ผุดไอเดีย!!!สสส.ร่วมลงทุนม.รังสิต ปั้น"หลักหกโมเดล"ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอกสร้างผลกระทบโดยตรงกับคนไทยอย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง

โจทย์ปัญหานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีพันธกิจหลักคือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุน ให้คนไทยมีสุขภาพดี ดูเหมือนว่าจะเข้าถึง เข้าใจ และตระหนักรู้เป็นที่สุด เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตสงครามโรคการแพร่ระบาดไวรัส สสส.ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างเอาจริงเอาจัง โดยในปี 2563 มีเป็นโครงการย่อยเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต  สร้างเสริมสุขภาพในชุมชนและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 100 โครงการ ภายใต้หน่วยการจัดการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กลุ่มเกษตรในเมือง, กลุ่มชายแดนใต้, กลุ่มแรงงานในระบบ, กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มสร้างอาชีพและรายได้ (มหาวิทยาลัยรังสิต)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสร้างอาชีพและรายได้ (มหาวิทยาลัยรังสิต) มีการดำเนินการถึง 33 โครงการ เป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลดีสามารถนำไปต่อยอดในแต่ละชุมชนได้ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะอาชีพที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้กว่า 1,000 คน ทั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ สสส., มหาวิทยาลัยรังสิต และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี

เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อยืนยันว่า ความร่วมด้วยช่วยกัน และลงมือทำด้วยตัวเอง นับเป็นยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ สร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้น ทั้ง 3 องค์กรประสานพลังได้จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่สามย่านมิตรทาวน์ เปิดมิติใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาพและฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพชีวิต โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เปิดเผยว่า การทำงานในเชิงรุกในปี 2565 นี้ สสส.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต และ อบจ.ปทุมธานี พัฒนา “แผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี” โดย สสส.ร่วมทุนร้อยละ 70, มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมทุนร้อยละ 30 พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” เป็นหน่วยงานดูแลด้านงบประมาณและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งการร่วมทุนครั้งนี้ สสส.มุ่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกคนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยมีแนวทางพึ่งพาตัวเอง สามารถปรับตัวดำรงชีวิตในสภาวะวิกฤต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอื่นๆ  หรือกลุ่ม NGO ประสงค์ร่วมลงทุน ก็เสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอการสนับสนุนได้ ถือเป็นการร่วมลงทุนรูปแบบใหม่ด้วย

"ที่สำคัญคือ สร้างการขยายความร่วมมือและผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเพิ่มทรัพยากรทั้งทุนด้านงบประมาณ ทุนทางสังคม ทุนบุคลากรและองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยกระจายและเข้าถึงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในวงกว้างมากขึ้น"

ผู้จัดการ สสส.บอกด้วยว่า สสส.ร่วมกันทำงานเชิงรุกมากกว่า 20,000 องค์กรทั่วประเทศ ใช้ยุทธศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้สุขภาพดีไม่ได้อยู่ที่หมอ ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ วันนี้โครงการกว่า 2,000 โครงการส่งเสริมสุขภาพปกติทำไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงอยู่รอบตัว โดยเฉพาะทุกขภาวะจากโควิด-19 มีการปรับให้เยียวยาในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มต้นจากเศรษฐกิจฐานราก ทดลองให้มีการลงทุนร่วมกันทางด้านสุขภาพ 6 จังหวัด มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้รับการคัดเลือกทำกิจกรรม 33 โครงการ ถือเป็นโครงการที่ดีในจังหวัดปทุมธานี มีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยรังสิต อบจ.ปทุมธานี ผู้เชี่ยวชาญจาก สสส. ที่มีโครงการหมื่นโครงการให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เพื่อการขับเคลื่อนโครงการศูนย์พัฒนาหลักหก ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ม.รังสิตได้ทำการดัดแปลงพื้นดินว่างเปล่า 100 ไร่ที่ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่ทำประโยชน์ด้วยการปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ มิฉะนั้นเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีจากการปล่อยที่ดินรกร้างไม่ก่อประโยชน์ จากนั้นได้นำนักศึกษาเข้าไปช่วยชาวบ้านปลูกผัก เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน  โดยมีคนที่มีฐานะดีอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเมืองเอกเป็นลูกค้าอุดหนุนผักปลอดสารพิษ เท่ากับเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุนกัน ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีที่ดินเพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติการจริง เป็นงานจิตอาสาที่นักศึกษาไม่ได้เกรดแต่อย่างใด

