ที่ปรึกษารมว.ยธ. แจงกรณี นช.ทักษิณ-พักโทษ

แฟ้มภาพ

12 ก.พ.2567 - ที่ กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำคณะ พร้อมด้วยมวลชนหลายรายได้เคลื่อนขบวนพร้อมปราศรัยเพื่อขอเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สำหรับยื่นหนังสือขอคัดค้านการพักการลงโทษ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม เป็นตัวแทนรับเรื่อง

โดยนายสมบูรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือถึงกรณีนายทักษิณ จะได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ว่า เบื้องต้นเรายังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นการให้สิทธิ ดังนั้น ทุกคนจะรู้ดีว่าครบ 6 เดือน ถ้าวันไหนก็วันนั้น และถ้าถึงเวลาแล้วท่านทักษิณมีรายชื่อได้รับการพักโทษก็ได้รับสิทธิ อย่างไรก็ตาม รายชื่อของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการจะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่โดยธรรมเนียมแล้วเราจะไม่บอกก่อน เพราะมันเป็นการละเมิดเขา และถึงเสนอมาบางรายก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ การเปิดเผยไปก่อนก็อาจมีผลกระทบได้ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยแถลง แต่จะปรากฏก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และเเม้ว่าในวันที่จะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เราก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิที่เขาได้รับ หลังเที่ยงคืนวันที่จะได้พักโทษ มันก็ถึงวันของเขา ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวผู้ต้องขังอยู่ต่อ แต่การที่จะอยู่ต่อมันก็เป็นการอะลุ่มอะล่วยกันว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะค่อยปล่อยตัวได้ ตนจึงยังตอบไม่ได้ว่าเที่ยงคืนของวันพักโทษของผู้ต้องขังจะได้ออกเลยหรือไม่ เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละราย

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพักโทษ ปกติคณะอนุกรรมการฯ จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว และจะมีรายชื่อจากเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์ ถูกเสนอขึ้นมายังชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกว่า 1,000 รายชื่อในทุกเดือนให้พิจารณา แต่มากที่สุดคือการพักโทษแบบปกติ ประมาณ 500-800 ราย แต่การพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ จะมีทั้งการเจ็บป่วย อายุมากกว่า 70 ปี หรือเข้าโครงการฝึกฝนทักษะอาชีพ กลุ่มเหล่านี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพักโทษกรณีปกติ แต่ทั้ง 2 กลุ่มรวมๆ แล้วก็เกือบ 1,000 รายทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาเห็นชอบทุกรายให้ได้รับการพักโทษ เพราะตัวแทนจาก 19 หน่วยงาน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

เมื่อถามว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คาดว่าในวันจันทร์ที่ 12 ก.พ. อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อาจมีการเสนอรายชื่อผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิ์การพักโทษมายังตนเองให้พิจารณานั้น นายสมบูรณ์ ชี้แจงว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ของ รมว.ยุติธรรม เพราะจริงๆแล้วช่วงเวลาการประชุมในแต่ละเดือนจะมีการรายงานในเดือนถัดไปอยู่แล้ว แต่พรุ่งนี้ท่านจะมีการประชุม ครม. คงต้องให้สื่อมวลชนไปสอบถามท่านในวันพรุ่งนี้แทน และวันนี้ท่านปฏิบัติราชการอยู่ที่ จ.ยะลา แต่ถ้าท่านได้รับรายชื่อจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องสั่งการในนาทีนั้น เพราะต้องผ่านขั้นตอนของรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรมด้วย อีกทั้งกรณีการเพิกถอนการพักโทษนั้น จะมีวาระที่ว่าหากผู้ได้รับการพักโทษไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็สามารถเสนอยกเลิกการพักโทษได้และนำตัวกลับมาคุมขังที่สถานที่คุมขังอีกครั้ง ซึ่งก็จะเป็นอำนาจของ รมว.ยุติธรรม ในการพิจารณาจากเรื่องที่ถูกเสนอมา

ต่อข้อถามว่าหากนายทักษิณได้รับการพักโทษ จะต้องแจ้งใช่หรือไม่ว่าเมื่อพักโทษจะไปอยู่ที่ใด และใครเป็นผู้อุปการะ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า มันจะมีเงื่อนไขระบุว่า ถ้ากรณีมีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีคนอุปการะ หรือให้ความช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น คนที่ได้รับการพักโทษจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งการพักโทษไม่ได้หมายความว่าพ้นโทษ หรือพ้นจากการควบคุมของกระทรวงยุติธรรม แต่ยังอยู่ในการกำกับดูของกระทรวงยุติธรรม แค่เปลี่ยนจากการรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ไปเป็นกรมคุมประพฤติ และไม่ต้องมีหมายปล่อยของศาล

สำหรับเรื่องของการอายัดตัวนายทักษิณ จากคดีมาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. และอัยการสูงสุดนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะต้องพิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะอายัดตัวได้หรือไม่นั้น อยู่ที่พนักงานอัยการ ส่วนขั้นตอนในปัจจุบัน ตนต้องเรียนว่ายังอยู่ในกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องหารือกับอัยการว่าถ้ามีชื่อนายทักษิณได้รับการพักโทษจริง ๆ วันนั้นขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แต่ความเห็นหลักและการตัดสินใจจะเป็นของอัยการโดยที่กรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการติดหรือไม่ติดกำไล EM ของนายทักษิณ หากได้รับการพักโทษนั้น ตนขอชี้แจงถึงมติของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 คนเจ็บป่วยหรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมหรือติดกำไล EM อีกทั้งในกระบวนการของการพักโทษ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร เพราะกรมราชทัณฑ์มีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว และกรมคุมประพฤติก็ต้องไปปฏิบัติตามระเบียบนั้น ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าถ้าผู้ต้องขังรายใดที่อายุมากกว่า 70 ปี และเจ็บป่วย มีเหตุร้ายแรงจะไม่มีรายใดที่ได้ติดกำไล EM เพราะถ้าต้องติดกำไล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องติดคุก เพราะทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว

'ราเมศ' อัดราชทัณฑ์แจง 5 ข้อ ตอกย้ำให้เห็นกระบวนการอุ้ม 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ต้องเข้าเรือนจและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องระลึกว่าทุกคำตอบคือหลักฐานสำคัญ