ศิลปะสร้างสรรค์...ถุงยางอนามัย สะกิดคนรุ่นใหม่ใส่ใจป้องกันเอดส์

สำหรับประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ปี พ.ศ.2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา โดยจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ คนต่อปี ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน ๔,๐๐๐ รายต่อปี และลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10

ด้วยตระหนักถึงประเด็นสุขภาวะดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้ร่วมกับบริษัท Cool kids  Thailand จัดงาน “Lovecare Fair Play:  Share your Responsibility Use  Lovecare Condoms” เนื่องในวันเอดส์โลก 1  ธันวาคม ด้วยการรณรงค์ให้การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้องไม่พร้อม ณ ลานกิจกรรม Outdoor Lido  Connect โดยมีนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลปี 2564 จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นยังน่าเป็นห่วง เช่น โรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่  50.5 ต่อแสนคน โรคหนองใน 45.6 ต่อแสนคน

ดังนั้น เรื่องเพศควรเป็นเรื่องที่ต้องพูดได้ในสังคมไทย หากถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย สกปรก หยาบคาย  ไม่ควรพูดถึง จะทำให้เกิดความไม่รู้ ไม่เท่าทันเรื่องเพศของเด็ก และได้รับข้อมูลที่ผิดๆ ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เครื่องมือที่ช่วยป้องกันการตั้งท้องและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้คือ ถุงยางอนามัย ถึงจะพบว่าอัตราการใช้ถุงยางจะสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังต่ำมากจากหลายปัจจัย เช่น ความไว้ใจเมื่อเป็นแฟนกัน  รวมทั้งราคาแพง ถุงยางฟรีมีจำนวนจำกัด ทัศนคติทางลบต่อเรื่องเพศของสังคม ส่งผลให้อัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้นต่อเนื่อง

นายชาติวุฒิเน้นย้ำว่า เวทีนี้เปิดกว้างสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัยเปลี่ยนแปลงไป มีการออกแบบด้วยงานศิลปะ  มีการสอนเรื่องเพศศึกษาภายในโรงเรียนเพื่อการรู้เท่าทัน  เปิดใจให้พูดกันเรื่องเพศโดยไม่ปิดบัง พ่อแม่ควรเปลี่ยนทัศนคติ กล้าที่จะพูดคุยกับลูกในเรื่องเพศ การคุมกำเนิดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาท้องในวัยเรียน ลดอัตราการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ การมีคู่นอนมากกว่า 1 คนไม่ใช่เป็นเรื่องผิด แต่ต้องมีความรับผิดชอบให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวเองและคู่นอน และต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงทางเพศ ต้องรู้จักอุปกรณ์ที่ใช้คุมกำเนิด สนับสนุนให้วัยรุ่นเข้าถึงการใช้ถุงยางอนามัย เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลใจ

“สสส.ขับเคลื่อนงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์โดยมุ่ง 'ส่งเสริม' ให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย สนุก และทักษะชีวิตที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงทางเพศ และ 'ป้องกัน'  รวมทั้งแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควบคู่รณรงค์สร้างความเข้าใจ สร้างกระแสสังคม ท้าทายและเปลี่ยนแนวคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมด้านลบเรื่องเพศ โดยสานพลังภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สำหรับโครงการ 'ขับเคลื่อน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในสถานศึกษาและปลูกฝังค่านิยมการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่น' โดยที่ สสส.ทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อถุงยางอนามัย  พัฒนาสื่อในการเสริมทักษะที่ทันสมัย ไม่เชย เพิ่มการเข้าถึงและใช้ถุงยางในกลุ่มวัยรุ่น โดยเชื่อว่าการพูดคุยสื่อสารเรื่องนี้กับวัยรุ่นผ่านวัยรุ่นด้วยกันเอง จะเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด” นายชาติวุฒิกล่าว

นายดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ผู้รับผิดชอบกิจกรรม Lovecare Condoms  กล่าวว่า ศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะทำให้เยาวชนสนใจการใช้ถุงยางอนามัย เราจะนำไปแจกตามโรงเรียนระดับมัธยมต้น 1,000 โรงเรียน ในกิจกรรม Lovecare  Condoms ภายใน 3 ปี การจัดกิจกรรมใน รร. 3 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กเรียนรู้เข้าใจถึงสรีระร่างกายของตัวเอง  เด็กหลังห้องได้สนทนาวิสาสะกับเด็กเรียนหน้าห้อง การสร้างแกนนำรุ่นพี่เพื่อสอนน้องใน รร.สวนกุหลาบ นครสวรรค์, รร.มัธยมวัดสุทธาราม, รร.เทพศิรินทร์ พุแค  สระบุรี ส่วนใหญ่เป็น รร.สังกัด กทม., รร.เทศบาล

ยุทธศาสตร์เอดส์ชาติระบุเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่จากการทำงานกับวัยรุ่นพบข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น การขอรับถุงยางจากหน่วยบริการสาธารณสุขยังต้องใช้เลขบัตรประชาชน  ทัศนคติผู้ใหญ่มองว่าการพกถุงยางของวัยรุ่นเป็นเรื่องไม่ดี มีงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า หากส่งเสริมความเข้าใจ ให้วัยรุ่นมีโอกาสสัมผัส ได้พก จะทำให้เกิดการใช้ถุงยางเป็นปกติในอนาคต

"งานวันนี้ส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยในวัยรุ่นตอนต้น ด้วยการเปิดพื้นที่ให้แสดงศักยภาพ แสดงออกด้านศิลปะกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น ประกวดเพนต์โมเดลถุงยาง ประกวดแต่งและร้องเพลงแรปในรายการ The  Lovecare School of Rapper รวมถึงเปิดตัว  “Lovecare condoms” ถุงยางอนามัยราคาย่อมเยา เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงความปลอดภัยมากขึ้น โดยเยาวชนเป็นผู้จัดจำหน่าย นำรายได้ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีการเสวนา Open talk on sex and condom กับโอ๊ต-ปราโมทย์ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินขวัญใจวัยรุ่น และบริการตรวจสุขภาพฟรีจากบูธภาคีเครือข่ายอีกด้วย"

นายสมยศ วงค์เขียน ครูโรงเรียนวัดลาดกระบังและนายกสมาคมครูเพศวิถีศึกษา ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นครูสังกัด รร.กทม.มา 17 ปี สอนวิชาคณิตศาสตร์ และตั้งชมรมเพศวิถีศึกษาเรียนทุกวันพุธ 1 ชั่วโมง จัดเป็นกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ไม่มีหน่วยกิต เราต้องเตรียมเด็กชั้น ม.1 วัย 12-13 ปีให้มีความพร้อมที่จะรู้เท่าทันตัวเอง  ในช่วงโควิดเด็กเรียนออนไลน์ เด็กบางคนหลุดออกจากกรอบเกิดปัญหาติดยาเสพติด และปัญหาท้องไม่พร้อมกับรุ่นพี่ที่โตกว่า 10 ปี ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ไม่ได้มีเวลาที่จะดูแลลูกอย่างใกล้ชิด 

ในฐานะครูผู้สอนเพศวิถีศึกษามามากกว่า 10 ปี ตกผลึกว่าไม่ว่าจะยุคไหนพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นก็เหมือนเดิม เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของวัย แต่เทคโนโลยียุคนี้ทำให้เป็นแฟนกันง่ายขึ้น แสดงออกด้านความรักเปิดเผยขึ้น  สิ่งที่ครูพยายามก็คือการทำให้เด็กๆ ปลอดภัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ติดโรค หรือท้องเมื่อไม่พร้อม สอนเรื่องถุงยาง  แต่ถุงยางก็เข้าถึงยาก เวลาจะซื้อก็ถูกมองตั้งแต่หัวจรดเท้า  เด็กก็อาย จะขอที่หน่วยงานสาธารณสุขก็ต้องใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก เด็กก็รู้สึกไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่าน่าจะมีจุดให้เด็กกดถุงยางได้เลย นอกจากนี้ระบบการศึกษาก็ไม่อำนวย ตีตราและกดทับเรื่องเพศไว้ ไม่สอนเรื่องการเป็นพ่อแม่ที่เปิดใจ ไม่สอนเรื่องเพศให้นักเรียน ทุกคนจึงต้องเผชิญอะไรต่างๆ เองโดยไม่มีความรู้และทักษะที่จำเป็น

นายธนกร โพธิ์วิจิตร Creative Director  บริษัท Cool kids Thailand กล่าวว่า บริษัท ยินดีสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยไม่แสวงผลกำไร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องส่งเสริมการคุมกำเนิด แต่คือการให้การศึกษาเพื่อให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์และเลือกวิถีทางที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองได้ กรณีถุงยางอนามัยรัฐควรทำให้เป็นสินค้าปกติเหมือนสินค้าอื่นๆ  สามารถโฆษณาได้ เป็นสปอนเซอร์รายการทีวีหรือซีรีส์ได้  เพื่อปรับความคิดของสังคมว่าถุงยางเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ใช้เพื่อความปลอดภัย.

***

Lovecare Condoms Décor  Exhibition

8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันการติดต่อของโรคที่มากับเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรคเอดส์ ถุงยางอนามัยมาจากภาษาละตินแปลว่า ภาชนะที่รองรับ เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่นิยมใช้มากที่สุดในขณะมีเพศสัมพันธ์

ถุงยางอนามัยยุคแรกทำจากผ้าลินิน ใช้เพื่อป้องกันการติดโรคซิฟิลิส ต่อมามีการคิดค้นวัสดุใหม่อย่างปลอกเนื้อเยื่อกระดูกหรือลำไส้ของสัตว์มาทำยัดไส้ด้วยกำมะหยี่ ยุคนั้นถุงยางอนามัยมีราคาแพง นิยมใช้ในสังคมชั้นสูงและนักวิจัย มีการค้นพบถุงยางอนามัยที่เก่าแก่ที่สุดภายในห้องสุขาของปราสาทโอฬารในเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เมื่อมี ค.ศ.1646

สถิติการใช้ถุงยางอนามัยในโลก รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกธรรมดาต่อการใช้ถุงยางอนามัย และถือเป็นเรื่องการใช้ชีวิตที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองฝ่ายรู้ว่าตนเองมีการเปลี่ยนคู่ และสื่อสารถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อย่างเปิดเผยระหว่างกันมากขึ้น.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง