ท่องเที่ยวชุมชนยลวิถีคนบางกะจะ จันทบุรี ฟื้นประวัติศาสตร์-คุณค่าชุมชนท้องถิ่น

บางกะจะเคยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มาความสำคัญคู่จังหวัดจันทบุรีมายาวนาน  ในสมัยพระเจ้าตากกู้ชาติ  พระองค์ทรงนำเหล่าทหารมาพักพลที่บางกะจะ   เข้ารับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์และรับมอบพระยอดธงจากเจ้าอาวาสวัดพลับเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

ก่อนยกพลเข้าตีเมืองจันทบุรี  พระเจ้าตากให้ทหารกินข้าวปลาจนอิ่มหนำ  แล้วพระองค์ประกาศว่า  ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น  ในเพลากลางคืนวันนี้  ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้  ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง  ถ้ามิได้  ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด

นอกจากนี้ในอดีตบางกะจะยังเป็นย่านการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองจันทบุรี  เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ติดชายทะเล  จึงมีชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วจากแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาค้าขาย   ในปี พ.ศ.2419  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีโดยเรือกลไฟ  พระองค์เสด็จขึ้นที่ท่าบางกะจะ  ทรงบันทึกข้อความเอาไว้  มีใจความตอนหนึ่งว่า...

เราขึ้นม้าพิรุณรัศมีออกเดินมาตามทาง  หลานขึ้นม้าถือดาบเรามาด้วย  เห็นเป็นโรงจีน  เป็นร้านขายของทั้ง 2 ข้างมากหลายสิบโรง  แต่เห็นเป็นฝาปูนอยู่โรงหนึ่ง  ทางคดไปคดมา 3 ทบ  4 ทบจึงหมดโรง  แต่เราเห็นคนที่ยืนตามโรงนั้นเป็นจีนแทบทั้งนั้น  ไม่ใคร่เห็นมีไทย  เว้นแต่ผู้หญิง   เมื่อต่อมานั้นเป็นเนิน  ต้องขึ้นทางสูงเหมือนขึ้นเขาหน่อยหนึ่ง  เมื่อถึงที่ราบคราวนี้เราเห็นตึกจริงๆ  เป็นเก๋งจีน  ศาลเจ้าอยู่ 2 หลัง  มีโรงงิ้วและโรงใกล้เคียงหลายโรง  อยู่ข้างขวามือ...” 

สละรสหวาน  เล่าขานประวัติศาสตร์   พระเจ้าตากพักทัพ...”

ปัจจุบันบางกะจะมีฐานะเป็น เทศบาลตำบลบางกะจะ’  อยู่ในเขตอำเภอเมือง  ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีมาทางทิศใต้ประมาณ  10  กิโลเมตร  ตามเส้นทางจันทบุรี-ท่าแฉลบ  มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  5,000 คน  แม้จะอยู่ใกล้ตัวเมือง  แต่บางกะจะยังมีพื้นที่เกษตรกรรม  และอยู่ติดกับป่าโกงกางและชายฝั่งทะเล  จึงเป็นแหล่งอาหาร  แหล่งทรัพยากร  และแหล่งประวัติศาสตร์ 

ดังคำขวัญของเทศบาลว่า สละรสหวาน  เล่าขานประวัติศาสตร์   พระเจ้าตากพักทัพ   วัดพลับเก่าแก่   แหล่งแร่อัญมณี   อาหารทะเลดีบ้านท่าแฉลบ

สุนันทา  ปรานศิลป์  แกนนำพัฒนาชุมชน  ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางกะจะ  บอกว่า  บางกะจะมีประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับประเทศหลายด้าน  เช่น  การกู้ชาติของพระเจ้าตาก  ป้อมค่ายสมัยสงครามสยาม-ญวน  รวมทั้งมีอาหารทะเล  ผลไม้  และของดีๆ อีกหลายอย่าง  เช่น  การทำเหมืองพลอย  การสานเสื่อจันทบูรณ์ที่ทำกันมานานนับร้อยปีและยังเหลืออยู่ 