“ผักตบชวาเป็นขยะ ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ ดัดแปลงเป็นพวงหรีด ดอกไม้จันทน์ นำมาผลิตเห็ดเป็นปุ๋ยชีวภาพ องค์ความรู้งานวิจัยขึ้นหิ้งนำมาใช้ร่วมมือกับ สสส.ช่วยเหลือชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้ สสส.เชิญ ม.รังสิตร่วมลงทุนเป็นเฟสระยะยาว เกิดเป็นโครงการยั่งยืน” ผศ.ดร.นเรฏฐ์กล่าว และเปิดเผยอีกว่า เมื่อไหร่ที่ทางราชการอนุญาตให้มีการปลูกกัญชา (ตามกฎหมายต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.เป็นต้นไป จึงจะปลูกกัญชาได้ถูกต้องตาม กม.) ก็ได้เตรียมที่ดินแปลงว่างใช้ปลูกกัญชาไว้แล้ว ขณะนี้ปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร บางโครงการชาวบ้านมีส่วนร่วม 1,000 คน บางโครงการ 30 คน บางโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขายสินค้าได้หมด แต่บางโครงการการทำเทียนหอมยังต้องมีการพัฒนา ที่ต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อขายได้ ทุกวันนี้กลุ่มชุมชนที่ทำเศรษฐกิจมีกลุ่มไลน์เพื่อขายผลผลิต  ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจาก ม.รังสิตเข้าไปช่วยเหลือให้ชุมชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

ความร่วมมือกับ สสส. พัฒนาแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี ได้แบ่งการบูรณาการกับทุกภาคส่วนออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 80 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 20, เฟสที่ 2 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 50 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 50 และเฟสที่ 3 จังหวัดปทุมธานีทั้งหมดที่มีผู้อาศัยมากถึง 1,176,412 คน เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ในฐานะเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมหลักหกโมเดลต้นแบบการพัฒนาจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า 40 ปีที่ผ่านมาหมู่บ้านเมืองเอกเป็นความภาคภูมิใจของชาวปทุม เมืองมหาวิทยาลัยรังสิต มีสนามกอล์ฟ 2 สนาม ปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่เสียหายมากต้องฟื้นฟูครั้งใหญ่ ช่วง 3 ปีหลังมีเรื่องโควิด พัฒนาต่อสู้จนพ้นโควิด ทั้งจังหวัดปทุมธานี ม.รังสิต สสส.ส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานกับ อบจ.ปทุมธานี ถึงวันนี้ปทุมธานีเป็น 1 ใน 8 จังหวัดใช้ชีวิตปกติ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวได้ ต่อไปจะพัฒนาคลองเปรมประชากร เป็นโครงการในพระราชดำริ ปลูกต้นพุทธรักษาเป็นต้นแบบ โครงการขุดลอกผักตบชวา แก้ไขปัญหาน้ำเสีย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการสร้างเสริมสุขภาวะ สามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สร้างสรรค์โอกาส”.

 

ผลงานนักศึกษาคณะนวัตกรรมเกษตร

"องค์ความรู้จากห้องเรียนสู่ภาคปฏิบัติ"

Eco Pot กระถางต้นไม้มินิมอลจากใยมะพร้าว ลดขยะพลาสติกด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ไมโครกรีนและเห็ดอินทรีย์ ชุดสะดวกปลูกไม้ดอก ชุดสะดวกปลูกผัก โครงการปลูกผักจิ๋วเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน “อยู่ตรงไหน สดใสตรงนั้น” เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ การเพาะเห็ดอินทรีย์เห็ดดีเพื่อสุขภาพ ต้นทุนต่ำ สู่ชุมชนริมคลองลัดรังสิต ด้วยการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่แปลงปลูกสาธิตเพื่อชุมชน ผลผลิตสดใหม่ ปลอดภัยจากสารตกค้างและดีต่อสุขภาพ เป็นผลงานที่นักศึกษาคณะนวัตกรรมเกษตรใช้องค์ความรู้จากการเรียนและลงมือปฏิบัติจริง  กลายเป็นผลงานภายในชุมชน เพิ่มพูนรายได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤตโควิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

โพลผู้นำฯ ม.รังสิต เปิดผลสำรวจ ภาวะผู้นำด้านต่างๆ ของนักการเมืองไทย

Leadership Poll ครั้งที่ 2/2567 วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม โดยโพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน