'คนไร้บ้าน' และ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก  UN-Habitat  หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  เริ่มรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2528  โดยกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
 
‘Homeless’ คนไร้บ้านในเมืองใหญ่ที่ร่ำรวย 
       
แม้แต่เมืองใหญ่ที่ร่ำรวยและทันสมัยอย่างสหรัฐอเมริกาก็ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเช่นกัน  รายงานของกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Department of Housing and Urban Development’s)  เปิดเผยข้อมูลจากการแจงนับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยทั่วประเทศภายในคืนเดียว (One Night Count) ในเดือนมกราคม 2565 ว่า  มีผู้คนจำนวน 582,462 คน  ไม่มีที่อยู่อาศัย  หรืออยู่ในสภาพ ‘คนไร้บ้าน’ (Homeless)
             
อย่างไรก็ตาม จำนวน 60% ของคนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือให้เข้าพักในที่พักพิงฉุกเฉิน หรือโครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราวขององค์กรการกุศลหรือหน่วยงานรัฐ ส่วนอีก 40% ที่เหลือต้องกางเต็นท์ อยู่ในเพิงพักข้างถนน และจำนวนไม่น้อยต้องซุกตัวอยู่ในอาคารร้าง  
             
ปัญหาคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกาเป็นวิกฤตใหญ่ มีที่มาจากหลายสาเหตุ  เช่น  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  การตกงาน  รายได้ไม่พอต่อค่าเช่าหรือไม่พอซื้อหาที่อยู่อาศัย  รวมทั้งคนเปราะบาง  คนป่วย  คนพิการ  ติดสุรา  ยาเสพติด  ทำให้ไม่มีงาน  ไม่มีรายได้  ฯลฯ 
               
ขณะเดียวกันรัฐบาล ‘โจ  ไบเดน’ มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนคนไร้บ้านให้เหลือจำนวน 25 % ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568  โดยจะนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยถาวร  รวมทั้งการลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเช่าบ้านหรือซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้  ไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
สภาพที่พักคนไร้บ้านในสหรัฐฯ (ภาพจาก pbs.org)
 
‘2,499’ คนไร้บ้านในเมืองไทย
 
ประเทศไทย  สาเหตุของการไร้บ้านมีหลายปัจจัย  เช่น  ตกงาน  ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าบ้าน  เจ็บป่วยพิการ  มีปัญหาด้านจิตใจ  ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในครอบครัวได้  ผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานดูแล  ไม่มีที่พักพิง  บางคนชอบชีวิตอิสระ  ฯลฯ  
 
ส่วนการสำรวจคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการเริ่มต้นในปี 2562  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  สสส.  สมาคมคนไร้บ้าน  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ฯลฯ 
 
ใช้วิธีแจงนับภายในคืนเดียว (One Night Count) เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา  เพราะเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงในการนับซ้ำคนไร้บ้านในแต่เมือง   โดยการกำหนดเส้นทางการสำรวจแจงนับของแต่ละทีมที่มีความชัดเจนและไม่ทับซ้อนกัน  และจะแจงนับในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่คนไร้บ้านมีการเคลื่อนย้ายต่ำและปรากฎให้เห็นได้ชัดในพื้นที่สาธารณะหรือในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน
 
เริ่มสำรวจในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562  โดยจัดเก็บข้อมูลในเขตเทศบาลขนาดเล็กและขนาดกลางในแต่ละจังหวัด  รวมทั้งหมด 124 อำเภอ  77 จังหวัด  โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเส้นทางรถไฟผ่าน  เพราะคนไร้บ้านมักจะใช้รถไฟในการเดินทาง  ใช้ผู้เก็บข้อมูลจำนวนมากกว่า 500 คน   พบคนไร้บ้านจำนวน 2,719 คน
 
ล่าสุด   เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม  2566 มีการแจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศ พบจำนวน 2,499 คน   โดยมีคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มากที่สุด  จำนวน 1,271 คน  รองลงมาเป็นชลบุรี 126  และเชียงใหม่ 118 คน
 
อย่างไรก็ตาม  จากการรณรงค์เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐจัดหาที่พักพิงให้แก่คนไร้บ้านตั้งแต่ราวปี 2557 โดยสมาคมคนไร้บ้าน  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายสลัม  4 ภาค  ฯลฯ   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงนำเสนอปัญหานี้ต่อรัฐบาล  จนได้รับอนุมัติงบประมาณในปี 2560  จำนวน 118 ล้านบาท  เพื่อจัดสร้าง ‘ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน’ ขึ้น 3 แห่งทั่วประเทศ  คือ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’
 
ปัจจุบันศูนย์ฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 แห่ง  คือ ‘บ้านเตื่อมฝัน’  จ.เชียงใหม่  ‘บ้านโฮมแสนสุข’  จ.ขอนแก่น  และ ‘บ้านพูนสุข’ จ.ปทุมธานี  มีคนไร้บ้านเข้าพักพิง  เป็น ‘ศูนย์ตั้งหลักชีวิต’ แล้ว  ประมาณแห่งละ 50-70 คน   ทำให้พวกเขามีที่พักพิงที่เหมาะสม  ไม่ต้องหลับนอนในที่สาธารณะ  และมีพื้นที่ในการทำมาหากิน  เช่น  คัดแยกขยะรีไซเคิลขาย  ปลูกผัก  เลี้ยงไก่  ฯลฯ  เมื่อตั้งหลักได้แล้ว  พวกเขาอาจจะกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้
 
นอกจากนี้  ภาคีเครือข่าย  เช่น  สสส.  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  สถาบันเอเชียศึกษา  จุฬาลงกรณ์ฯ  กระทรวง พม. ได้ร่วมกันสนับสนุนให้คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ  มีที่อยู่อาศัยในลักษณะ ‘ห้องเช่า’ ใกล้แหล่งงาน  เช่น  ย่านหัวลำโพงเพื่อเปลี่ยนสถานะจากคนไร้บ้าน  เพราะตกงาน  หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน  ได้ร่วมโครงการ ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’  
 
โดย สสส. จะสนับสนุนค่าเช่าห้องพักจำนวน 60 %  และให้คนไร้บ้านสมทบ 60 % (ส่วนเกิน 20 % จะนำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการคนไร้บ้าน) อัตราค่าเช่าประมาณ 1,700 – 2,200  บาท  เริ่มโครงการที่พักคนละครึ่งตั้งแต่ต้นปี 2565  ปัจจุบันมีคนไร้บ้านเข้าร่วมโครงการและมีที่พักอาศัยในห้องเช่าแล้วไม่ต่ำกว่า 50 คน
 
ขณะเดียวกัน  มูลนิธิกระจกเงา  มีโครงการ ‘จ้างวานข้า’ เพื่อสนับสนุนให้คนไร้บ้านมีงานทำ  มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูตนเอง  จนสามารถเช่าที่พักอาศัยได้  เช่น  รับจ้างบริษัทเอกชน  กรุงเทพมหานคร  ทำความสะอาดสำนักงาน  พื้นที่สาธารณะ  ขนย้ายสิ่งของ  ตัดต้นไม้  งานก่อสร้าง  ฯลฯ  ทำให้มีรายได้วันละ 300-500 บาท
เครือข่ายคนไร้บ้านร่วมกิจกรรมรณรงค์แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในช่วงวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อปีที่ผ่านมา
 
คนจนรวมพลังรณรงค์แก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
 
แม้ว่าปัญหาคนไร้บ้านในประเทศไทยจะมีหลายหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนให้พวกเขาได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  มีงานทำ  แต่ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัยยังเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั้งประเทศ  
 
เช่น  ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศ  ประมาณ 300 ชุมชน  รวมกว่า 27,000 ครอบครัว  ชุมชนในที่ดินการท่าเรือฯ คลองเตย  กรุงเทพฯ  26 ชุมชน  ประมาณ 12,000 ครอบครัว  ประชากรไม่ต่ำกว่า 60,000 คน  นอกจากนี้ยังมีชุมชนในที่ดินสาธารณะ  ที่ดินริมคลอง  ในเขตป่า  ชายฝั่งทะเล  ฯลฯ
 
ณัฐนิชา  อรรคฮาดจันทร์  หัวหน้าโครงการ  สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ บอกว่า  วันที่อยู่อาศัยโลก หรือ ‘World Habitat Day’ ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม   โดยภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดงาน  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  เครือข่ายบ้านมั่นคง  ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นมา  และจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ตามภูมิภาคต่างๆ  
 
เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหา  ข้อเสนอแนะ  ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา  เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย  เช่น  ปัญหาชุมชนในที่ดินการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย  ชุมชนในที่ดินสาธารณะ  ชุมชนริมคลอง   ชุมชนชายฝั่งทะเล   ฯลฯ  รวมทั้งนำเสนอพื้นที่รูปธรรมที่มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว  เช่น  ที่ดิน ส.ป.ก.  ที่ดินในเขตป่าไม้ที่อำเภอแม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  การนำอาคารร้าง  ตึกร้างพัฒนาเป็นห้องเช่าราคาถูก  ฯลฯ
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาที่ พอช.
 
การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.
 
ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ   ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่สองข้างทางรถไฟ  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ปัญหา
 
โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566   เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   
 
โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับชุมชนต่างๆ  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เช่น  สำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ  ทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.  สนับสนุนสินเชื่อ  งบประมาณ (บางส่วน) เงินอุดหนุน  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่  หรือจัดซื้อ  จัดหาที่ดินแปลงใหม่  ในกรณีที่ไม่สามารถใช้หรือเช่าที่ดินจาก รฟท.ได้  ส่วน รฟท.จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท. ผ่าน พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
 
สยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.  บอกถึงความคืบหน้าโครงการรองรับที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท.ว่า  หลังจากที่ทีมผู้ประสานงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง (พทร.) สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่าย  เช่น  สลัม 4 ภาค  ชุมชนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ  (ชมฟ.) และชุมชนที่เดือดร้อน  สำรวจข้อมูลชุมชนที่มีความพร้อมจะดำเนินการรื้อย้ายออกจากแนวรางรถไฟเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่แล้วนั้น  พบว่า  มีชุมชนที่มีความพร้อมจะดำเนินการในปีนี้  รวม 15 ชุมชน  จำนวน 912 ครัวเรือน  
 
เช่น  ชุมชนริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะย้ายมาอยู่ที่บริเวณริมบึงมักกะสัน  เขตราชเทวี  ชุมชนริมรางรถไฟที่ อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  ชุมชนริมรางรถไฟที่ อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  ชุมชนริมรางรถไฟที่ จ.ตรัง  และ จ.สงขลา ฯลฯ  ส่วนชุมชนอื่นๆ จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 เป็นต้นไป
ชุมชนริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ
   
เสียงจากคน กทม.ถึงกรุงเทพมหานคร
 
เนืองนิช ชิดนอก ผู้แทนชุมชนในที่ดินสาธารณะในกรุงเทพฯ  จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค  บอกว่า  ปัจจุบันในกรุงเทพฯ  มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลอง หรือลำรางสาธารณะเป็นจำนวนมาก  ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  ประกอบกับแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินสาธารณะของ กทม.  ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน  สถานะของชุมชนจึงยังคงเป็นชุมชนนอกระบบ  ผิดกฎหมาย เข้าไม่ถึงการพัฒนาใด ๆ จาก กทม. ทั้งด้านสาธารณูปโภค  การพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน 
 
“ในกรุงเทพฯ ชุมชนคลองลำไผ่ เขตคลองสามวา ได้นำร่องการแก้ปัญหาที่ดิน  โดยเสนอขั้นตอนการขอใช้ที่ดินตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497  แต่ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลายาวนาน ไม่สามารถสร้างชุมชนที่มั่นคงได้โดยง่าย  และยังมีชุมชนริมคลอง ริมรางสาธารณะอีกจำนวนมาก ที่ต้องการการแก้ปัญหาให้ชุมชนมีหลักประกันที่มั่นคงในการอยู่อาศัย” 
 
เนืองนิชบอกความเป็นมาของปัญหา  และบอกว่า  เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลองต่อ กทม. โดยมีแนวทางสำคัญ และรูปธรรมที่เสนอให้เร่งรัดดำเนินการ ดังนี้
นายศานนท์  หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ พอช.และรับมอบข้อเสนอจากประชาชนเมื่อวันที่ 18  กันยายนที่ผ่านมา
 
1.ขอให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานในการขอใช้ที่ดินสาธารณะ และนำมาให้ชุมชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  โดยมีโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เข้ามาสนับสนุน  2.ให้มีมาตรการที่ชัดเจนให้ชุมชนสามารถปรับปรุงสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยในที่เดิมได้ ในกรณีชุมชนที่ไม่ได้สร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง หรือสภาพพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ระบายน้ำได้  ให้ชุมชนใช้พื้นที่ในการขยับปรับผัง  เพื่อแก้ปัญหาและรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ 
 
3.กรณีชุมชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ให้กรุงเทพมหานครขอใช้ที่ดินสาธารณะในเมือง รองรับการสร้างชุมชนใหม่  4.ให้มีกลไกของกรุงเทพหานครที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ประสานงานร่วมกับองค์กรชุมชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนการทำงานด้านที่อยู่อาศัย  ฯลฯ   
 
นี่คือตัวอย่างปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่จะนำมาเป็นประเด็นรณรงค์แก้ไขปัญหา  โดยจะมีการจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้  ซึ่งเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยมีตัวแทนชาวชุมชนที่เดือดร้อนจากทั่วประเทศประมาณ  3,000 คนร่วมเดินรณรงค์  และยื่นข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กรุงเทพมหานคร  กระทรวงคมนาคม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รวมทั้งให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน...!!
การจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก 2566  ผู้ร่วมงานแสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’  (15 กันยายนที่ผ่านมา  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ)  
************
 
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัดตอนผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน ฟื้นฟูคืนสู่'บ้าน'

กรณีฆาตกรรม’ป้ากบ’ บัวผัน ตันสุ  ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว  โดยกลุ่มเยาวชนคึกคะนอง ซึ่งป้ากบอยู่ในกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” อาศัยฟุตบาทเป็นที่หลับนอน  จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสำคัญและขยายปัญหาที่เรื้อรังมานานให้ชัดเจน

ก้าวต่อไปของ ‘คนไร้บ้าน’ พม. - สสส. - จุฬาฯ แถลงผลแจงนับคนไร้บ้านปี 66 เกินครึ่งวัยกลางคน เป็นผู้สูงอายุ 22%

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 ณ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

'วราวุธ' แจงเงื่อนไขโครงการรับสิทธิรับค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง

"วราวุธ" แจง เงื่อนไขรับสิทธิรับค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง จ่อถก "ชัชชาติ" สรุปยอดคนไร้บ้าน-ไร้งาน ตั้งเป้าปี 79 คนไทยมีที่อยู่ หลังทำแล้ว 1 ปี คนร่วมโครงการไม่ถึงร้อย

‘สดชื่นสถาน’ของคนไร้บ้าน

“ เห็นสดชื่นสถาน ดีใจ เป็นความฝัน ตอนที่ผมนอนอยู่ราชดำเนินเป็นคนไร้บ้าน  อยากให้คนไร้บ้านมีห้องน้ำ มีที่อาบน้ำ ไว้ถ่ายหนักถ่ายเบาครับ เพราะตรงที่เรานอนเป็นห้องน้ำที่ต้องเสียเงิน ถ้าเราไม่มีเงินก็เข้าไม่ได้ เราต้องวิ่งไปหาที่สาธารณะที่จะเข้า ตอนนี้ความฝันเป็นจริง เป็นความฝันของคนไร้บ้านทุกคน

‘จ้างวานข้า’ คนไร้บ้านมีงานทำ ได้ชีวิต(ใหม่)

ถ้าใครติดตามมูลนิธิกระจกเงาจะเห็นโครงการ’จ้างวานข้า’ ที่พยายามสร้างแนวร่วมเติมเต็มการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง ที่นอกเหนือจากการนำอาหารมาแจกหรือมอบความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับตัวเองและครอบครัว

‘คนไร้บ้าน’ เพิ่มโอกาสคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้

คนไร้บ้านหน้าใหม่มีเพิ่มขึ้น ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การไร้ที่อยู่อาศัย ชุมชนที่ถูกขับไล่จากการพัฒนาที่ดินหรือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของเมือง แม้กระทั่งคนถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง อาชีพไม่มั่นคง รายได้น้อย รวมถึงพอใจอยากมีชีวิตที่อิสระ หลากหลายเหตุ