แนะควบคุมสื่อโฆษณาขนม ชี้ดูซ้ำๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก

ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ถกประเด็นเข้มในห้องประชุมและออนไลน์ ผลวิจัยชี้ชัด โฆษณาซ้ำๆ  4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเกิดแรงกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ และตอบสนองด้วยการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมาบริโภค

รองอธิบดีกรมอนามัย การันตีอีก 1 ปีจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย ควบคุมการบริโภคขนม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงของเด็กไทยที่อ้วนเกินพิกัดจนน่าเป็นห่วง โดยสหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดปี 2573 คนอ้วนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 30%       

ในการจัดการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 กระตุ้นให้ทุกฝ่ายและผู้เกี่ยวข้องในทุกส่วนของสังคมไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้จัดทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผู้บริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังรุมเร้าพฤติกรรมในการกินและการดื่มของเด็กและเยาวชนไทยอย่างน่าสนใจ 

ปัญหาเด็กอ้วนใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ทั้งเด็กเล็ก (1-5 ปี) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 5.8% เป็น 11.4% เด็กวัยเรียน (6-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจาก 5.8% เป็น 13.9% เด็กวัยรุ่น (15-18 ปี) เพิ่มขึ้น 13.2% เป็นปัญหาสาธารณสุขไทย (เป้าหมายน้อยกว่า 10%) สหพันธ์โรคอ้วนโลกคาดการณ์ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในปี 2573 ของประเทศไทยสูงกว่า 30%

เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำเสนอโดย ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมกับเปิดเผยว่า กรมอนามัย และคณะทำงานเตรียมข้อมูลวิชาการอย่างรอบด้านและยกร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยใช้ระยะกว่า 2 ปี เพื่อให้เกิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ร่วมกับการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ได้รับข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการที่ถูกต้อง และเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ด้วย โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเริ่มปรับตัวหันมาผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ และไม่ทำการส่งเสริมการตลาดที่มุ่งเป้าหมายมาที่เด็กและเยาวชน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ต้องทำให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนยากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย

ดร.นพ.สราวุฒิ ระบุว่า “อร่อยเต็มคำ ถูกใจทุกคน  มีวิตามินด้วย ซื้อ 1 แถม 1” ...โฆษณาซ้ำๆ 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก เด็กๆรบเร้าให้แม่ซื้อขนมกรุบกรอบ เมื่อบริโภคบ่อยๆ เด็กติดรสหวานมันเค็ม ส่งผลให้เริ่มอ้วน และอ้วนโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อโรค NCDs และส่งผลเสียในระยะยาว ทั้งนี้ กว่า 31% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อย้อนดูประวัติพบว่าเคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อน 22% เช่นเดียวกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อนเช่นเดียวกัน และเด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึง 5 เท่า

ทั้งนี้ ตามกรอบมาตรการและตัวชี้วัดระดับโลกเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็ก โดยเฉพาะข้อเสนอแนะการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็ก ด้วยข้อสังเกตว่าประเทศไทยยังขาดมาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เสนอให้ประเทศไทยพัฒนานโยบายเพื่อควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กด้วย

ขณะนี้ประเทศไทยดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อจัดการปัญหาโรคอ้วนในเด็กและโรคไม่ติดต่อ ด้วยการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารและสุขภาพ และยังสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กด้วยมาตรการร่วมกัน ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคอ้วนของประเทศไทยสูงถึง 12,142 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และการสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร

จากงานวิจัยพบว่า หากประเทศไทยออกมาตรการควบคุมสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในช่องทางโทรทัศน์เพียงช่องทางเดียว จะช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) เด็ก (อายุ 6-12 ปี) ทั้งประเทศได้เฉลี่ย 0.32กก./เมตร2 ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 1.13 ล้านบาท ทำให้ลดภาวะเริ่มอ้วนและโรคอ้วนในเด็ก (อายุ 6-12 ปี) ได้ถึง 121,000 คน ดังนั้น มาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มจึงมีความคุ้มค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยในหลักการของ กม.ฉบับนี้ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ใหญ่อ้วนและเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถปิดกั้นโฆษณา  พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ผู้ผลิตอาหารปรับตัวมาผลิตทำอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มีน้ำตาลต่ำ ลดโซเดียม ดังนั้นฉลากอาหารเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเฝ้าระวังให้เป็น The Must ที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจด้วย

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้จัดการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการออก กม. ทำให้การโฆษณามีข้อจำกัด กำหนดอายุผู้บริโภค ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการจะไม่มีภาคเอกชน เราอยากเห็นการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นสร้างประเทศสำหรับเด็กๆ ด้วยการทำประชาพิจารณ์ กม.นี้คุ้มครองเด็กให้ใช้วิจารณญาณก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า ทุกฝ่ายเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการควบคุมโฆษณาการตลาดให้มีความเหมาะสม

น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า องค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทำงานเรื่องฉลากข้อมูลการบริโภคมาอย่างยาวนานด้วยความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค มีการควบคุมเป็น กม.ชัดเจนแยกออกจากประกาศที่มีอยู่เดิม ควบคุมด้านการตลาดเน้นชุมชนออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วัยรุ่น การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์มีการพัฒนาช่อง you tube  เกมและการ์ตูนที่ทำให้เด็กได้มีส่วนร่วม 

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เครือข่ายภาคประชาชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภา เผยว่า เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะอาหารและขนมเด็กบางอย่างที่ผสมอยู่นั้นมีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยช่องทางการตลาด เด็กสั่งซื้อขนมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เดินไปซื้อด้วยตัวเอง การทำฉลากขนมสำหรับเด็กควรทำเป็นสัญลักษณ์รูปภาพให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สีเขียวเหลืองแดงให้ชัดเจน  แม้แต่เด็กอนุบาลก็เข้าใจได้ง่าย หากเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท หากมีการทำผิดซ้ำซากก็ควรมีโทษจำคุก ถ้าเจ้าของกิจการยังไม่ดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด เสนอให้มีการปรับวันละ 1 หมื่นบาท

ทั้งนี้ น.ส.บุญยืนยังให้ข้อเสนอแนะด้วยว่า ควรปรับบริษัทผู้รับจ้างโฆษณาด้วย อีกทั้งดาราพรีเซนเตอร์ บริษัทด้านการตลาดที่เป็นผู้คิดในการสื่อสารการตลาด influenzer ดึงดูดเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยช่องทางให้เด็กมีความเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุมีความเท่าทันที่ยังไม่เท่าเทียมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เสนอว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ควบคุมตาม กม.ด้วย ควรนำเสนอบันทึกปัญหาสู่ ครม.ที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ปัจจุบันสถานศึกษาจัดบริการอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานที่โรงเรียน และมีประกาศห้ามทำการส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทในสถานศึกษาด้วย.             

กลยุทธ์สู้..เพื่อสุขภาพเด็ก

การศึกษาวิจัยการดำเนินมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของต่างประเทศ ที่ควบคุมการตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม HFSS ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ปรากฏว่ามีหลายประเทศที่มีประสิทธิภาพในการลดปัจจัยการพบเห็น และลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเด็กได้    อาทิ

อังกฤษ : ใช้มาตรการทาง กม.ควบคุมการตลาดอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินเกณฑ์ nutrient profile ห้ามแสดงความคุ้มค่าด้านราคา ไม่ส่งเสริมการตลาดในสถานศึกษา ควบคุมโฆษณา จำกัดการทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ ควบคุมการใช้ตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์ ทำให้พบเห็นโฆษณาอาหารลดลง

ชิลี : หลังจาก กม.บังคับใช้ใน 1 ปี คือปี 2560 พบว่าร้อยละ 35 ของเด็กก่อนวัยเรียน และร้อยละ 52 ของวัยรุ่น พบเห็นโฆษณาอาหารที่มีเนื้อหาดึงดูดใจเด็กสูงลดลง (การใช้ตัวการ์ตูน) จากร้อยละ 44 ของโฆษณา ลดเหลือร้อยละ 12 ความชุกโดยรวมของบรรจุภัณฑ์ซีเรียลอาหารเช้าที่ใช้กลยุทธ์มุ่งเป้าไปที่เด็กลดลง จากร้อยละ 46 เหลือเพียงร้อยละ15

เกาหลีใต้ : ด้วยการเก็บข้อมูลการโฆษณาอาหารทางโทรทัศน์ 5 สถานี เมื่องบโฆษณาลดลงจากหลักพันครั้งเป็นหลักร้อยครั้ง แต่จากการศึกษาพบว่ามีบริษัทอาหารพยายามเลี่ยงข้อ กม. โดยเปลี่ยนช่องทางการโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นช่องทางอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุหรี่ไฟฟ้า..ฟิน จน ตาย "ความจริง" ที่ถูกบิดเบือน

ผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดจาก

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า