'ณัฐพงษ์' ปาฐกถาวางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า เสนอ 5 เสาร์ 'เจรจา-กระชับ-รับมือ-เยียวยา-ลงทุน' ดำเนินการคู่ขนาน พร้อมส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดไปยัง 'ทีมไทยแลนด์' ใช้เจรจากับสหรัฐ
30 เม.ย. 2568 - ที่โรงแรมโนโวเทล แพลตตินัม ประตูน้ำ กทม. โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน จัดเวทีเสวนา หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2568 รับมือกำแพงภาษีและสงครามการค้า โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า โดยเชื่อว่า หน้าที่ของ สส.ทุกคน ไม่ว่าจะมาจาก ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ภาคประชาชน ภาคเอกชนต่างๆ หน้าที่ของเราคือ การส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดไปยังทีมไทยแลนด์ หรือคณะผู้แทนเจรจาของประเทศไทย ในการเดินทางไปเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อให้ไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่การเตรียมมาตรการรับมือปรับตัวกับนโยบายของรัฐบาลเอง หรือให้เอกชนปรับตัวกับห่วงโซ่อุปทานใหม่ ที่จะเกิดขึ้นกับสงครามการค้าโลก
นายณัฐพงษ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์รอบโลก โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในแถบภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่วันแรกที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศวันปลดแอก จนถึงวันนี้ที่มีการผ่อนปรน 90 วัน ว่าแต่ละประเทศมีการเข้าไปเจรจาอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ผลลัพธ์ของการต่อรอง อำนาจในการต่อรอง ของแต่ละประเทศ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อไทย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รวมถึงการประเมินฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย ตลอดจนกลุ่มภารกิจ หรือยุทธศาสตร์ ที่ทีมไทยแลนด์ และทุกภาคส่วน ควรเตรียมรับมือ
นายณัฐพงษ์ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าไปเจรจาเป็นประเทศแรกๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ได้เปรียบ คือรู้ความต้องการของสหรัฐฯ รู้ว่าเขามีไพ่อะไรในมือ แล้วนำมาปรับทัพ โดยเสริมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ คือการส่งออกรถ และข้าวมายังญี่ปุ่น ร่วมอยู่ในคณะทำงาน
ขณะที่ ประเทศเกาหลีใต้ มีการยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ และเชื่อว่า ทรัมป์ น่าจะให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก โดยเฉพาะการต่อเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนไปแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูง รวมถึงความร่วมมือในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอลาสก้า
ด้าน ประเทศอินเดีย โดยรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เดินทางไปหารือกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย ในเรื่องที่อยากให้อินเดียหันมาซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ มากขึ้น แทนการซื้อจากประเทศรัสเซีย
ส่วน ประเทศเวียดนาม มีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร ที่จะปกป้องป้องกันเวียดนาม ไม่ให้ถูกใช้เป็นประตูทางผ่าน ในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งปัญหานี้ ก็เกิดขึ้นกับไทยเช่นเดียวกัน
หากมองภาพ โดยแบ่งรอบการเจรจาออกเป็นรอบต่างๆ ที่มีการดำเนินการไปแล้ว ในหลายประเทศ แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ทุกประเทศมีการเริ่มก้าวขยับในเรื่องนี้แล้ว ขณะที่ไทยยังไม่ได้ความชัดเจนในเรื่องนี้เท่าไหร่นัก
ดังนั้น วงเสวนาในวันนี้ จึงเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม ให้พร้อมมากที่สุดว่า จะมีสิ่งใดบ้างที่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย อะไรที่เราคิดว่า เป็นอำนาจต่อรองที่ดี ที่เราจะต้องส่งต่อ เพื่อให้รัฐบาลเตรียมนำเข้าไปเจรจา ซึ่งการที่เราเริ่มช้า ก็อาจมีข้อเสียเปรียบอีกหลายด้าน เช่น กรณีคู่ค้าอื่นๆ บรรลุผลการเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว เท่ากับไพ่ในมือของเรา ก็จะเหลือน้อยลงทุกวันๆ
สำหรับฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไทยในอนาคตหลังจากนี้ เราคงไม่ข้างตัวเองว่า ทุกอย่างดำเนินการไปได้ด้วยดี แล้วเราไม่ต้องเตรียมตัวรับมืออะไรเลย ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด ซึ่งคือการเจรจาระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ และตลาดโลก ประเทศอื่นๆ ก็เจรจากับ สหรัฐฯ บรรลุผลได้ด้วยดี ไม่ได้เกิดความปั่นป่วน เศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวหรือหดตัว เรื่อยๆ ซึ่งหากเราประเมินเป็นฉากทัศนี้ คงไม่ต้องมีงานในวันนี้ เพื่อมาพูดคุยกัน
สำหรับฉากทัศน์ที่อาจเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเราไม่เตรียมตัวรับมืออะไรเลย คือ การเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ ไทยยังคงโดนตั้งกำแพงภาษีอยู่ที่ 36% ตลาดโลกปั่นป่วน ประเทศอื่นๆ หากไม่สามารถส่งเข้าสหรัฐได้อีกต่อไป ก็จะส่งผลให้มีสินค้าล้นทะลักไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย เศรษฐกิจโลกเกิดการหดตัว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ไม่เติบโตตามที่คาดหวังไว้ สถานะทางการคลังของรัฐบาลไทย ก็มีแนวโน้มที่แย่ลง ซึ่งล่าสุดก็มีการปรับสถานะเป็นเนกาทีฟแล้ว เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จีดีพีไทยอาจจะติดลบ เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ดังนั้น ทีมไทยแลนด์ จึงต้องมีการพูดคุยร่วมกัน ในการวางแนวนโยบาย วางมาตรการอย่างไร ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด
สำหรับฉากทัศน์ที่พยายามประคับคอง คือการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ สำเร็จบางส่วน จากที่ตลาดโลกเคยซื้อของเรา อาจจำเป็นต้องผันไปซื้อจากสหรัฐฯ บางส่วน ซัพพลายเชนโลกก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน จึงอยากชวนทุกคนคิดในแง่ ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน แล้วมาร่วมกันออกแบบมาตรการ นโยบาย เผื่อป้องกันไม่ให้เกิดฉากทัศน์เหล่านั้นขึ้น
การวางตำแหน่งไทยใหม่ในระเบียบโลกใหม่ คือการปรับภาพ หรือมุมมอง ที่เรามองตัวเราเอง ต้องมองเลิกมองว่า เราเป็นประเทศขนาดเล็ก ที่ต้องหลายตามกระแสโลก ปล่อยให้กระแสโลกมากำหนดอนาคตเราอย่างเดียวเท่านั้น ต้องปรับความคิดว่าเราคือประเทศขนาดกลาง นำตัวเองไปอยู่ในเวทีต่างๆ ที่เราสามารถกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของเราได้เอง ซึ่งไทยเราได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของอาเซียน จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราใช้กรอบความร่วมมือของอาเซียน คุยกันให้ตกผลึก ว่าแต่ละประเทศมีจุดแข็งอะไรที่จะพัฒนา ตามกรอบของภูมิภาคร่วมกัน ซึ่งเราเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นศูนย์กลาง ทำอาเซียนสมาร์กริด โดยอาจจะเริ่มบริเวณตรงกลางก่อน ในกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย บวกกับ มาเลเซีย และสิงคโปร์ แล้วจึงขยายไปประเทศอื่นในอาเซียน
หากเราเริ่มมองตัวเองว่าเรามีอำนาจในการต่อรองบางส่วน มียุทธศาสตร์บางอย่างที่สามารถกำหนดทิศทางภูมิภาคร่วมกัน หรือในเวทีโลกต่างๆ ได้ การออกแบบนโยบายต่างๆ ในอนาคต ก็ย่อมจะต้องสอดประสารและสอดรับกับยุทธศาสตร์เหล่านี้
นายณัฐพงษ์ ยังเสนอยุทธศาสตร์ 5 เสาร์ ที่สามารถดำเนินการคู่ขนานได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้การเจรจาจบ คือ 1.เจรจา ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด เช่น หากเราจะต้องยอมนำเข้าสินค้าบางอย่างจากสหรัฐฯ สินค้าต่างๆ เหล่านั้น ก็ต้องไม่ส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคในประเทศเรา หรือไม่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าประเทศอื่นของไทย ไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าต่อไทยมากยิ่งขึ้น