เรามีของดี  ของเด่นหลายอย่าง  แต่คนในท้องถิ่นอาจจะลืมเลือนไป  ส่วนคนรุ่นใหม่อาจจะมองไม่เห็นคุณค่า  เราจึงพยายามจะรวบรวมเรื่องราวดีๆ เหล่านี้มาจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน  หากใครมาเที่ยวหรือมาทำธุระที่เมืองจันท์ก็สามารถมาเที่ยวที่บางกะจะได้ง่าย  เพราะอยู่ติดกับตัวเมืองจันท์  ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร  มาเที่ยวแล้วก็มากินอาหารทะเลที่ท่าแฉลบ  เป็นย่านอาหารทะเลชื่อดังของเมืองจันท์  ขายกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่  หรือก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่ไข่โบราณร้านลุงจู๊  ขายมานานกว่า 80 ปี”  สุนันทา  หรือ ครูหน่อยอดีตข้าราชการครูเกริ่นความเป็นมา

ครูหน่อย

ท่าแฉลบ  ในสมัยก่อนเคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของจันทบุรี  มีเรือสำเภาจากจีนเข้ามาค้าขาย  ต่อมาเมื่อการค้าขายทางเรือเปลี่ยนไป  ท่าแฉลบจึงเปลี่ยนเป็นท่าเรือประมงท้องถิ่น  เป็นแหล่งซื้อขายอาหารทะเลสดๆ  ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นที่มีฝีมือด้านการทำอาหารจึงดัดแปลงบ้านเป็นร้านอาหาร  ใช้ของสดๆ ที่มีอยู่  เช่น ปูดำตัวโตๆ  ปลากะพง  ปลาเก๋า  ปลาเห็ดโคน  ปลากระบาง  กุ้ง  หอย  ฯลฯ  มีร้านเก่าแก่ที่เปิดขายมานานกว่า 40-50 ปี  เช่น  ร้านนภา  สวนปู

ก๋วยเตี๋ยวใส่ไข่โบราณร้านลุงจู๊  ขายมานานตั้งแต่สมัยเตี่ย  อายุร้านไม่ต่ำกว่า 80 ปี  มีหลายเมนู  แต่สูตรเด็ดเป็น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่ไข่ รสชาติจี๊ดจ๊าดด้วยพริกมะนาว  กลมกล่อมด้วยน้ำซุปและถั่วลิสงบด  แทบไม่ต้องปรุงรส  มีให้เลือกทั้งหมู  กุ้ง  หมึก  ลูกชิ้นปลา  เกี๊ยวปลา   เย็นตาโฟ  ส่วนเส้นก็มีให้เลือกทั้งบะหมี่  หมี่ขาว  เส้นเล็ก  เส้นจันท์  ทีเด็ดอยู่ที่ไข่ไก่ที่โป๊ะลงมา  จะเอาแบบออนเซ็น  ยางมะตูม  หรือไข่สุกก็ได้  ถือเป็นร้านเด็ดของบางกะจะ  ราคาไม่แพง  ถ้าใครมีโอกาสมาบางกะจะไม่ควรพลาด

ครูหน่อยบอกว่า  เมื่ออิ่มจากอาหารคาวแล้วก็ต้องล้างปากด้วยผลไม้   เพราะเมืองจันทบุรีมีผลไม้รสดีหลายอย่าง  นอกจากทุเรียน  เงาะแล้ว  ยังมี สละเนินวง’  รสชาติหวานหอม  เนื้อฉ่ำหนา  มีที่มาจากแหล่งปลูกดั้งเดิมตั้งอยู่บริเวณ ค่ายเนินวง  ซึ่งเป็นป้อมค่ายทหารโบราณ  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  สมัยสงครามสยาม-ญวน  ในช่วงที่สละเนินวงมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อราว 30 ปีก่อน  ต้นพันธุ์สละเนินวงมีราคาสูงถึงกอละ 7,000 บาท 

ส่วนแหล่งประวัติศาสตร์อื่นๆ  เช่น  ค่ายเนินวง  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำกรมศิลปากร  และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี ภายในป้อมค่ายมีเนื้อที่กว่า 200 ไร่  สร้างเป็นกำแพงสูงประมาณ 6 เมตร   มีป้อม  คู  และประตูสี่ทิศ  มีปืนใหญ่แบบโบราณตั้งเรียงรายตามช่องใบเสมา

