 240 ล้าน แนะ ป.ป.ช. ตั้งหลักยื่นอุทธรณ์ พร้อมชี้ช่องหลักฐานใหม่

อดีตตุลาการศาลรธน. ฟันเปรี้ยง! รู้ทันพวกคิดเปลี่ยนปกครองเป็นปชต.สังคมนิยมคอมมิวนิสต์

นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามในงานสัมมนาในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร” เรื่องกรรมการองค์กรอิสระชุดนี้ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน เพราะได้รับเลือกและแต่งตั้งในยุครัคประหาร