2.กระชับ ความสัมพันธ์ในเวทีต่างๆ ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือเรื่องการค้าเป็นธรรม เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาร่วมกัน ประเทศที่ขาดดุลอาจได้รับการสนับสนุนบางอย่างจากประเทศเกินดุลหรือไม่ เช่น การพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นคู่หูพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่งยังต้องดูในเรื่องกรอบห่วงโซ่อุปทาน กรอบสังคมวัฒนธรรม กรอบภูมิรัฐศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย
3.รับมือ ในส่วนทางตรง หากเกิดมีสินค้าล้นทะลักเข้าไทย จะต้องมีมาตรการในการป้องกัน เช่น ป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย การกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ระหว่างผู้ผลิตในประเทศกับต่างประเทศ เรื่องมาตรฐานสินค้า
4.เยียวยา ซึ่งคงต้องมีการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนแน่นอน จะต้องมีการออกแบบมาตรการเยียวยาอย่างไร ให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้เร็วที่สุด เช่น หากไทยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งอาจมีต้นทุนการนำเข้าที่ถูกกว่าการผลิตในประเทศ คนที่จะได้เปรียบในสมการนี้ คือคนที่ผลิตหรือแปรรูปอาหารสัตว์ เราจะมีมาตรการในการเยียวยา เพื่อแบ่งสันปันส่วนในห่วงโซ่อุปทานใหม่นั้นอย่างไร ทำให้คนที่ได้ประโยชน์มากขึ้นเข้าไปเยียวยาให้กับผู้ที่เสียประโยชน์
และ 5.ลงทุน เราจะคิดเฉพาะแค่ไทยเก่งอะไร หรือต้องลงทุนอะไรอย่างเดียวไม่พอ แต่ยุทธศาสตร์ในการลงทุน จะต้องตอบโจทย์ เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงโซ่อุปทานโลก และสังคมวัฒนธรรมด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับระเบียบโลกใหม่
ทั้งนี้ นี่คือกรอบยุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้ทีมไทยแลนด์ ไม่ว่าจะอยู่ในหมวกไหนก็ตามแต่ สามารถดำเนินการทุกๆ อย่างไปได้พร้อมๆ กัน เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ ภายใต้สงครามการค้าโลกนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.การคลังฉุนผู้นำฝ่ายค้านใช้คำรัฐล้มเหลว!
'จุลพันธ์' ซัด 'ณัฐพงษ์' รู้แก่ใจ 'ไทย' ไม่ใกล้เคียงรัฐล้มเหลว จี้ให้รับผิดชอบ หลังใช้โวหารการเมือง สะท้อนภาพมุมลบ พร้อมยินดีปรับงบฯ ในชั้นกมธ.
นายกฯ แถลงร่างงบประมาณ 69 ห่วงภาษีสหรัฐฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก
'เท้ง' ฉายเดี่ยวสับ กม.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
'หัวหน้าเท้ง' ขึ้นอภิปรายคนเดียว 'พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์' หลังสภาผ่านฉลุย! พ.ร.ก. 'ปราบอาชญากรรมไซเบอร์-ทรัพย์สินดิจิทัล' คะแนนท่วมกว่า 450 ทั้ง 2 ฉบับ
'สุดารัตน์' นำนักธุรกิจไทยบุกตลาดจีน เจรจาบริษัทยักษ์ใหญ่ บรรเทาวิกฤตศก.
'สุดารัตน์' นำนักธุรกิจ SMEs กว่า 50 ราย เยือนจีน เจรจาผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ปูทางผู้ประกอบการ นำสินค้าไทยจำหน่ายในตลาดจีน
เปิดตลาดใหม่! 'หัวหน้าปชน.' แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' ควรทำมากกว่าไลฟ์สดขายทุเรียน
'เท้ง' แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' สิ่งที่ควรทำมากกว่าไลฟ์สดขายทุเรียน คือขยายตลาด มอง อย่าพึ่งพิงจีนที่เดียว ต้องเสนออินเดียด้วย บอก ของเรามีมูลค่า แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรอยู่รอดด้วยตัวเอง
ปลื้มชาวศรีราชาเซอร์ไพรส์วันเกิด ‘เท้ง’ สับเละงูเห่า บอกด้อมส้มอาจได้เลือกเทศบาลใหม่
ชาวศรีราชา เซอร์ไพรส์วันเกิด 'เท้ง' เจ้าตัวบอกกำลังใจเต็มเปี่ยม ฉะ 'งูเห่า' เป็นฝ่ายค้าน แม้ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ปูดข่าวดี ด้อมส้ม เทศบาลนี้ อาจได้เลือกตั้ง เผยกำลังรวบรวมหลักฐานทุจริต ด้าน 'เบญจา' เดือด ความไว้วางใจถูกทรยศ ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาเรียก ปลุกรุมประณาม 'พรรคดูดงู' อัดอั้น บอกจะร่วมด้วย ขณะ 'สมาชิกส้ม' ทนไม่ไหว ชู 'งูปลอม' พร้อมกระทะ-ตะหลิว ชี้ สส.ส้มที่เหลือ ถามไม่ไปใช่หรือไม่ ขู่จะจับผัดให้หมด