เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2566 ที่โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “21 ม.ค. รำลึก 1 ปี หมอกระต่าย สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” และ“หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 12 เพื่อรำลึกถึง พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชน ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต นพ.อนิรุทธ์สุภวัตรจริยากุล พ่อของหมอกระต่าย กล่าวว่าการรณรงค์ 1 ปีที่ผ่านมา สื่อให้เห็นว่าการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับครอบครัวที่สูญเสีย จึงไม่อยากให้เป็นเพียงกระแสอยู่ในวงแคบ ขอขอบคุณ สสส. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากให้ทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เหมือนเรื่องเหล้า - บุหรี่ ให้ผู้ใช้รถตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุ และเคารพกฎหมาย“ผ่านมา 1 ปี เป็นความรู้สึกที่เร็วมาก ครอบครัวยังต้องปรับตัวกับความสูญเสีย และสู้ต่อในทุกๆ วัน พยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด หลังสูญเสียลูกสาว ทำงานทุกวันเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจ ให้ก้าวเดินต่อไปได้ในทุกวินาที เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปสำหรับคนเป็นพ่อแม่” นพ.อนิรุทธ์ กล่าว
นพ.อนิรุทธ์ กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้วันที่ 21 ม.ค. เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน จึงอยากให้ภาครัฐเข้มข้นกับนโยบายเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างแท้จริง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการปรับปรุงกายภาพถนนมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าสังคมเมืองหลวงเป็นสังคมหนาแน่น กฎหมายจราจรต้องเดินหน้าไปพร้อมกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการขับขี่ที่ไม่คำนึงถึงคนเดินเท้า เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรม นอกจากนี้ต้องปลูกฝังเด็ก-เยาวชน ผ่านระบบการศึกษา และผู้ปกครอง ครู ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า การเสียชีวิตคุณหมอกระต่าย เป็นความสูญเสียที่สะเทือนใจต่อสังคม สะท้อนความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอีก จากข้อมูล 3 ฐานรวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุข 10 ปีย้อนหลัง พบการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ย 1,000 ราย/ปี เกือบ 50% เกิดจากรถจักรยานยนต์ 1 ใน 3 เกิดขึ้นในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” มาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอด 1 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นจริงในสังคมอย่างยั่งยืนผ่านกลไกของวุฒิสภา โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากทุกฝ่าย
“ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนร่วมกันหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)และภาคีเครือข่ายอีกกว่า 100 องค์กร มุ่งมั่น เร่งรัด ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน แสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย และยื่นข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง สื่อสารผ่านสื่อหลัก และเครือข่ายสังคมออนไลน์ วันนี้เป็นข่าวดีของชาวไทยที่รัฐบาลได้ยกระดับความสำคัญ ให้วันที่ 21 ม.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน จึงนับเป็นวันสำคัญของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง”และชวนคนไทยทุกคนช่วยกันส่งแสงทั้งแสงเทียนไฟหน้ารถไฟจากโทรศัพท์มือถือApplication จุดเทียนเป็นเวลา1นาทีเพื่อรำลึกถึงคุณหมอกระต่ายและส่องแสงเพื่อให้ประเทศไทยของเรามี“วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”อย่างแท้จริงนายสุรชัย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าจากการรณรงค์ “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนั้นด้วยความมุ่งหมายที่อยากให้มีวัฒนธรรมของการ “หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” และเน้นย้ำถึง “การลดความเร็วรถในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน” และ “ขอให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง”เชื่อว่าการทำงานร่วมของทุกหน่วยงานที่ผ่านมา 1 ปี เกิดผลเป็นที่น่ายินดี เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในพื้นที่ กทม.ค่อนข้างมาก อาทิ การปรับปรุงพื้นที่ทางข้ามทางม้าลายให้ชัดเจนขึ้นและมีการติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับคนเดินข้ามถนนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นคนเดินเท้าในปี 2565 ลดลงถึง12% จากปี 2564 โดยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 81 ชีวิตถือว่าการทำงานร่วมของทุกภาคส่วนไม่สูญเปล่าและจะเป็นแสงสว่างให้กับประเทศไทยที่จะมีถนนที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นเหมือนเช่นในวันนี้ที่ทุกคนมาร่วมส่งแสงเพื่อรำลึกถึงคุณหมอกระต่ายและส่องแสงไปสู่ “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”
สสส.คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ มูลนิธิเมาไม่ขับโดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช และภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันต่อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน โดยเน้นไปที่การทำให้ สังคมและประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมกันทำให้พื้นที่ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนข้ามถนนและผู้ขับขี่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีวินัยจราจรเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% ให้เกิดขึ้นจริง ตามนโยบายของ ศปถ. เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่จะช่วยดึงยอดการเสียชีวิตและความสูญเสียของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในบ้านเราลงให้ได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส.ว.วันชัย เตือนหาเสียงโจมตี ส.ว. ระวังจะกลับลำไม่ทัน!
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า โจมตีส.ว. 250 ระวังจะกลับลำไม่ทัน...
สสส. – สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย - สสว. สานพลังภาคีเครือข่าย เปิดตัวฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ล่าสุด เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.)
"สามพรานโมเดล” องค์กรต้นแบบ ความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาระบบอาหารไม่สมดุล เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีในการเกษตรเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตจำนวนมาก และส่งผลผลิตขายที่ตลาดกลางโดยมีพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา
ชุมชนเอื้ออาทรสาย 5 นครปฐม ต้นแบบกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ
สังคมอย่างไทย..ในวันนี้ มีปรากฏการณ์ที่มองข้ามความจริงมิได้ว่า "วัยแรงงาน" ต้องรับภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
นวัตกรรมดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ลดเครียดคนดูแล-สร้างสุขคนป่วย
สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) อยู่ภายใต้กะโหลกหน้าผาก เสมือนหนึ่งเป็น CEO ขององค์กรควบคุมการคิด การตัดสินใจ อารมณ์ การแสดงออกและการกระทำของมนุษย์ โดยทำงานร่วมกับสมองส่วนอื่นๆ
อพวช. ร่วมเปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ปี 66
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดเปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2566 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมเรียนรู้ตามความสนใจช่วงวันว่าง 150 วัน/ปี ที่กระจายสู่พื้นที่ใกล้บ้าน