พลังคนรุ่นใหม่ที่ ‘นางั่ว’ ช่วยกันปลุกปั้น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว’ ให้เติบโต
โกโก้ (Cacoa) เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เกษตรกรไทยให้ความสนใจ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนที่ปลูกโกโก้ต้องช้ำใจ เพราะเสียรู้ เสียเงิน และเสียเวลา เนื่องจากโดนแก๊งหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ให้คำมั่นสัญญาว่า “ปลูกแล้วจะมารับซื้อในราคาประกัน” บ้างก็ขายต้นพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อปลูกได้ 2-3 ปี จนโกโก้ออกผลแล้วนั่นแหละ...แก๊งต้มตุ๋นพวกนี้ก็ไม่เคยโผล่หน้ามาอีกเลย...
เช่นเดียวกับที่ตำบลนางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เกษตรกรที่ปลูกโกโก้หลายสิบรายต้องประสบกับปัญหานี้ แต่โชคดีที่มีคนรุ่นใหม่ นำเอาผลผลิตที่ไร้ตลาดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลต สร้างแบรนด์ สร้างตลาดขึ้นมาเอง ไม่ต้องง้อพ่อค้ารับซื้อหรือโรงงาน แถมยังสร้างงานให้แก่ชุมชน รองรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับมาทำงานกับครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และตั้งเป้าหมายว่าภายในไม่กี่ปีนี้...จะปลุกปั้นให้นางั่วเป็น ‘เมืองแห่งช็อกโกแลต’
โลกของโกโก้-ช็อกโกแลต
โกโก้ เป็นพืชเขตร้อนมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางและเม็กซิโก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชนเผ่ามายา (ค.ศ.250-900) เป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักนำโกโก้มาใช้ประโยชน์ โดยนำมาทำอาหารและเครื่องดื่ม และใช้เมล็ดแห้งแลกซื้อทาส รวมทั้งแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ต่อมาพ่อค้าชาวสเปนได้นำโกโก้เข้าสู่ยุโรป หลังจากนั้นโกโก้ก็แพร่หลายไปทั่วโลก
ในประเทศไทย โกโกนําเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อปี 2446 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงราชเคนิกร แต่ไม่ได้แพร่หลาย เพราะไม่รู้วิธีการนำมาใช้ประโยชน์ ในปี 2516-2517 กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยการนำโกโก้มาปลูกแซมในสวนมะพร้าวเพื่อช่วยเหลือชาวสวนซึ่งในขณะนั้นมะพร้าวมีราคาตกต่ำ
ระหว่างปี 2524-2536 ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้นำต้นพันธุ์โกโก้จากประเทศมาเลเซียหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูก และพัฒนาจนได้สายพันธุ์ใหม่เหมาะที่จะปลูกในเมืองไทย ใช้ชื่อว่า ‘โกโก้ลูกผสมชุมพร 1’ มีลักษณะตรงตามมาตรฐานสากล คือ มีเมล็ดไม่เกิน 110 เมล็ด/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม และมีไขมันสูงประมาณ 57.27 เปอร์เซ็นต์
โกโก้อุดมด้วย โพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด และมีสารต่อต้านโรคหืด ช่วยให้ปอดขยายออก ทำให้หายใจผ่อนคลายและลดการอักเสบ นอกจากนี้ สารฟลาโวนอลในโกโก้ ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ช่วยป้องกันการแพร่ กระจายของเซลล์มะเร็ง ฯลฯ (https://www.samitivejhospitals.com/)
โกโก้และช็อกโกแลตต่างกันอย่างไร ? โกโก้และช็อกโกแลตต่างก็เป็นผลผลิตจากต้นโกโก้ โดยการนำเมล็ดโกโก้มาผ่านกระบวนการหมัก ตากแห้ง คั่ว ปอกเปลือก บด และแปรรูปเป็นของเหลว (Cocoa liquor) จากนั้นจึงนำโกโก้เหลวไปผ่านกระบวนการรีดเอาไขมันโกโก้ (Cocoa butter) ออกจากเนื้อโกโก้ (Cocoa cake) แล้วเอาเนื้อโกโก้ที่ได้ไปบดละเอียด เป็นผงโกโก้ธรรมชาติที่มีไขมันอยู่เพียง 10-24% ถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีไขมันผสมอยู่น้อยมาก
ช็อกโกแลต เป็นการนำโกโก้เหลวไปขึ้นรูปหรือเทใส่แม่พิมพ์โดยไม่แยกไขมันออก จึงยังคงมีไขมันโกโก้ในปริมาณมาก และหากเป็นดาร์กช็อกโกแลต 100% จะมีรสขม ผู้ผลิตจึงเติมนม น้ำตาล หรือส่วนผสมอื่นๆ เพื่อให้มีรสหวาน มีกลิ่นหอม น่ารับประทาน
ช็อกโกแลตและโกโก้ นอกจากจะรับประทานเป็นขนม เครื่องดื่ม ผสมในอาหารต่างๆ แล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมเคมี
ปัจจุบัน แหล่งปลูกโกโก้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ประมาณ 70 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก ผลผลิตประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ขณะที่ผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอยู่ที่ทวีปยุโรป มูลค่าผลิตภัณฑ์จากโกโก้และช็อกโกแลตไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
ในประเทศไทย ข้อมูลจาก ISAN INSIGHT & OUTLOOK (โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ระบุว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกโกโก้รวม 5,913 ไร่ ผลผลิตรวม 859 ตัน ในจำนวนนี้ภาคใต้มีพื้นที่เพาะปลูกโกโก้มากที่สุด
ด้วยพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตยังมีปริมาณน้อย ประเทศไทยต้องนำเข้าโกโก้ 4.2 หมื่นตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 5.9 พันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปผงโกโก้ และช็อกโกแลต (95%) ส่วนการส่งออก 2.3 หมื่นตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปช็อกโกแลตและอาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่มีโกโก้ (99%)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดให้โกโก้เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนส่งเสริม พัฒนาการผลิตและการตลาด เพื่อให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากโกโก้เป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง ส่งออกยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นพืชทดแทนและเป็นพืชแซมในสวนผสม ดูแลง่าย เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง หากดูแลบำรุงรักษาดี ต้นโกโก้จะมีอายุยืนถึง100 ปี แต่จะให้ผลผลิตได้ดีในช่วง 30-40 ปีแรก
จากโกโก้สู่การแปรรูปและผลิตเป็นช็อกโกแลตชนิดต่างๆ
โกโก้และจุดเริ่มต้นของคนนางั่ว
‘นางั่ว’ มีฐานะเป็นเทศบาลตำบล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 66 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและที่ราบเนินเขา มี 13 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 12,900 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ปลูกต้นยาสูบ ทำนา ปลูกข้าวโพด ถั่วเขียว เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
ลุงสนับ ด้วงผล อายุ 67 ปี เกษตรกรนางั่ว เล่าว่า เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว มีคนต่างถิ่นกลุ่มหนึ่งอ้างเป็นตัวแทนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาที่ตำบลนางั่ว แนะนำให้เกษตรกรปลูกต้นโกโก้เพื่อส่งผลสุกขายให้แก่บริษัท แล้วบริษัทจะนำไปส่งต่อให้โรงงานผลิตช็อกโกแลต โดยบริษัทจะรับซื้อในราคาประกัน ประมาณกิโลกรัมละ 10 บาท ปลูกเพียง 2 ปีก็เริ่มเก็บผลผลิตขายได้ ราคาขายต้นพันธุ์โกโก้ประมาณต้นละ 200 บาท เพราะเป็นโกโก้พันธุ์ดี ปลูกไม่กี่ปีก็จะได้จับเงินแสน เงินล้าน ดีกว่าปลูกข้าวโพด หรือยาสูบ
“ที่นางั่วก็มีชาวบ้านหลายรายที่หลงเชื่อ ซื้อต้นพันธุ์โกโก้จากพวกเขา มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าใครมีที่เท่าไร จะปลูกกี่ไร พอปลูกไปได้ 2-3 ปี โกโก้เริ่มออกลูก บริษัทพวกนี้ก็หายหัวไปเลย ไม่โผล่มารับซื้อตามสัญญา ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน บางคนก็จะฟันต้นทิ้ง” ลุงสนับเล่าย้อนตอนปลูกโกโก้ใหม่ๆ
ลุงสนับกับโกโก้ที่กำลังจะออกลูก
ตัดภาพไปที่ ประเสริฐ ไกนอก หรือ ‘ต้น’ ผู้สร้างเรื่องราวให้โกโก้นางั่วคืนชีพขึ้นมาใหม่ ไม่โดนคมมีด คมพร้า กลายเป็นเศษฟืนเสียก่อน เขาเล่าว่า ตนเองเป็นคนลพบุรี เรียบจบด้านเทคโนโลยีไอทีจากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (RBAC) เรียนและทำงาน ใช้ชีวิตหัวหกก้นขวิดอยู่ในกรุงเทพฯ มานานเกือบ 20 ปี จนเกิดความอิ่มตัวกับแสงสีและชีวิตในเมืองหลวง
ราวปี 2560 จึงกลับมาเริ่มต้นชีวิตในชนบทที่นางั่ว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา และด้วยหัวคิดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เขาจึงคิดที่จะสร้างธุรกิจการเกษตรขึ้นมา โดยมองไปที่ต้นทุนที่ตำบลมีอยู่ แต่ไม่ใช่ ข้าว หรือข้าวโพด ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ปลูกแล้วก็ต้องเอาไปขายพ่อค้า
“ตอนนั้นนางั่วปลูกโกโก้แล้ว ผมจึงศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโกโก้ พบว่าตลาดโกโก้กว้างมาก คนยุโรปและตะวันตกนิยมกินโกโก้และช็อกโกแลตกันมาก แต่ประเทศเมืองหนาวเหล่านี้ปลูกโกโก้ไม่ได้ ต้องนำโกโก้จากประเทศเขตร้อนเข้ามา เพื่อทำเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยารักษาโรคต่างๆ เป็นพืชที่คนรู้จักกันทั่วโลก ราคาเมล็ดแห้งคุณภาพดีกิโลฯ ละเป็นหมื่นบาท จึงเห็นว่าโกโก้เป็นพืชที่มีอนาคต ตลาดยังเปิดกว้าง เมืองไทยก็ปลูกได้ดี และปลูกครั้งหนึ่งโกโก้จะมีอายุนานถึง 100 ปี” ประเสริฐเล่าถึงจุดเริ่มต้น
จากนั้นประเสริฐจึงค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปโกโก้ ทั้งข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท ยูทูป สอบถามกูรูผู้เชี่ยวชาญระดับโลกผ่านระบบออนไลน์ที่ประเทศบราซิล รวมทั้งอาจารย์บางท่านในเมืองไทย จนได้ความรู้และเกิดความเชื่อมั่นว่าคนนางั่วสามารถผลิตและแปรรูปโกโก้ได้ โดยเชื่อมโยงคนสองวัยมาทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะคนนางั่วรุ่นใหม่ที่เรียนจบจากกรุงเทพฯ หรือจากที่ต่างๆ ที่อยากจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดโดยมีอาชีพรองรับ
ประเสริฐ ไกนอก ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีปลุกปั้นโกโก้นางั่วขึ้นมา ปัจจุบันอายุ 39 ปี
โกโก้ ‘พาคนรักกลับบ้าน’
“ผมจึงใช้โกโก้เป็นสื่อ เพราะคนรุ่นใหม่จะรู้จักโกโก้ดีอยู่แล้ว มีความรู้เรื่องการตลาดและการใช้ไอที ส่วนคนรุ่นเก่าหรือรุ่นพ่อแม่ก็จะมีความรู้เรื่องดินฟ้าอากาศ รู้เรื่องการทำเกษตร จึงเชื่อมโยงคนสองวัยมาทำงานร่วมกัน แล้วตั้งโครงการ ‘พาคนรักกลับบ้าน’ ขึ้นมา” ประเสริฐขยายความ
เมื่อไอเดียตกผลึก เขาจึงขายความคิดนี้ให้แก่คนนางั่ว ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า และเห็นร่วมกันว่าควรจะจดทะเบียนเป็น ‘วิสาหกิจชุมชน’ เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น มีสถานะรับรองตามกฎหมาย สามารถขอรับการส่งเสริมสนับสนุนกิจการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ฯลฯ ในปี 2563 จึงจดทะเบียนจัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว’ มีสมาชิกเริ่มแรก 7 คน จากนั้นจึงได้เปิดระดมหุ้นๆ ละ 1,000 บาท ได้เงินทั้งหมด 300,000 บาท นำมาใช้เป็นทุนรับซื้อผลโกโก้สุกเพื่อนำมาแปรรูป
“ผลโกโก้สุกสามารถเก็บขายได้ตลอดปี เดือนละ 2 ครั้ง ราคารับซื้อตามคุณภาพ น้ำหนักลูกละ 3 ขีดขึ้นไป ราคากิโลฯ ละ 8-10 บาท แต่ถ้าปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี จะได้ราคากิโลฯ ละ 15-20 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดเลิกการใช้สารเคมี เมื่อนำมาแปรรูปก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตลาดต้องการ” ประเสริฐบอก
ลุงสนับ ด้วงผล บอกว่า เมื่อมีการผลิตโกโก้แปรรูป ลุงก็ไม่ต้องฟันต้นโกโก้ทิ้ง พอโกโก้สุกก็เอาไปขายที่กลุ่มวิสาหกิจในตำบล ไม่ต้องชะเง้อมองรอพ่อค้ามารับซื้อเหมือนแต่ก่อน โกโก้ที่ปลูกเป็นพันธุ์ ‘ลูกผสมชุมพร 1’ ปลูกในช่วงเริ่มต้นประมาณ 40 ต้น และกำลังขยายพื้นที่ปลูกอีก
“โกโก้ควรปลูกห่างกันประมาณ 4 เมตร 1 ไร่จะปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ถ้าปลูกแซมกับพืชอื่น หรือปลูกแซมในสวนกาแฟยิ่งดี โกโก้จะได้ร่มเงา แม้ว่าต้นโกโก้จะเริ่มออกลูกเมื่อปลูกได้เพียง 2 ปี แต่ควรปล่อยให้ต้นโกโก้โตเต็มที่ก่อน คืออายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป ยิ่งโกโก้โตขึ้นก็จะออกลูกเยอะ ต้นหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 กิโลฯ ” ลุงสนับบอก
ผลโกโกสุกจะมีสีเหลือง ใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกจนเติบโตเป็นผลสุกประมาณ 5-6 เดือน ผลโกโก้สุกจากเกษตรกรจะนำมาขายให้แก่กลุ่มฯ หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของแม่บ้าน ผู้สูงวัยที่ใช้เวลาว่างมารับจ้างทำงานที่กลุ่ม โดยใช้ไม้ทุบเปลือกโกโก้ให้แตก แกะเมล็ดข้างในที่มีเยื่อหุ้มสีขาวเรียงกันคล้ายฝักข้าวโพดออกมา
กลุ่มแม่บ้านมีรายได้จากการทำงาน โดยทุบเปลือกโกโก้ให้แตก นำเมล็ดที่มีเยื่อหุ้มสีขาวไปหมัก
ขั้นตอนต่อไปคือการนำเมล็ดโกโก้ไปหมักเพื่อให้มีกลิ่นหอม และมีรสชาติดีขึ้น อาจหมักในลังไม้ ในเข่ง ใช้กระสอบหรือใบตองปิดทับ หมักประมาณ 2-3 วัน จึงนำเมล็ดไปตากให้แห้งในโรงเรือน เมล็ดที่แห้งแล้วจะนำมาคัด เลือกเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์กออกมา นำเมล็ดที่สมบูรณ์ไปเข้าเครื่องคั่ว กะเทาะเปลือก บด และปั่นจนได้เนื้อโกโก้ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
“ตอนนี้มีผู้สูงอายุ พี่ป้า น้า อา ใครว่างก็หมุนเวียนกันมาช่วยทำงานที่กลุ่ม ช่วยแกะเปลือกโกโก้ หมักโกโก้ คัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก มีงานให้ทำทั้งปี มีรายได้ประมาณคนละ 3,500 บาทต่อเดือน ถือเป็นอาชีพเสริมที่ใช้เวลาว่างมาทำ หรือใครจะปลูกโกโก้เป็นอาชีพเสริมก็ได้ แล้วเอามาขายให้กลุ่ม ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในกลุ่มนั้น หากใครมีไอเดียดีๆ ก็สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์จากโกโก้ออกมา แล้วกลุ่มจะสนับสนุน ส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ต่อไป”
ประเสริฐบอกและขยายความว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนาโก้นางั่ว ปัจจุบันสามารถสร้างงานให้คนในชุมชนได้ประมาณ 120 ครอบครัว มีสมาชิกวิสาหกิจที่ร่วมลงทุน 37 ราย และคนรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้าน ได้อยู่กับครอบครัวและคนรัก มาทำงานทั้งประจำและพาร์ทไทม์ที่กลุ่มประมาณ 15 คน และมีคนปลูกโกโก้ในตำบลและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 1 พันรายที่เอาผลผลิตมาขายให้แก่กลุ่ม
ในปี 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ซึ่งมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563 เพื่อสนับสนุนชุมชนลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้มอบงบประมาณสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่วผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบลนางั่ว จำนวน 1 แสนบาท
ประเสริฐบอกว่า “ขอขอบคุณ พอช.ที่ให้การสนับสนุนกลุ่ม และได้นำงบประมาณมาใช้ในการฝึกอบรม พัฒนาสมาชิกที่ปลูกโกโก้ รวมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพดีขึ้น ได้มาตรฐานสากล”
เมล็ดโกโก้ตากแห้ง
แนวคิดและการบริหารกลุ่มโกโก้นางั่ว
ประเสริฐ บอกด้วยว่า การสร้างกลุ่มโกโก้นางั่วให้ประสบผลสำเร็จนั้น เขามีเป้าหมายที่ชัดเจน 4 ข้อ และเดินตามเป้าหมายนั้น คือ 1. ต่อยอดอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะอุตสาหกรรมโกโก้กว้างมาก เช่น ช็อกโกแลต อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยารักษาโรค
2.เพิ่มคุณค่าคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัย ในวันที่มีกำลังวังชา เราปลูกพืชเลื่อนลอย เรามีแรง เราเก็บเงินได้ แต่เมื่อเราหมดแรง โกโก้จะเป็นพืชบำนาญที่เป็นรายได้ในอนาคตให้กับผู้สูงวัยได้ 3. ลดรายจ่ายสร้างรายได้ โกโก้เมื่อมีอายุมากขึ้น จะให้ผลผลิตสูงขึ้น มูลค่ายิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง
3.สร้างพื้นที่สีเขียวลดการปลูกพืชเลื่อนลอย โดยคุยกับชาวบ้าน และทุกคนที่ให้ความสนใจ จนเกิดการรวมกลุ่มกันได้ 7 คน และเริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนโกโก้นางั่ว โดยรวม 2 กลุ่มเข้าด้วยกัน คือ กลุ่มโกโก้นางั่วกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์นางั่ว
นอกจากนี้ประเสริฐบอกว่า เขาได้นำโมเดลการบริหารธุรกิจ business canvas ซึ่งเป็นพื้นฐานการบริหารทั่วไปมาปรับใช้ โดยเน้นหลัก 3 P คือ 1. People คือคนในชุมชนทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเขามีชีวิตที่ดีไม่เดือดร้อน เขาก็จะมีกำลังผลิตวัตถุดิบดีๆ ให้กับเรา มีโอกาสสร้างอาชีพ สร้างงาน พาลูกพาหลานกลับมาอยู่บ้านได้
2.Profit คือเศรษฐกิจหรือลูกค้า การที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าจากคนในชุมชนของเรา เขามีโอกาสได้ช่วยชุมชน ได้ของดีมีคุณค่า ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของนางั่ว เช่น โครงการพาคนรักกลับบ้าน ส่งเสริมการปลูกแบบอินทรีย์ สร้างพื้นที่สีเขียว ทำให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้น ลดต้นทุนเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งมูลค่าเหล่านี้มันมากกว่ารสชาติ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจมั่นคงและยั่งยืนได้ ที่สำคัญเรามีการแบ่งปันกำไรให้คนในชุมชนอย่างเหมาะสม
3.Planetคือสิ่งแวดล้อม โดยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับสิ่งแวดล้อมในชุมชน สร้างประโยชน์จากต้นโกโก้ โดยใช้ระบบนิเวศน์ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มโกโก้นางั่ว
จากผลงานการปลุกปั้นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดได้คัดเลือกให้ ‘ประเสริฐ ไกนอก’ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ‘เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565’ ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน”
"จากแนวคิดที่ไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานที่ทำเกษตรต้องเจอสภาวะเหมือนอดีต ไม่หลุดพ้นจากวงจรหนี้สินที่ผูกพันไปเรื่อยๆ จากการปลูกพืชเลื่อนลอย จึงนำไปสู่การใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศ ให้ทั้งคนและต้นไม้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน
เกิดการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้านเกิด ก่อตั้งเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว’ ปลูกและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เอามาทำเป็น ‘คราฟท์ช็อกโกแลต ออริจิ้น เพชรบูรณ์’ นำเทคโนโลยีมาใช้ทำการตลาด เช่น การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์กลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และช่องทางการให้ความรู้ผ่าน Youtube ในชื่อช่อง Cacao Hub" ประเสริฐเปิดใจในวันที่เขาได้รับรางวัล (https://mgronline.com/ 16 ธันวาคม 2565)
ประเสริฐรับรางวัลชนะเลิศ ‘เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565’
เป้าหมายสู่ “นางั่วเมืองแห่งช็อกโกแลต”
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่วมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายในเฟซบุ๊ก เช่น โกโก้นิปส์ ขนาด 500 กรัม ราคา 500 บาท 1 กิโลกรัม ราคา 900 บาท เมล็ดโกโก้อบแห้ง 1 กิโลกรัม 350 บาท ช็อกโกแล็ตดาร์ค 80 % ชาเปลือกโกโก้ ฯลฯ และนำไปออกบูธในงานแสดงสินค้า งานอีเว้นท์ต่างๆ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คืองาน ‘เทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2566’ จัดโดย ททท. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้แก่กลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นโกโก้แมส (Cocoa Mass) หรือเนื้อโกโก้ที่ผ่านการบดละเอียด ส่งขายให้แก่ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ เช่น บริษัท ผู้ประกอบการ ร้านค้า เพื่อนำไปผลิตเป็นช็อกโกแลตชนิดต่างๆ หรือโกโก้ผงต่อไป
โดยในปีที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 1 ล้านบาทเศษ และหลังจากกลุ่มได้นำผลิตภัณฑ์เข้าประกวดในงานต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ จนได้รับรางวัลรับรองคุณภาพและมีชื่อเสียงแล้ว ในปีนี้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่วตั้งเป้าว่าจะทำรายได้ประมาณ 10 ล้านบาท !!
นอกจากนี้เขายังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานางั่วให้เป็น ‘เมืองแห่งช็อกโกแลต’ เพราะนางั่วเป็นทางผ่านและอยู่ไม่ไกลจากเขาค้อและภูทับเบิกซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเพชรบูรณ์ โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวที่เขาค้อและภูทับเบิกเป็นจำนวนมาก
“นักท่องเที่ยวทั่วประเทศผ่านนางั่วขึ้นไปเขาค้อ แต่ไม่มีใครรู้จักนางั่ว ผมจึงคิดว่า หากพัฒนานางั่วให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเกี่ยวกับช็อกโกแลต ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนนางั่วทุกคนต้องทำช็อกโกแลต แต่ทุกคนได้ประโยชน์จากโกโก้ จากช็อกโกแลต คือมีสินค้า มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่าย มีขนม มีเบเกอรี่ มีเครื่องดื่ม จะทำให้คนมาเที่ยวนางั่ว เพราะตอนนี้คนก็รู้จักช็อกโกแลตนางั่วแล้ว” ประเสริฐ ไกนอก ผู้เปิดตำนานช็อกโกแลตนางั่วบอกทิ้งท้าย
ผู้มาศึกษาดูงานกลุ่มโกโก้นางั่วจะมีตลอดทั้งปี
*********************
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ภาพ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย