เปิดโปงความจริง‘บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม’

วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศคำขวัญ “ บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ” สอดรับกับองค์การอนามัยโลกรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2565  “ ยาสูบ : ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม “   เน้นเปิดโปงความจริงพิษภัยของยาสูบ นอกจากบั่นทอนสุขภาพแล้ว ตลอดวงจรชีวิตยาสูบเริ่มตั้งแต่การปลูก การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และก้นบุหรี่ขยะพลาสติกจากการสูบบุหรี่ สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม เป็นอีกเหตุผลเร่งสร้างความตระหนักให้กับประชาชน นำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่และเพิ่มมาตรการควบคุมการผลิตยาสูบ 

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีหลักฐานจากการศึกษาและวิจัยได้เสนอในเวทีสัมมนาภาคีเครือข่ายและแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565 ในรูปแบบ Hybrid  เมื่อวันก่อน จัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย     

พญ.โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ขับเคลื่อนประเด็นบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การทำไร่ยาสูบ มีการตัดป่า ใช้ยาฆ่าแมลง  ทำให้ดินแห้งแล้ง บุหรี่ก่อมลพิษอากาศ การผลิต การขาย การสูบ สร้างความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณการความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD

“ แวดวงอุตสาหกรรมยาสูบโฆษณากระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงเป็นการฟอกเขียว เพราะทุกขั้นตอนสร้างผลกระทบ ภาคนโยบายต้องผลักดันหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต  หรือ   EPR บังคับใช้กับธุรกิจยาสูบ ใช้มาตรการภาษีเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ควบคู่ขับเคลื่อนลดอุปสงค์อุปทานยาสูบ ส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนยาสูบ เพื่อสุขภาพตนเองและรักษาสภาวะแวดล้อม  รวมถึงมีมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จะส่งผลดีทุกมิติ “ พญ.โอลิเวีย เน้นย้ำ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดยาสูบเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายข้อมูลให้เห็นชัดๆ ว่า  ยาสูบทำให้เกิดการตัดไม้แผ้วถางป่าพื้นที่ 1.25 ล้านไร่ ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม รวมถึงการฟื้นฟูคุณภาพดินหลังทำไร่ยาสูบมีค่าใช้จ่ายสูง ยาสูบผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ ขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเลแสนตัวตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี  รวมถึงยาสูบแบบไร้ควันเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

“ จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะ พบว่า ร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ ก้นบุหรี่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้นๆ ที่พบในแหล่งน้ำ ก้นบุหรี่ถูกทิ้งทั่วโลก 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี และขยะก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในไทย    “

รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวนต้องใช้น้ำ 3.7 ลิตร หากเลิกสูบบุหรี่จะประหยัดน้ำได้ถึง 74 ลิตรต่อวัน การผลิตยาสูบปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตันต่อปี ควันบุหรี่มีส่วนทำให้ระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์   

ไร่ยาสูบที่อาบด้วยสารเคมี เป็นภัยคุกคามสุขภาพเกษตรกรไร่ยาสูบ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เผยพบระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมและสารหนูในเลือดสูงขึ้นจากการสัมผัสยากำจัดศัตรูพืชสะสม กระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งความพิการแต่กำเนิด เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงและร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ระบบประสาท และต่อมไร้ท่อ   ส่วนแรงงานเด็กในไร่ยาสูบเป็นกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงพิเศษเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 เพิ่มขึ้น เพราะจากน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับสัดส่วนของนิโคตินที่ดูดซึมผ่านผิวหนังจากการสัมผัสกับใบยาสูบ จนถึงการผันตัวเองเป็นผู้สูบด้วย  ส่วนสตรีเสี่ยงสูงขึ้นของภาวการณ์มีบุตรยากและปัญหาการเจริญพันธุ์

เวทีสัมมนาภาคีเครือข่ายเปิดโปงความจริงบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในไทยมีก้นบุหรี่ผลิตขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น กลายเป็นขยะไปตกอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะชายหาด จัดเป็นขยะหมายเลขหนึ่ง  ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกฉีกมารณรงค์สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่  และหลายหน่วยงานให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด ในต่างประเทศห้ามสูบบุหรี่ในชายหาดมานานแล้ว  อย่างสหรัฐร้อยละ 50 ของชายหาดทั่วประเทศปลอดบุหรี่ แคลิฟอร์เนียมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดชัดเจน ส่วนสเปนกรกฎาคมนี้ทุกชายหาดห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนปรับ 5 หมื่นบาท การรณรงค์จะจุดประกายให้ทุกฝ่ายหันมาทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดบุหรี่เพื่อมีโอกาสเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วยของไทย

ด้านภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนชายหาดปลอดบุหรี่นำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย เช่น หาดบางแสน หาดป่าตอง หาดหัวหิน  นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีทช.   กล่าวว่า  จากการสำรวจชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น นำมาสู่โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ เอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่  มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ ขยะจากก้นกรองบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง ทำให้น้ำทะเลและน้ำสะอาดมีพิษ ทั้งยังเป็นพิษต่อจุลินทรีย์และสัตว์ทะเลขนาดเล็ก สัตว์ใหญ่กินก้นบุหรี่จนเกิดอุดตันทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ก้นกรองบุหรี่ยังมีพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 12 ปี ทช. จะขยายผลชายหาดปลอดบุหรี่ไปยังทุกชายหาดต่อไป ” นายอภิชัย  กล่าว 

บุหรี่ก่อมลพิษฝุ่น PM2.5 เป็นอีกประเด็นร้อน  รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ  คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เปิดผลวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่งที่มีชื่อเสียงของไทย ในปี 2558 โดยตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน บริเวณพักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ พบปริมาณฝุ่นPM2.5มีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)  และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สูงกว่ามาตรฐานกำหนด 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ถึง 27 เท่า คุณภาพอากาศไม่เหมาะสมกับการมาพักผ่อน เห็นด้วยกับ กม.ห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด นอกจากควันบุหรี่มือสอง มือสามเป็นมลพิษแล้ว ตัวก้นบุหรี่ที่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะและตัวก้นกรองที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติกเป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทีมวิจัยศึกษาก้นบุหรี่บริเวณชายหาด ได้ทุนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับนักวิจัยจากสหรัฐ และญี่ปุ่น จะรายงานผลศึกษาโอกาสต่อไป

สำหรับภาคีเครือข่ายที่ต้องการร่วมรณรงค์ หรือขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สามารถรายละเอียดเพื่อขอรับสื่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th  หรือติดต่อที่หมายเลข 0-2278-1828 ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ให้เกิดขึ้นทั่วไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง