หมอประกิต วาทีสาธกกิจ แม่ทัพใหญ่รณรงค์..เลิกบุหรี่ ในวันคว้ารางวัลองค์การอนามัยโลก

“พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงงานเป็นแบบอย่างของผมในการทำงาน พระองค์เคยรับสั่งสนับสนุนให้คนเลิกบุหรี่ เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ผมทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่”

ความในใจจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในวันแห่งความภาคภูมิใจ เมื่อได้รับรางวัล Dr.LEE Jong-Wook Memorial Prize for Public Health 2022 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เป็นผู้นำโล่รางวัลมามอบให้ ที่อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) เมื่อวันที่ 9มิ.ย.2565

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคทรวงอก ซึ่งประกาศปณิธานในฐานะหมอว่า “เราต้องทำให้คนเลิกบุหรี่” ตั้งแต่ปี 2519 จากนั้นก็ได้เดินหน้ารณรงค์ให้สังคมไทยละเลิกบุหรี่มาโดยตลอดอย่างจริงจัง ด้วยกลยุทธ์การใช้สื่อเป็นเครือข่ายพันธมิตร เริ่มจากออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ตอบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ

เส้นทางของการต่อสู้

ตลอดระยะเวลา 36 ปี หรือเกือบ 4 ทศวรรษ คุณหมอประกิตได้สร้างพันธมิตรเป็นจำนวนมากมาย รวมทั้งผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ “ศัตรูของผมคือบริษัทบุหรี่และเครือข่าย ที่เหลือล้วนเป็นมิตรของผมทั้งหมด แม้แต่ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนที่สูบบุหรี่ ผมขอให้เขียนการ์ตูนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่  เราไม่ได้ต่อต้านคนสูบบุหรี่ แต่เราแอนตี้บุหรี่ เราเชิญชวนคนที่รักสุขภาพเข้ามาเป็นแนวร่วมมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ศ.นพ.ประกิตกล่าว และยังย้อนวันวานการต่อสู้ที่ยาวนานว่า ...

ก่อนปี 2519 ผมเป็นหมอโรคปอด ใช้ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนออกทีวีในปี 2520 ในนามแพทยสมาคมฯ เพื่อผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งมีผลในปี 2523 ขณะนั้น WHO รณรงค์โครงการไม่สูบบุหรี่ Cigarette the Choice is your ผมเป็นตัวแทนสมาคมอุรเวชช์ฯ เสนอขอให้เปลี่ยนคำเตือนเล็กๆ ข้างซองบุหรี่ว่า บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่โรงงานยาสูบขอเติมคำว่า "อาจจะ" 

ปี 2529 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยที่ท่านเป็นคณบดีแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี เป็นกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ได้จัดตั้งคณะทำงานและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบุคลากร มีคุณบังอร ฤทธิ์ภักดี เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ ด้านพัฒนาชุมชน จุฬาฯ  เป็นแม่งานสนับสนุนให้ผมทำงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมพูดให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ

"สมัยนั้นผู้ชาย 2 ใน 3 สูบบุหรี่ ถ้ารวมผู้หญิงและผู้ชาย 1 ใน 3 สูบบุหรี่ หรือ 32% ผมเป็นอาสาสมัครตั้งคณะกรรมการ เราตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานระยะยาว เราช่วยกันทำสไลด์เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน WHO สนับสนุนควบคุมยาสูบ เราช่วยกันสร้างเครือข่าย”

ตลอดเวลาที่ทำงานโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน เป็นงานที่ท้าทายและประสบความสำเร็จ ผมบรรยายความรู้ให้นักศึกษาแพทย์ปี 4 ปี 5 ว่าย้อนไปเมื่อปี 2520-2521 คนสูบบุหรี่ในโรงพยาบาลเขาทำหน้าเหลอหลา เพราะยุคของเขาไม่เห็นภาพคนสูบบุหรี่ในโรงพยาบาล ค่านิยมของการสูบบุหรี่เปลี่ยนไปเยอะมาก จากเดิมที่มีคนสูบบุหรี่ในปี 2534 จำนวน 32% ปี 2535 มี กม.ควบคุมยาสูบ ขณะนั้นมีประชากร 38 ล้านคน คนสูบบุหรี่จำนวน 12.2 ล้านคน ปี 2564 คนสูบบุหรี่ลดจำนวนลง 17.4% เป็นผลงานที่คำนวณเป็นมูลค่าไม่ได้ มีคนสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน จากจำนวนประชากร 57 ล้านคน ถ้าเราไม่รณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง เราจะมีจำนวนคนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

บ้านเราคำเตือนบนซองบุหรี่เท่ากับมาตรฐานโลก ก่อนที่จะมีการรณรงค์เลิกบุหรี่ เฉลี่ยคนสูบบุหรี่ 13-14 มวน/วัน เป็น 10 มวน/วัน คนสูบบุหรี่มีอายุสูงขึ้น เมื่อสำรวจในโรงพยาบาล หอผู้ป่วยชาย 32 เตียง 2 แถวแรกเป็นโรคถุงลมโป่งพอง คนป่วยวัย 35 ปี-45 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เสียชีวิตเร็วเพราะโรคหัวใจและถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดไหลย้อน คนที่ติดบุหรี่แล้วติดโควิดโอกาสเสี่ยงตายสูง คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดบุหรี่สูงขึ้นถึง 5-7 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ภูมิต้านทานปอดลดลง เรายังมีปัญหาควบคุมบุหรี่เถื่อน ซึ่งกระทรวงการคลังบอกว่าไม่มีอัตรากำลังเพียงพอ

พิษภัยบุหรี่...ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

คนที่สูบบุหรี่เมื่อเจ็บป่วยย่อมเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างมโหฬาร ยังไม่มีนักวิชาการประเมินผลออกมา เป็นเรื่องที่ สสส.ลงทุน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนน้อย แต่ได้ผลคุ้มค่าอย่างมหาศาล “ผมเห็นคนป่วยจากการสูบบุหรี่ ทั้งๆ ที่ป่วยแต่เลิกบุหรี่ไม่ได้ ครอบครัวต้องเดือดร้อน คนสูบบุหรี่ที่ยังไม่ป่วย 60% อยากเลิกบุหรี่ 1 ใน 3 เริ่มต้นลงมือเลิกบุหรี่ คนทำงานรณรงค์ให้เลิกบุหรี่มีจุดเดือดต่ำที่ไม่สามารถอดทนต่อความไม่ชอบธรรม ในจำนวนคนที่สูบบุหรี่ปี 2564 จำนวน 2 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 6,000 บาท สูบบุหรี่เดือนละ 700 บาท และยังดื่มเหล้าด้วย ครอบครัวย่อมเดือดร้อนแน่นอน เหลือเงินเพื่อการศึกษาของลูกเพียง 20 บาท

ประชากรวัยสูบบุหรี่อายุ 15 ปีขึ้นไป คนที่ได้รับพิษภัยจากบุหรี่ 8 ล้านคน ครอบครัวของกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ได้รับพิษภัยจากควันบุหรี่มือ 2 เพราะสูบบุหรี่ในบ้าน อุปสรรคสำคัญในการควบคุมยาสูบ ไม่ให้มีการเติมเมนทอลในบุหรี่ทำได้ยากมาก เพราะบริษัทผู้ผลิตบุหรี่บล็อกอยู่ ถ้ารัฐบาลขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง ไม่เห็นว่าการควบคุมยาสูบเป็นสิ่งสำคัญ การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนรวมถึงรัฐบาลต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งกระทรวงการคลัง

สสส.ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทเพื่อรณรงค์พิษภัยของเหล้าและบุหรี่ สหรัฐฯ ใช้เงิน 8 หมื่นล้านบาทในการรณรงค์ อังกฤษใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งยังตั้งเป้าหมายสังคมปลอดบุหรี่ภายในปี 2030 ทั้งยังเพิ่มงบประมาณอีก 700 ล้านปอนด์เพื่อออก กม.บังคับบริษัทบุหรี่จะต้องเป็นผู้จ่ายเงินก้อนนี้ ทุกวันนี้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในประเทศอังกฤษมีกำไรถึง 900 ล้านปอนด์ เงินก้อนนี้นำมารักษาคนให้เลิกบุหรี่ได้

คุณหมอเล่าว่า “เรื่องบุหรี่ถูกกฎหมายเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่บุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากถึง 70 ตัวแต่ขายได้ ในขณะที่สินค้าอื่นถ้ามีสารก่อมะเร็งเพียงตัวเดียวก็ขายไม่ได้แล้ว เมืองไทยขายบุหรี่กันมาร้อยกว่าปีมาแล้ว ปี 1880 มีเครื่องจักรผลิตออกมาได้จำนวนมาก ต้องทำการตลาด ปี 1964 ประกาศว่าการสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ ฯลฯ รัฐบาลจะคุมไม่ได้ ในสหรัฐฯ มีคนสูบบุหรี่มากถึง 50 ล้านคน อุตสาหกรรมบุหรี่ในสหรัฐฯ  เข้มแข็งมาก ไม่มีคำเตือนเป็นรูปภาพแต่อย่างใด แต่การสูบบุหรี่ลดลงเพราะการเก็บภาษีบุหรี่สูงขึ้น ส่งผลให้คนสูบบุหรี่ลดลงได้ ในขณะที่คนทั่วโลกสูบบุหรี่มากถึง 800 ล้านคน”

ผู้นำและรัฐบาล..กุญแจสู่ความสำเร็จ

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่สรุปจากประสบการณ์การทำงานเพื่อรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ว่า อุปสรรคสำคัญหนึ่งก็คือรัฐบาลเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ ในอนาคตจะเห็นได้ว่ายาสูบในประเทศสู้การตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่จากต่างประเทศไม่ได้ ทุกวันนี้โรงงานยาสูบของรัฐเหลือเพียงกว่า 10ประเทศเท่านั้น แข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ข้ามชาติไม่ได้ “บริษัทบุหรี่ข้ามชาติกินส่วนแบ่งการตลาดทั่วทั้งโลก บริษัทข้ามชาติรายหนึ่งขายบุหรี่มีกำไรทั่วโลกถึง 3 แสนล้านบาท เฉพาะกำไรในประเทศไทยสูงถึง 5 พันล้านบาท เมื่อดูสัดส่วนการทำกำไร ไม่มีธุรกิจถูกกฎหมายที่สร้างกำไรได้ดีเท่ากับบริษัทบุหรี่”

อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกปี 2547 กม.เกี่ยวกับสุขภาพระดับประเทศทั่วโลกเล็งเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากสารพิษในบุหรี่เป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้บทบาทแทรกแซงนโยบายสาธารณะ นำเสนอให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงพิษภัยจากบุหรี่ รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ในการเข้าถึงวัยรุ่นที่ยังไม่สูบบุหรี่ เพื่อสร้างนักสูบหน้าใหม่ทดแทนคนที่สูบบุหรี่และตายไปแล้ว เมืองไทยยังทำได้ไม่ทั่วถึง เพราะการขายบุหรี่เป็นการขายของที่ถูก กม. ในขณะที่มีกลุ่มผลประโยชน์คอยขัดขวางมาตรการที่จะช่วยชีวิตคนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะการขอแก้ไขข้อ กม.ไม่ให้มีส่วนผสมของเมนทอลยังทำได้ไม่สำเร็จ เพื่อทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น เพราะเนื้อแท้ของยาสูบมีกลิ่นเหม็นฉุน ทำให้ระคายเคือง

“องค์ความรู้ที่จะทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลงยังทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ นักการเมืองต้องเข้ามาช่วย การจะพิชิตแก้ไขอุปสรรคได้นั้นอยู่ที่ดวง ถ้าเจอรัฐบาล นายกรัฐมนตรีดีๆ เข้าใจปัญหาอย่างนายกฯ ตู่พูดทุกครั้ง มีคำสั่งไม่ให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าผิดกฎหมาย เรื่องก็จบลงได้"

ศ.นพ.ประกิตกล่าวปิดท้ายว่า "ผมยังประทับใจในเหตุการณ์เมื่อปี 2545 กษัตริย์บรูไนเชิญไปในการจัดประชุมบุหรี่นานาชาติ กษัตริย์บรูไนทรงกล่าวเปิดงาน รับสั่งว่าบุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพ เราจะเลือกยาสูบเพื่อเศรษฐกิจหรือเลือกสุขภาพมาก่อน เรื่องเศรษฐกิจมีทางเลือกหลายเส้นทาง แต่เรื่องสุขภาพนั้นไม่มีทางเลือกมากนัก นักการเมืองต้องมีมุมมองเหล่านี้ด้วย"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง