“พรรคประชาชน” เปิดจุดยืนค้านฟัน “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” พ้นตำแหน่ง ซัด “รธน.ปี 60” ให้อำนาจศาลฯ-องค์กรอิสระผูกขาดตีความ “จริยธรรม” ยึดตามดุลยพินิจตัวเอง เสี่ยงถูกตกเป็นเครื่องมือ ด้าน “พริษฐ์” บอก 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมาของศาลรธน. จะทำให้ปชช. ตั้งคำถามมากขึ้น ลั่น ไม่ว่านายกฯ คนต่อไปเป็นใคร พรรคปชช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านต่อ
14 ส.ค.2567 - เมื่อเวลา 17.00 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงจุดยืนของพรรคประชาชนจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ขอแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต แต่จริยธรรมต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน ดังนั้นตราบใดที่การกระทำเป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษทางกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว จะเห็นว่าเรื่องจริยธรรมนั้นควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พรรคประชาชนจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ผูกขาดการตีความเรื่องมาตรฐานจริยธรรมตามดุลพินิจของตนเองจนเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อย่างกรณีของนายเศรษฐา ในวันนี้
“พรรคประชาชน มีความเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนี้ จะทำให้สังคมทุกฝ่าย และพรรคการเมืองทุกพรรค เห็นชัดขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และความจำเป็นในการทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง ในส่วนของ สส.พรรคประชาชน ทุกคนจะเดินหน้าทำงานต่อในฐานะสส. เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีความกังวลในเรื่องของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่คดียุบก้าวไกล จนมาถึงคดีดังกล่าวของนายเศรษฐา นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ ถึงจะเป็นคนละกรณีกัน ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น ถึงการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ หากยังมีอยู่จะทำอย่างไรให้อำนาจมีความเหมาะสม ให้อยู่ในขอบเขตหรือจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ ที่มีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงออกแบบกฎกติกาและการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระด้วยเช่นกัน ซึ่งในเชิงรูปธรรมการจะมีบทสนทนาในการทบทวนเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้น ต้องทำผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้สังคมเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากขึ้น และทางพรรคประชาชนหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของประชาชน
เมื่อถามว่าทางพรรคมีการพูดคุยในการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไป หรือไม่ เนื่องจากทางพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนถัดไปเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะมีการเสนอบุคคลใดมาดำรงตำแหน่งนายกฯ และในส่วนของพรรคประชาชนเราทำหน้าที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จากการยุบพรรคก้าวไกล ในเชิงนิตินัยทางพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
และในส่วนของพรรคประชาชน ก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงผลักดันวาระที่เราคิดว่ามีความสำคัญกับประชาชน
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องงูเห่าที่อาจจะถูกในการโหวตนายกฯครั้งถัดไปหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่าสส. ของพรรคประชาชน ทั้ง 143 คน จะเดินหน้าทำงานต่อเป็นเอกภาพ ที่สอดรับกับอุดมการและจุดยืนของพรรคประชาชนที่สืบเนื่องมาจากพรรคก้าวไกล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นอดีตสส. จากพรรคก้าวไกลที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มาสมัครสมาชิกพรรคประชาชน อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นเอกภาพด้วยเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครมีอาการลังเลนั้น ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ประจักษ์แล้วว่า สส. ของพรรคประชาชนจะร่วมกันเดินหน้าอย่างเป็นเอกภาพ
เมื่อถามว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าจะมีการยุบสภาฯ เนื่องจากนายกฯ รักษาการมีอำนาจในการยุบสภาฯ และพรรคประชาชนจะไม่สามารถจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ เนื่องจากสังกัดพรรคไม่ถึง 30 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรามีการวิเคราะห์ทุกฉากทัศน์ ซึ่งในคำถามเป็นแค่ 1 ในฉากทัศน์ และไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้น
ส่วนนายกฯคนต่อไปควรจะมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ ระบุว่า ต้องเป็นบทสนทนาที่พรรคร่วมรัฐบาลคุยกัน แต่ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครก็ตาม ทางพรรคประชาชนก็ทำหน้าที่ต่อไปในพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แล้วกัน! ฝ่ายค้านยังไม่รับ 'พรรคลุงป้อม' เข้ากลุ่ม
ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรร
ยอม! 'พรรคส้ม' ยันส.ส.ลงพื้นที่แม่สายก่อนน้ำท่วม ที่ไม่เห็นเพราะไปพื้นที่เข้าถึงยาก
ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรร
พรรคส้ม ดอดยื่นร่างแก้รธน. ล้างอำนาจป.ป.ช. ห้ามสอบจริยธรรมส.ส.
ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่
'จตุพร' กระตุ้นพรรคส้มคิดใหม่ปรับตัว
“จตุพร”ชี้พรรครัฐบาลมีโมเดลรุมพรรคส้มแพ้ศึกเลือกตั้งได้ เผยเจรจาคัดผู้สมัครพรรคเดียวลงชิงพื้นที่พรรค ปชช. 112 เขต เชื่อบดขยี้และเพิ่มเสียงรัฐบาลมากขึ้น แนะพรรคส้มปรับตัวเลือกผู้สมัครมีฐานเสียงแล้วบวกด้วยคะแนนนิยมของพรรคจะพอเอาตัวรอดแค่ปกป้องพื้นที่เดิมไว้ได้บ้าง
'เทพไท' วิเคราะห์ 7 จุดตาย 'พรรคประชาชน' เลือกตั้งซ่อมแพ้
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งซ่อมแพ้ เลือกตั้งใหญ่อาจชนะก็ได้
'พรรคประชาชน' ถอด 'พิษณุโลกโมเดล' วางเกมยาวสู้ 'กลุ่มชนชั้นนำ' เลือกตั้งปี 70
ภายหลังการเลือกตั้งซ่อม จ.พิษณุโลก เขต 1 สิ้นสุดลง ผลปรากฏว่า นายจเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน ไปด้วยคะแนนที่ห่างกันมากถึง 6,569 คะแนน