ป้อมค่ายเนินวง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี   เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและรักษาโบราณวัตถุที่นำขึ้นมาจากเรือสำเภาโบราณที่จมอยู่ใต้ทะเลอ่าวไทย  โบราณวัตถุเหล่านี้ประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผาประเภทถ้วย  โถ  ไห  กระปุก  ตุ๊กตารูปคนและรูปสัตว์  ซึ่งเป็นเครื่องสังคโลกไทยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย  และเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี  เป็นแหล่งค้นคว้าประวัติความเป็นมาด้านสังคม  เศรษฐกิจ  ธรรมชาติวิทยา  รวมทั้งวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของจันทบุรี

วัดพลับ  เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย  เมื่อกรุงแตกในปี 2310  เจ้าตากนำทัพมาตั้งหลักทางหัวเมืองฝั่งตะวันออก  ไล่ตั้งแต่ชลบุรี  ระยอง  และเตรียมจะเข้าตีเมืองจันทบุรีเพื่อนำไพร่พลมาเป็นพวกกลับไปขับไล่พม่า  โดยหยุดพักทัพที่บางกะจะซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนแห่งใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองจันทบุรี  เจ้าตากใช้วัดพลับประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร  โดยนำไพร่พลเข้ารับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์และรับมอบพระยอดธงจากเจ้าอาวาสวัดพลับเพื่อเป็นขวัญกำลังใจก่อนยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรีจนสำเร็จ

เหมืองพลอย-เสื่อจันทบูรพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่บางกะจะ

จันทบุรีเป็นแห่งกำเนิดพลอยที่สำคัญของประเทศ   มีการขุดหาพลอยมานานหลายร้อยปี  ครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีมีบันทึกว่า  ราษฎรได้นำเอาผลไม้และพลอยหลากสีมาถวาย  แหล่งพลอยสำคัญของจันทบุรีกระจายอยู่หลายอำเภอ   แต่แหล่งใหญ่อยู่บริเวณ เขาพลอยแหวน’  เขตอำเภอท่าใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับบางกะจะ 

การทำเหมืองพลอยขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักร  มี ‘แย็ก’ (กลางภาพ) เป็นเครื่องร่อนหาพลอย

แต่เดิมการขุดหาพลอยจะทำด้วยมือ เรียกว่า ขุดหลุม  ใช้เครื่องมือง่ายๆ  เช่น  จอบ  ชะแลง  บุ้งกี๋  ขุดลงไปในชั้นแร่  แล้วนำแร่ที่มีเม็ดพลอยปะปนมาร่อน  พลอยที่ได้  เช่น  ทัมทิมหรือพลอยแดง   พลอยเขียวส่องหรือมรกต  ไพลินหรือพลอยน้ำเงิน  บุษราคัม  โกเมน  ฯลฯ  ต่อมาจึงใช้เครื่องจักรขุดหาพลอย  เรียกว่า ทำเหมืองพลอย’   โดยใช้รถแบ็คโฮขุดตักลงไปในชั้นแร่   นำแร่มากองลงในตะแกรงเหล็กขนาดใหญ่  (เรียกว่า ‘แย็ก’)  แล้วใช้น้ำฉีดเพื่อแยกดินหินทรายกรวดออกจากแร่  แร่และพลอยที่มีน้ำหนักมากกว่าจะไหลมากองรวมกัน  จากนั้นจึงคัดเลือกเอาเฉพาะพลอย

ลุงสำราญกับแย็กขนาดกลาง

ลุงสำราญ  รักตันติเกียรติ  วัย 67 ปี  ศูนย์สาธิตและแหล่งเรียนรู้พลอยแหวน  บอกว่า  การขุดหาพลอยด้วยเครื่องจักรทำให้แหล่งพลอยในจันทบุรีหมดลงอย่างรวดเร็ว  ปัจจุบันนักธุรกิจค้าพลอยต้องไปซื้อพลอยดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาเจียระไนที่จันทบุรี  ส่วนการทำเหมืองพลอยปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ราย  เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง  ทั้งค่าเช่ารถแบ็คโฮ  ค่าแรงงานคนงาน  ฯลฯ  เมื่อพลอยเหลือน้อย  ทำแล้วไม่คุ้มค่าใช้จ่าย  เหมืองพลอยจึงปิดตัวลงไป

เหมืองของผมมีเนื้อที่ทั้งหมด 18 ไร่  เป็นสายแร่เดียวกับเขาพลอยแหวน  อยู่ห่างกันไม่กี่กิโลฯ  เมื่อก่อนเปิดให้คนมาเช่าขุดพลอยด้วยมือ  ต่อมาผมจึงทำเหมืองเอง  เป็นเหมืองขนาดกลาง  ทำแบบครอบครัว  มีลูกน้อง 2 คน   ส่วนใหญ่จะได้พลอยเขียว  บุษราคัม  สตาร์  ไพลิน  ได้แล้วก็จะมีคนเดินพลอยเอาไปขาย  เม็ดใหญ่ๆ ราคาสูงยังไม่เคยเจอ  เพราะเคยเปิดให้เช่าขุดพลอยมานานหลายสิบปี  ที่เคยเจอก็ขนาดก้อนละแสนบาท   ตอนนี้ทำเหมืองไปด้วย  และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเหมืองพลอย  ก่อนจะเกิดโควิดก็มีนักศึกษา  และชาวต่างชาติเข้ามาดู  ตอนนี้ใครสนใจก็ติดต่อมาดูได้  ในอนาคตผมอยากจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้การทำเหมืองพลอยที่ได้มาตรฐาน ลุงสำราญบอก

นักศึกษาภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์  มาศึกษาที่ศูนย์สาธิตฯ ของลุงสำราญ

เสื่อจันทบูร  ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบอกว่า  การทอเสื่อกกจันทบูร (กร่อนเสียงมาจากจันทบุรี) สืบทอดมาจากชาวญวนที่อพยพเข้ามาอยู่จันทบุรีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  แต่ยังเป็นการทอเสื่อแบบชาวบ้าน  คือ  ใช้เสื่อปูนั่งหรือปูนอน  ไม่มีลวดลายสวยงาม  เน้นความทนทาน  ใช้งานได้นานหลายปี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  ช่วงที่พระองค์ประทับที่จันทบุรี (หลังปี 2493)  พระองค์ได้ส่งเสริมการทอเสื่อจันทบูร

ประมาณปี พ.ศ. 2493  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  (พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7)   พระองค์เสด็จมาประทับที่จันทบุรี  และส่งเสริมให้ชาวบ้านทอเสื่อกกเป็นอาชีพ  มีการพัฒนาลวดลายให้สวยงาม  และนำเสื่อที่ทอมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า  เข็มขัด  แผ่นรองจาน  แก้วน้ำ  ฯลฯ 

คุณยายบุหนัน  มากสิน  อายุ 82 ปี  สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ  เล่าว่า  คุณยายหัดทอเสื่อตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษา  อายุประมาณ 12 ขวบ  เพราะครอบครัวมีอาชีพทอเสื่อขาย  เป็นสื่อปูนอน  ราคาขายสมัยก่อนผืนหนึ่งประมาณ 12-13  บาท  ใช้ทนทานนานหลายปี 

คุณยายบุหนัน ‘พิพิธภัณท์ที่ยังมีชีวิต’

สมัยเด็กยายก็ช่วยพ่อแม่ปลูกกกด้วย   ใช้เวลาปลูกประมาณ 4-5 เดือน   แล้วตัดกกสดเอามาจักเป็นเส้น  เอาไปตากแดดประมาณ 3 วัน  จากกกสดสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีขาว  แล้วเอามาแช่น้ำ 1 คืน  เพื่อให้เส้นกกอิ่มน้ำ  มีความเหนียว  จากนั้นจะนำไปย้อมสีตามต้องการ  ถ้าเป็นเสื่อปูนอนจะต้องช่วยกันทอ 2 คน  ใช้เวลาทอ 1 วัน  ตอนนี้กลุ่มวิสาหกิจมีสมาชิกประมาณ 10 คน  สมาชิกจะมีรายได้เป็นค่าแรงจากการทอเสื่อประมาณวันละ 300 บาท  ลูกของยาย 4 คนก็มีอาชีพทอเสื่อ  มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้”  คุณยายบุหนันบอกถึงอาชีพทอเสื่อที่ทำติดต่อกันมานานกว่า 100 ปี

นากก  เมื่อปลูกได้ 4-5 เดือนก็เริ่มนำมาทอเสื่อได้

ณิชชากัญญ์  วงษ์จีนเพ็ชร  ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ  และเจ้าของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เสื่อประสิทธิ์พาณิชย์ตั้งอยู่ริมถนนจันทบุรี-ท่าแฉลบ  บอกว่า  ร้านนำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสากิจมาจำหน่าย  ปัจจุบันมีสินค้าจากเสื่อกกประมาณ  32  ชนิด  เช่น  กระเป๋าถือ  กระเป๋าสะพาย  แฟ้มเอกสาร   แผ่นรองจาน  แก้วน้ำ  เสื่อบุฟองน้ำ  เสื่อยาวที่ใช้ปูในวัด  ฯลฯ

จุดเด่นของเสื่อจันทบูรคือเป็นกกต้นกลมหรือพันธุ์ลังกา จะขึ้นได้ดีตามพื้นที่น้ำกร่อย หรือดินเลนตามชายทะเล มีความเหนียว ทนทาน  ส่วนอนาคตผลิตภัณฑ์จากเสื่อก็เชื่อว่ายังไปได้ดี  แต่ช่วงโควิดก็เงียบ  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ เพียงแต่เราต้องปรับรูปแบบให้ทันสมัย  ดูแล้วน่าใช้ แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์  ทั้งเรื่องความทันสมัยและประโยชน์ใช้สอย เพื่อให้เสื่อจันทบูรเป็นสินค้าคู่เมืองจันท์ แต่ที่น่าห่วงก็คือ คนที่จะมาสืบทอดเรื่องการทอเสื่อ เพราะเรายังใช้วิธีการทอแบบโบราณ คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากจะทำประธานกลุ่มฯ บอกถึงอนาคตที่น่ากังวล

ประธานวิสาหกิจฯ กับกระเป๋าเสื่อจันทบูร  ดีไซน์ให้ทันสมัย

ใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ฟื้นคุณค่าประวัติศาสตร์และของดีชุมชนท้องถิ่น

นอกจากพิพิธภัณฑ์มีชีวิตดังกล่าวแล้ว  บางกะจะยังมี บ้านขุนภาษี เพราะในอดีตบางกะจะมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย  จึงมีชุมชนชาวจีนมาตั้งอยู่  ดังบันทึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 ที่เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ.2419  (อ้างแล้ว) 

ส่วนบ้านขุนภาษีคาดว่าน่าจะมีอายุนับร้อยปี  เป็นที่พักและที่ทำการจัดเก็บภาษีอากรเข้าหลวง  โดยทางราชการจะแต่งตั้งคหบดีชาวจีนให้ทำการจัดเก็บภาษี ปัจจุบันสภาพบ้านขุนภาษีดูจากภายนอกยังมีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์เป็นบ้านไม้ห้องแถว 2 ชั้น ประตูบานเฟี้ยม ขนาด 5 คูหาติดกัน

ครูหน่อย  ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางกะจะบอกว่า  ขณะนี้ตนกำลังติดต่อกับทายาทเจ้าของบ้านขุนภาษี  ซึ่งทราบว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ  เพื่อจะปรึกษาหารือเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น  หากเป็นไปได้ก็จะขอใช้บ้านขุนภาษีมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์  รวบรวมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ข้าวของ  เครื่องใช้ต่างๆ  ในสมัยก่อนนำมาจัดแสดง  เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนในชุมชนบางกะจะให้รู้จักรากเหง้าของตัวเอง  ให้ภูมิใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่  รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้วย โดยจะใช้สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางกะจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น  หากมีโอกาสมาจันทบุรีแล้วไม่ควรพลาด...เส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และของดีที่ชุมชนบางกะจะ!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล