ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่าตามที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและบอร์ด คปภ. กำหนดเงื่อนไขให้บริษัททั้งสองถือปฏิบัติก่อนเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งในระหว่างที่บริษัทมีการดำเนินการเพื่อเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัทได้มีการยืนยันมาโดยตลอดว่าจะดำเนินการตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาให้บริษัทถือปฏิบัติก่อนเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทได้เสนอขอให้ผู้เอาประกันภัยรับคืนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เต็มจำนวนและยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยสมัครใจ แต่บริษัทสามารถดำเนินการได้เพียงบางส่วน รวมทั้งมีการโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นไปยังบริษัทประกันวินาศภัยอื่น แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และต่อมามีผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมากยื่นเรื่องร้องเรียนบริษัททั้งสองโดยมีสาเหตุจ่ายเคลมล่าช้าตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว นั้น
ในเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เร่งติดตามการดำเนินงานสถานะการเงินของบริษัททั้งสอง ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับทางบริษัททั้งสองหลายครั้งจนได้ข้อมูลปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากบริษัทว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทมีมติที่จะไม่สนับสนุนเงินทุนโดยยังไม่ได้มีเอกสารรายงานประชุมยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนในเรื่องการเพิ่มทุน หรือแนวทางการแสวงหาเงินทุนหรือแหล่งเงินทุนของบริษัท รวมทั้ง มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 และมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 ทั้งยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของทั้ง 2 บริษัท ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่าบริษัททั้งสองไม่บันทึกรายการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ในสมุดทะเบียนค่าสินไหมทดแทน และสมุดบัญชีของบริษัทเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามมาตรา 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องลงรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ไม่ช้ากว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการนั้น และในวันที่ 16 มีนาคม 2565 ยังได้รับแจ้งจากบริษัททั้งสองว่าไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขตามคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทได้ จึงขอให้บอร์ด คปภ. และสำนักงาน คปภ. พิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรโดยเร็วเพื่อประโยชน์ในภาพรวม
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหลักฐานดังกล่าวข้างต้น นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของทั้งสองบริษัทเป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว 2. แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง 3. ให้บริษัทดำเนินการขายทรัพย์สินที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ขายโดยเร่งด่วน ภายใต้เงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด และเงินที่ได้รับจากการจัดการทรัพย์สินโดยการขายทรัพย์สินนั้น บริษัทจะต้องนำไปชำระค่าสินไหมทดแทนหรือเป็นค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และบริษัทต้องเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการชำระค่าสินไหมทดแทนหรือเบี้ยประกันภัยเพื่อให้สำนักงานตรวจสอบได้ 4. ให้บริษัทเปิดทำการติดต่อกับประชาชนทุกวันตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยการกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยเปิดทำการติดต่อกับประชาชน และจัดหาบุคลากรให้เพียงพอต่อการดำเนินการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และให้จัดสรรบุคลากรประจำจุดรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เปิดดำเนินการ ณ ที่ทำการบริษัทให้เพียงพอ และให้ดำเนินการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามระยะเวลาทำการติดต่อกับประชาชน 5. ให้บริษัทเร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็วและให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 6. ให้บริษัทจัดทำรายงานเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขที่กำหนด 7. ให้บริษัทบันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย 8. ให้บริษัทเร่งรัดพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และ 9. ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ในส่วนของบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับประกันภัยต่อกับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้บริษัทเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ตามสัญญาประกันภัยต่อกับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ครบถ้วนโดยเร็ว
ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 บัญญัติให้เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด รวมถึงให้บริษัทรายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมดของบริษัทภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
นอกจากนี้บอร์ด คปภ. ยังมีมติว่าในกรณีที่บริษัททั้งสองไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียนได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม หรือนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากรอให้ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ให้สำนักงาน คปภ. ดำเนินการตามมติ คปภ. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ต่อไป
“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนได้เต็มที่ และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัท ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทได้ทั้งหมด และจัดการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้แจ้งคำสั่งฯแก่บริษัททั้งสองแล้ว และจะประชุมทำความเข้าใจ ติดตามและตรวจสอบการโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภท non-covid เร่งรัดให้บริษัทจำหน่ายทรัพย์สินตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเคลม นอกจากนี้ได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัท ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทอย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หากพบว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัททั้งสอง สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE MISSION FOR INSURANCE SUSTAINABILITY คปภ. เดินหน้ารุกเคียงข้างประชาชน
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ)
คปภ. เห็นชอบสั่ง ‘บมจ. สินมั่นคงประกันภัย’ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
คณะกรรมการ คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “บมจ. สินมั่นคงประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวคุมเข้มให้บริษัทหยุดรับประกันภัย ภายหลังศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เดือดร้อน
'ชูฉัตร' นั่งเลขาฯคปภ. คนใหม่
คลังแต่งตั้ง นายชูฉัตร ประมูลผล เป็นเลขาธิการ คปภ. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
คปภ. ลุยช่วยเหลือด้านประกันภัยเหตุพายุพัดถล่มหลังคาโรงเรียนวัดเนินปอ
คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีพายุพัดถล่มหลังคาโดมโรงเรียนวัดเนินปอเป็นเหตุให้ “นักเรียน-โค้ชฝึกสอนฟุตบอล-ประชาชน” เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 18 ราย ที่จังหวัดพิจิตร
คปภ.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหาข้อพิพาทด้านประกันภัย
สำนักงาน คปภ. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เลขาธิการ คปภ. กดปุ่มเปิดระบบ E–Arbitration ให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว
เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังพนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ เร่งยกเครื่อง ปรับกระบวนทัศน์องค์กรใหม่พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2566
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาพนักงาน คปภ. ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจ มุ่งมั่น ก้าวล้ำ เที่ยงธรรม” ห