มหกรรม“เด็กพิการเรียนไหนดี" สร้างสุขภาวะปั้นฝันศึกษาเสมอภาค

“คนพิการอยู่ร่วมกับคนปกติได้”

“คนพิการต้องไม่ดูถูกตัวเอง เราห้ามความคิดคนอื่นที่คิดไม่ดีไม่ได้ แม้เราจะมีข้อจำกัดทางร่างกาย แต่ให้ทดลองทำดูก่อน ปรับตัวแล้วเรียนรู้ให้ได้” 

“ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอโอกาสจากสังคม แต่ให้รู้จักตัวเองว่าเราถนัดทำอะไรแล้วลงมือทำ”  “คนพิการทำงานเป็นการเปิดโลกให้กับตัวเอง”

               .....................................

คำกล่าวข้างต้นเป็นการสื่อสารให้กำลังใจกันและกันมาอย่างสม่ำเสมอในโลกของเด็กพิการ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง การลงมือทำ การดำเนินการในภาคปฏิบัติ เพื่อปั้นฝัน และสานความหวังให้บรรลุเป้าหมายนั้น เป็นพันธกิจที่ทุกฝ่ายในสังคมจำเป็นต้องใส่ใจ ให้ความร่วมมือขับเคลื่อน ผลักดัน ช่วยเหลืออย่างจริงใจ จริงจัง และต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมานั้น คนพิการมักเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ และหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน เนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีสถานะยากจน การเดินทางมาเรียนต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าคนปกติ มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต นั่งรถแท็กซี่มาเรียน อีกทั้งสถานที่เรียน ห้องน้ำ ก็ต้องเอื้ออำนวยที่จะพึ่งพาตัวเองได้  และเรายังพบว่ามีคนพิการเพียง 1.37% ที่ได้เข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" 

ข้อมูลเชิงประจักษ์จาก นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ  แห่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)  ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า จากสถิติทุกปีคนพิการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ในขณะที่คนพิการที่มีโอกาสศึกษาระดับอุดมศึกษาเมื่อเรียนจบแล้ว ก็อยากขอโอกาสขอความร่วมมือสถานประกอบการ เปิดรับนักศึกษาพิการให้มีโอกาสได้ทำงานด้วย

เพราะเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และการสร้างสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจของทุกคนในสังคมไทย เป็นภารกิจและพันธสัญญาตามเจตนารมณ์และปรัชญาของ สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ สสส.จึงได้ร่วมกับมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม และ เทใจ ดอต คอม ..Taejai.com จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66” ที่รอยัลพารากอนฮอลล์  ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดงาน มีการจัดกิจกรรม Workshop วิชา 3 ปั้น วิชาปั้นฝันเป็นตัว ปั้นพอร์ต ปั้นคำ ชมบูธจากสถาบันการศึกษา และบูธเครือข่ายคนพิการ กิจกรรมบนเวทีรุ่นพี่มาแชร์ประสบการณ์ชีวิตการค้นหาตัวเอง การเรียน การทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทุกกิจกรรมมีล่ามภาษามือที่เรียนจบจากหน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล เพื่อทำความเข้าใจ

"สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการทุกมิติ หนึ่งในนั้นคือ 'การศึกษา' เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เหมือนทุกคนในสังคม จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการเด็กพิการเรียนไหนดี ตั้งแต่ปี 2560  ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 500 คน ในงานได้สร้างกิจกรรมแนะแนวการศึกษา มีที่ปรึกษาช่วยบ่มเพาะศักยภาพของเด็กพิการ ให้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับพรสวรรค์และพรแสวงของตัวเอง เพื่อเป็นประตูด่านแรกในการก้าวสู่การมีอาชีพ รายได้ และสุขภาวะที่ดี จนเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นได้" นางภรณีกล่าว

ที่ผ่านมา สสส.เน้นการสร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางและการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น เช่น พัฒนาแอปพลิเคชันพรรณนา และแอปพลิเคชันโวหาร ให้คนพิการทางการมองเห็นได้ดูภาพยนตร์ได้เหมือนคนทั่วไป, พัฒนานวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35  ที่ทำให้คนพิการมีอาชีพกว่า 7,000 อัตรา 20,000  โอกาสงาน, พัฒนาระบบ Health Tracking เก็บข้อมูลสุขภาพ และการออมเงินของคนพิการที่ได้รับการจ้างงาน เพื่อเป็นต้นทุนที่ดีในการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณอีกด้วย

"ส่วนใหญ่นักศึกษาพิการจะเลือกเรียนคณะต่างๆ ที่รุ่นพี่ได้เรียนจบ มีตำราอักษรเบรลล์และประกอบอาชีพ  อาทิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'โครงการเด็กพิการเรียนไหนดี' เรียกอีกอย่างว่า 'ชุมชนนักเรียนพิการ' แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมนี้เป็นห้องเรียนสำหรับนักศึกษาพิการและไม่พิการ ที่ต้องการพัฒนาทักษะของตัวเองให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ และเป็นแหล่งรวบรวมการสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดรับคนพิการให้ได้เข้าศึกษาต่อ อยากให้น้องๆ เปิดใจ เปิดโอกาสให้ตัวเอง ปั้นฝันให้เป็นจริงตามที่ตั้งใจ และขอเชิญชวนให้ทุกคนมารู้จักโครงการนี้ เพื่อจุดประกายให้เกิดสังคมแห่งความสุขและสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน” นางภรณี กล่าว

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มุ่งเน้นทำงานร่วมกันหลายกระทรวง เพื่อแบ่งปันข้อมูลด้านต่างๆ ของคนพิการทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและดูแลได้ทั่วถึง มีเป้าหมายทำให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ เข้าถึงการศึกษา และมีงานที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละบุคคล ปัจจุบันกระทรวงได้ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการเรียนเพื่อคนพิการในรูปแบบเครดิตแบงก์ คือ คนพิการสามารถสะสมหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนรู้ได้ จนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี จากเดิมที่ต้องเรียนให้จบ 4 หรือ 6 ปี ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว เพราะต้องการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดชีพ  และเรียนรู้ในสิ่งที่ถนัดและเหมาะสม

“ขอบคุณมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม, สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., รอยัล พารากอน ฮอลล์, เทใจ ดอต คอม, สถาบันการศึกษาทุกสถาบัน, ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และน้องๆ นักเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครทุกคนที่มีส่วนระดมความคิด เสนอแนวทางเพื่อยกระดับชีวิตของคนพิการได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในงานนี้ ที่จัดงานขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่ออยากเห็นสังคมที่คนพิการ สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เท่าเทียมกับคนไม่พิการ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” ดร.ดนุชกล่าว

นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม กล่าวว่า สสส.สนับสนุนงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับคนพิการ “เด็กพิการเรียนไหนดี” เข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อให้โอกาสคนพิการได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปีนี้ยังร่วมกับพันธมิตรอย่าง รอยัล พารากอน ฮอลล์ (Royal Paragon  Hall) และเทใจ ดอต คอม - Taejai.com รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาอีกเกือบ 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนพิการที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

ภายในงานจัด Workshop ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ กิจกรรมปั้นฝัน, การค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่, ปั้นพอร์ต, แนะแนวการทำแฟ้มสะสมผลงาน, ปั้นคำ, เทคนิคการเตรียมตัวสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อ และปีนี้มีความพิเศษเพิ่มเข้ามาคือ วงดนตรี Happy Unlimit เป็นการรวมตัวของคนพิการและคนไม่พิการที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี รวมถึงมีรุ่นพี่คนพิการจากหลากหลายสาขาอาชีพและที่กำลังศึกษา  มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ ที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้มีความมั่นใจมากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี”

อนึ่ง นักศึกษาพิการสามารถเลือกช่องทางพิเศษสอบตรงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือช่องทางปกติด้วยการสอบเข้าพร้อมกับเด็กปกติได้ ขณะนี้มหาวิทยาลัย 20 แห่งเปิดรับสมัครรอบแรกทางออนไลน์ตั้งแต่บัดนี้ และยังมีรอบสองที่จะประกาศให้ทราบอีก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปีนี้พร้อมรับสมัครเด็กพิการทางความเคลื่อนไหว สายตา หู   พฤติกรรมทางด้านจิตใจจำนวน 66 คน ขณะนี้มีนักศึกษาพิการเรียนอยู่ 26 คน บัณฑิตพิการ 21 คน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU Happy Place Center พร้อมรับนักศึกษาพิการจำนวน 60 คน มทร.ธัญบุรีพร้อมรับสมัครเด็กพิการ 23 คน จากนักศึกษาจำนวน 2.4 หมื่นคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครื่องฆ่าเชื้อโรค-กลิ่นอับหมวกกันน็อก นวัตกรรมสุขภาพขับเคลื่อนสู่การใช้จริง

เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร ของทีมเยาวชนจากวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ เปลี่ยนสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance)

ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย

สสส. สานพลังเทศบาลเมืองน่าน UDC ม.แม้โจ้ หนุน 'จ.น่าน' เป็นจังหวัดแรก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย 'เมืองสุขภาพดี' หรือ blue zone ของกระทรวงสาธารณสุข ชู 'ชุมชนน้ำล้อม เทศบาลเมืองน่าน' ต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรเพื่อผู้สูงอายุและทุกคน จัดทีมช่างชุมชนออกแบบ ปรับปรุงบ้านคนสูงอายุ คนพิการ ที่อยู่เพียงลำพัง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบและปรับปรุงบ้านพักของผู้สูงอายุตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและทุกคน

'หมอชลน่าน' ยกระดับน่าน Kick off เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ด้าน สสส. เดินหน้าผลักดัน 'น่านโมเดล' 1 ใน 10 เมืองต้นแบบสุขภาพ ที่มีอารยสถาปัตย์ สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับ ผู้สูงวัย คนพิการ ตามแนวคิด Universal Design : UD

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน ทัวร์อารยสถาปัตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดน่าน “เปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน” พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล