มหกรรม“เด็กพิการเรียนไหนดี" สร้างสุขภาวะปั้นฝันศึกษาเสมอภาค

“คนพิการอยู่ร่วมกับคนปกติได้”

“คนพิการต้องไม่ดูถูกตัวเอง เราห้ามความคิดคนอื่นที่คิดไม่ดีไม่ได้ แม้เราจะมีข้อจำกัดทางร่างกาย แต่ให้ทดลองทำดูก่อน ปรับตัวแล้วเรียนรู้ให้ได้” 

“ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอโอกาสจากสังคม แต่ให้รู้จักตัวเองว่าเราถนัดทำอะไรแล้วลงมือทำ”  “คนพิการทำงานเป็นการเปิดโลกให้กับตัวเอง”

               .....................................

คำกล่าวข้างต้นเป็นการสื่อสารให้กำลังใจกันและกันมาอย่างสม่ำเสมอในโลกของเด็กพิการ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง การลงมือทำ การดำเนินการในภาคปฏิบัติ เพื่อปั้นฝัน และสานความหวังให้บรรลุเป้าหมายนั้น เป็นพันธกิจที่ทุกฝ่ายในสังคมจำเป็นต้องใส่ใจ ให้ความร่วมมือขับเคลื่อน ผลักดัน ช่วยเหลืออย่างจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมานั้น คนพิการมักเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ และหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน เนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีสถานะยากจน การเดินทางมาเรียนต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าคนปกติ มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต นั่งรถแท็กซี่มาเรียน อีกทั้งสถานที่เรียน ห้องน้ำ ก็ต้องเอื้ออำนวยที่จะพึ่งพาตัวเองได้  และเรายังพบว่ามีคนพิการเพียง 1.37% ที่ได้เข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" 

ข้อมูลเชิงประจักษ์จาก นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ  แห่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)  ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า จากสถิติทุกปีคนพิการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ในขณะที่คนพิการที่มีโอกาสศึกษาระดับอุดมศึกษาเมื่อเรียนจบแล้ว ก็อยากขอโอกาสขอความร่วมมือสถานประกอบการ เปิดรับนักศึกษาพิการให้มีโอกาสได้ทำงานด้วย

เพราะเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และการสร้างสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจของทุกคนในสังคมไทย เป็นภารกิจและพันธสัญญาตามเจตนารมณ์และปรัชญาของ สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ สสส.จึงได้ร่วมกับมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม และ เทใจ ดอต คอม ..Taejai.com จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66” ที่รอยัลพารากอนฮอลล์  ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดงาน มีการจัดกิจกรรม Workshop วิชา 3 ปั้น วิชาปั้นฝันเป็นตัว ปั้นพอร์ต ปั้นคำ ชมบูธจากสถาบันการศึกษา และบูธเครือข่ายคนพิการ กิจกรรมบนเวทีรุ่นพี่มาแชร์ประสบการณ์ชีวิตการค้นหาตัวเอง การเรียน การทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทุกกิจกรรมมีล่ามภาษามือที่เรียนจบจากหน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล เพื่อทำความเข้าใจ

"สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือ 'การศึกษา' เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เหมือนทุกคนในสังคม จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการเด็กพิการเรียนไหนดี ตั้งแต่ปี 2560  ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 500 คน ในงานได้สร้างกิจกรรมแนะแนวการศึกษา มีที่ปรึกษาช่วยบ่มเพาะศักยภาพของเด็กพิการ ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับพรสวรรค์และพรแสวงของตัวเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกในการก้าวสู่การมีอาชีพ รายได้ และสุขภาวะที่ดี จนเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นได้" นางภรณีกล่าว

ที่ผ่านมา สสส.เน้นการสร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางและการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันพรรณนา และแอปพลิเคชันโวหาร ให้คนพิการทางการมองเห็นได้ดูภาพยนตร์ได้เหมือนคนทั่วไป, พัฒนานวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35  ที่ทำให้คนพิการมีอาชีพกว่า 7,000 อัตรา 20,000  โอกาสงาน, พัฒนาระบบ Health Tracking เก็บข้อมูลสุขภาพ และการออมเงินของคนพิการที่ได้รับการจ้างงาน เพื่อเป็นต้นทุนที่ดีในการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณอีกด้วย

"ส่วนใหญ่นักศึกษาพิการจะเลือกเรียนคณะต่างๆ ที่รุ่นพี่ได้เรียนจบ มีตำราอักษรเบรลล์และประกอบอาชีพ  อาทิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'โครงการเด็กพิการเรียนไหนดี' เรียกอีกอย่างว่า 'ชุมชนนักเรียนพิการ' แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมนี้เป็นห้องเรียนสำหรับนักศึกษาพิการและไม่พิการ ที่ต้องการพัฒนาทักษะของตัวเองให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ และเป็นแหล่งรวบรวมการสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดรับคนพิการให้ได้เข้าศึกษาต่อ อยากให้น้องๆ เปิดใจ เปิดโอกาสให้ตัวเอง ปั้นฝันให้เป็นจริงตามที่ตั้งใจ และขอเชิญชวนให้ทุกคนมารู้จักโครงการนี้ เพื่อจุดประกายให้เกิดสังคมแห่งความสุขและสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน” นางภรณี กล่าว

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มุ่งเน้นทำงานร่วมกันหลายกระทรวง เพื่อแบ่งปันข้อมูลด้านต่างๆ ของคนพิการทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและดูแลได้ทั่วถึง มีเป้าหมายทำให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ เข้าถึงการศึกษา และมีงานที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันกระทรวงได้ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการเรียนเพื่อคนพิการในรูปแบบเครดิตแบงก์ คือ คนพิการสามารถสะสมหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนรู้ได้ จนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี จากเดิมที่ต้องเรียนให้จบ 4 หรือ 6 ปี ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว เพราะต้องการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดชีพ  และเรียนรู้ในสิ่งที่ถนัดและเหมาะสม

“ขอบคุณมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม, สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., รอยัล พารากอน ฮอลล์, เทใจ ดอต คอม, สถาบันการศึกษาทุกสถาบัน, ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และน้องๆ นักเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครทุกคนที่มีส่วนระดมความคิด เสนอแนวทางเพื่อยกระดับชีวิตของคนพิการได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในงานนี้ ที่จัดงานขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่ออยากเห็นสังคมที่คนพิการ สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เท่าเทียมกับคนไม่พิการ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” ดร.ดนุชกล่าว

นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม กล่าวว่า สสส.สนับสนุนงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับคนพิการ “เด็กพิการเรียนไหนดี” เข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อให้โอกาสคนพิการได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปีนี้ยังร่วมกับพันธมิตรอย่าง รอยัล พารากอน ฮอลล์ (Royal Paragon  Hall) และเทใจ ดอต คอม - Taejai.com รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาอีกเกือบ 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนพิการที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

ภายในงานจัด Workshop ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ กิจกรรมปั้นฝัน, การค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่, ปั้นพอร์ต, แนะแนวการทำแฟ้มสะสมผลงาน, ปั้นคำ, เทคนิคการเตรียมตัวสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อ และปีนี้มีความพิเศษเพิ่มเข้ามาคือ วงดนตรี Happy Unlimit เป็นการรวมตัวของคนพิการและคนไม่พิการที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี รวมถึงมีรุ่นพี่คนพิการจากหลากหลายสาขาอาชีพและที่กำลังศึกษา  มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ ที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้มีความมั่นใจมากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี”

อนึ่ง นักศึกษาพิการสามารถเลือกช่องทางพิเศษสอบตรงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือช่องทางปกติด้วยการสอบเข้าพร้อมกับเด็กปกติได้ ขณะนี้มหาวิทยาลัย 20 แห่งเปิดรับสมัครรอบแรกทางออนไลน์ตั้งแต่บัดนี้ และยังมีรอบสองที่จะประกาศให้ทราบอีก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปีนี้พร้อมรับสมัครเด็กพิการทางความเคลื่อนไหว สายตา หู   พฤติกรรมทางด้านจิตใจจำนวน 66 คน ขณะนี้มีนักศึกษาพิการเรียนอยู่ 26 คน บัณฑิตพิการ 21 คน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU Happy Place Center พร้อมรับนักศึกษาพิการจำนวน 60 คน มทร.ธัญบุรีพร้อมรับสมัครเด็กพิการ 23 คน จากนักศึกษาจำนวน 2.4 หมื่นคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี